tdri logo
tdri logo
22 มีนาคม 2013
Read in Minutes

Views

อัด กสทช.ไม่สนใจ ‘ผู้บริโภค’ เปลี่ยนชื่อใหม่ ‘ปีวิปโยคผู้บริโภค’

(21 มี.ค.56) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีการจัดเสวนา เรื่อง  “2556 ปีทองการคุ้มครองผู้บริโภค และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคทีวีดิจิตอล” โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. กล่าวว่า สาเหตุที่เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพราะการมีกรรมการแค่ 5 หรือ 11 คน อาจไม่รอบด้านเพียงพอ โดยยกตัวอย่างกรณีสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.นี้ ที่แม้คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะเสนอทางออกหลายทาง แต่กรรมการกลับโฟกัสไปที่ข้อเสนอสุดท้าย คือขยายเวลาคืนคลื่นเพื่อให้บริการต่อ ซึ่งยังไม่รู้จะผิดกฎหมายหรือไม่ด้วย ทั้งที่ข้อเสนอลำดับต้นๆ คือการขยายการคงสิทธิเลขหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ก็กลับให้รอและไม่แจ้งผู้บริโภค โดยมีกรรมการท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์สื่อในทำนองว่า การจะบอกเรื่องนี้เป็นเรื่องต้องระวัง เพราะหากผู้ใช้บริการย้ายค่ายอาจก่อให้เกิดความเสียหาย นพ.ประวิทย์ตั้งคำถามว่า ใครจะเสียหาย

“ทั้งที่มีการประกาศให้ปีนี้เป็นปีทองของผู้บริโภค แต่กลับสนใจสิทธิของผู้ให้บริการมากกว่า” นพ.ประวิทย์กล่าว

กสทช. ไม่สนับสนุนสิทธิผู้บริโภค ให้อำนาจเหลือแค่รับเรื่องร้องเรียน
ด้านเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า จากผลงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็น “ปีทองผู้ประกอบการ” มากกว่าปีทองผู้บริโภค โดยปีที่ผ่านมา พบว่า มีการแก้ไขเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนได้ใน 30 วันตามที่กฎหมายกำหนดเพียง 16% เหลือเรื่องที่ค้างเกิน 60 วันกว่า 700 เรื่อง โดยปัจจุบัน ราว 600 เรื่อง เป็นการร้องเรียนกรณีพรีเพดหมดอายุ ถูกยึดเงิน ทั้งที่ตามประกาศ กสทช.ห้ามบัตรหมดอายุ แต่ไม่เคยมีการบังคับใช้จริง จนเมื่อผู้ประกอบการขอให้หมดอายุได้ใน 1 เดือน กลับมาอนุญาต

กรณีอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ อาทิ ค่าบริการไม่เกิน 99 สตางค์ การส่งเอสเอ็มเอสโดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการ ตู้เติมเงินไม่ได้มาตรฐาน โดยมีการคำนวณว่า ตู้เหล่านี้สร้างความเสียหาย 1% ของจำนวนเงินที่เติมในแต่ละปี คิดเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี

ท้งนี้ เดือนเด่น เสนอว่า เมื่อกฎหมายกำหนดให้ต้องพิจารณาเรื่องร้องเรียนใน 30 วัน ก็ควรกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนตอบกลับมาใน 15 วัน มิเช่นนั้นก็ต้องถือว่าข้อมูลของผู้บริโภคถูกต้อง

เดือนเด่น กล่าวต่อว่า จากหลักฐานเชิงประจักษ์ แสดงให้เห็นว่า กสทช.ไม่สนับสนุนงานด้านนี้เลย เห็นได้จากงบประมาณที่ลดลง จำนวนบุคลากรเพียง 15 คนเมื่อเทียบกับข้อร้องเรียน 4,000 กว่าเรื่องต่อปี และจำนวนการเข้าประชุมเมื่อปีที่แล้วของผู้อำนวยการกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และรองเลขาฯ ที่เข้าประชุม 5-6 ครั้งและไม่เข้าอีกเลย

เดือนเด่น ระบุว่า นอกจากนี้ การร้องเรียนยังทำได้ยากขึ้น โดยมีการขอเอกสารบัตรประชาชน ขณะที่ในสหรัฐฯ ใช้เพียงชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร อีกทั้งสำนักงานยังสร้างขั้นตอนที่ยุ่งเหยิงให้ต้องมีการอนุมัติทุกขั้นตอน ไม่อำนวยความสะดวกใดๆ เหลือหน้าที่แค่รับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีการระงับเรื่องร้องเรียนเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการด้วย เช่น มีการร้องเรียนเรื่องเสาวิทยุรบกวน ต่อมา สำนักงานได้ถอนเรื่องนี้ออกไป โดยเหตุว่า ผู้ร้องขอให้ถอน แต่เมื่อดูรายละเอียด พบว่าผู้ที่ขอให้ถอน ไม่ใช่ตัวผู้ร้องเอง และยังเป็นการถอนเรื่องกับระดับท้องถิ่น แล้วเอาจดหมายนั้นมาอ้างเพื่อขอถอนเรื่องด้วย

เดือนเด่น เสนอว่า การจะคุ้มครองผู้บริโภคได้ หน่วยงานกำกับดูแลต้องเป็นผู้กำกับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าที่ผ่านมานั้น ล้มเหลว จึงเสนอให้ กสทช. มีนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในตลาด เช่น ส่งเสริมการเชื่อมต่อโครงข่าย กำหนดค่าอัตราค่าเชื่อมต่อ (IC Charge) ที่สามารถให้รายใหม่เข้ามาได้  เมื่อเกิดการแข่งขัน ผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์

เดือนเด่น กล่าวว่า กสทช. ต้องรับผิดชอบในความล้มเหลว ไม่ใช่อ้างเรื่องความละเอียด-ระเบียบซับซ้อน เพราะถูกออกแบบให้เป็นองค์กรอิสระก็เพื่อความคล่องตัว จะมาอ้างระบบราชการเช่นนี้ไม่ได้ ทั้งนี้ กสทช.ควรพิจารณาตัวเอง หากโครงสร้างแบบที่เป็นอยู่ไม่เอื้อก็ควรกลับไปเป็นแบบเดิม คือ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ที่เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีอำนาจตัดสินใจด้วย

ด้านซีกของวิทยุโทรทัศน์นั้น ชัยรัตน์ แสงอรุณ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ระบุว่า การรับเรื่องร้องเรียนยังเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งจะมีการวางระเบียบ ขณะที่อำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ก็ถูกลดจาก 9 ด้านเหลือเพียง 3 ด้าน บุคลากรก็น้อยกว่าคณะอนุฯ ฝั่งโทรคมนาคม ทำให้ยากจะทำงานได้มีประสิทธิภาพ

ชัยรัตน์ กล่าวว่า ปัญหาที่พบมากคือการโฆษณาเกินจริงในวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวี ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ตื่นตัวรักษาสิทธิ โดยเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดคือ กรณีทรูวิชั่นจอดำ ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนนั้น สื่อได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งให้สื่อกำกับดูแลกันเอง โดยให้มีการร่างจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ อนุกรรมการไม่มีหน้าที่ชี้ผิดถูก ทำได้เพียงรวมความเห็น ส่งให้กรรมการวิชาชีพตัดสินเท่านั้น โจทย์จึงคือองค์กรวิชาชีพที่ว่านี้ มีหรือยัง ตรงนี้สื่ออาจจะช่วยตรวจสอบและทำให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นบรรทัดฐาน และนำสู่การแก้ไขเยียวยาผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง

ด้านบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ตั้งคำถามว่า นี่จะปีทองหรือวิปโยคของผู้บริโภคกันแน่ โดยชี้ว่าจะเป็นปีทองผู้บริโภคได้จริง กสทช.ต้องเคารพสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ปี 2522 ประกอบด้วย สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนา คุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอกับสินค้าและบริการ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการ ความเป็นธรรมในการทำสัญญา สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาชดเชยเยียวยาความเสียหายให้ได้ก่อน พร้อมระบุด้วยว่า ไม่ได้ขอในเรื่องใหม่ใดๆ ขอแค่ กสทช.บังคับใช้ประกาศที่ออกมาแล้ว อาทิ เรื่องค่าบริการนาทีละไม่เกิน 99 สตางค์ บริการพรีเพดห้ามหมดอายุ รวมถึงไม่ให้มีการละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยเอาข้อมูลไปให้ผู้ประกอบการบริการเสริม เป็นต้น

บุญยืน กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคผลักดันการตั้งองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หวังว่าจะเป็นที่พึ่ง เพราะที่ผ่านมาเรื่องของผู้บริโภคไม่เคยได้รับการตอบสนองทั้งที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ปรากฏว่า กสทช. สุทธิพล ทวีชัยการ กลับทำความเห็นส่วนตัวคัดค้านไป ด้วยเหตุผลว่าเกรงจะแทรกแซงการทำงานของ กสทช.


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาไท วันที่ 21 มีนาคม 2556 ในชื่อ อัด กสทช.ไม่สนใจ ‘ผู้บริโภค’ เปลี่ยนชื่อใหม่ ‘ปีวิปโยคผู้บริโภค’

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด