เปิด 8 ปัจจัยทำยุทธศาสตร์ปราบโกงเหลว-“บรรเจิด” เตือนอย่าให้ ป.ป.ช.ทำฝ่ายเดียว

ปี2013-03-05

ป.ป.ช.จัดสัมมนาทำยุทธศาสตร์ชาติปราบโกง ระยะที่ 2 “บรรเจิด” ชี้ ฝากความหวังไว้ที่ ป.ป.ช.องค์กรเดียว ไม่มีอนาคตแน่ แนะแก้ กม.ให้เริ่มตรวจสอบง่ายขึ้น “อุทิศ” เปิด 8 ปัจจัยทำภารกิจป้องทุจริตล้มเหลว

(จากซ้ายไปขวา บรรเจิด สิงคะเนติ - ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ - ณรงค์ ป้อมหลักทอง)
(จากซ้ายไปขวา บรรเจิด สิงคะเนติ – ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ – ณรงค์ ป้อมหลักทอง)

เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2556 ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2556-2560)

นายอุทิศ ขาวเธียร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงาน ป.ป.ช.กล่าวบรรยายเรื่องแนวทางการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับที่ 2 ใจความว่า ถ้าดูความสำเร็จของยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับที่ 1 เราไม่พอใจ ซึ่งทีมงานจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินว่า อุปสรรคมีทั้งจากภายนอกและภายใน อุปสรรคจากภายนอก 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ผู้เกี่ยวข้องให้ความใส่ใจน้อย บางหน่วยงานบอกว่าไม่เคยได้ยินเลยว่ามียุทธศาสตร์ชาติฯ บางคนบอกแค่รับทราบ แต่ยังไม่ให้น้ำหนัก 2.ประชาชนไม่ตื่นตัว ตรงกันข้าม ท่าทีของประชาชนเหมือนจะยอมรับว่าการคอร์รัปชั่นเป็นวิถีชีวิต ร้ายที่สุดคือเยาวชนพูดว่าทุจริตบ้างไม่เป็นไร ขอให้มีผลงาน 3.ไม่มีการบูรณาการ ภาครัฐต่างคนต่างทำ มียุทธศาสตร์ของตัวเอง ทำให้ภาครัฐไปอีกทาง ป.ป.ช.ผลักดันไปอีกทาง แม้กระทั่งรัฐบาลก็ยังบอกว่าไม่รู้ว่ามียุทธศาสตร์ชาติฯ และ 4.ภาคการเมืองไม่จริงใจในการแก้ปัญหาทุจริต บางมาตรการล่าช้า ไม่ได้รับการสนับสนุน

“พอชาวบ้านไม่ตระหนัก ก็ไม่มีผลบังคับทางการเมือง นักการเมืองก็เลยล่าช้า และอาจคิดว่าถ้าผ่านมาตรการเหล่านั้นไป ไม่ช้าก็จะกลายมาเป็นบูมเมอแรงทำร้ายตัวเอง ท่านประธาน ป.ป.ช.เคยกล่าวติดตลกกับผมว่า มันเป็น ป.ป.ช.เหลือเกิน คือเป็นไปอย่างช้าๆ” นายอุทิศกล่าว

นายอุทิศกล่าวว่า ส่วนอุปสรรคจากภายใน 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ภาคีต่างๆ ที่มาร่วมมือกันยังไม่ประสานงานกันอย่างดีพอ เพราะเป็นธรรมชาติที่เอกชนย่อมคิดไม่เหมือนภาครัฐ สื่อมวลชนย่อมคิดไม่เหมือนองค์กรศาสนา จึงเป็นหน้าที่ของเลขานุการ ในการให้ภาคีต่างๆ ทำงานร่วมกัน 2.ขาดการประสานงานภายใน สำนักงาน ป.ป.ช.เอง 3.ขาดการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับภูมิภาค 4.ขาดการติดตามประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมองค์กรของ ป.ป.ช.เอง ที่ยังเป็นหน่วยงานราชการ จะทำอะไรต้องเป็นไปตามขั้นตอน อาศัยกฎ ระเบียบ รอการอนุมัติ ซึ่งมันไม่คล่องตัว ทำให้ยังจัดการกับการทุจริตไม่ได้

นายอุทิศกล่าวว่า เรามักพูดกันถึงจริยธรรม ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ในเมืองนอก แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าผิดจริยธรรม ก็ไม่ได้ แต่ในเมืองไทย มักจะถามว่า มันผิดกฎหมายไหม ถ้าไม่ผิดกฎหมาย ก็ทำได้ แม้จะผิดจริยธรรม สิ่งเหล่านี้กลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ตนอยากโยนให้ทุกคนช่วยกันคิด ว่าจะทำอย่างไร ให้จริยธรรมเป็นวิถีชีวิตของคนไทย

“นานาชาติถือว่าการทุจริตประพฤติมิชอบเป็นอาชญากรรมแล้ว แค่การประพฤติมิชอบเองนะครับ การทุจริตจึงเป็นอาญชากรรมข้ามชาติ ดังนั้นบทบาท ป.ป.ช.ภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องรับเข้ามาแล้ว เพราะมันจะเป็นกติกาสากล ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอันตราย ให้เกิดขึ้นไมได้” นายอุทิศกล่าว

นายอุทิศกล่าวว่า อีกเรื่องที่ต้องพูดถึง คือการเปลี่ยนแผนไปสู่การปฎิบัติ เนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับที่ 1 เราก็วางแค่แนวยุทธศาสตร์จริงๆ แล้วคิดว่ากระทรวง ทบวง กรม จะนำไปแปลงสู่การปฎิบัติ แต่ปรากฎว่าไม่ได้เกิด ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับที่ 2 จะต้องว่ากันถึงการแปลงสู่การปฎิบัติมากกว่าที่เป็นอยู่ ต้องก้าวไปสู่การชี้นำการปฎิบัติ ในด้านใด อย่างไร แค่ไหน จะต้องมาคิดร่วมกัน เพราะอย่างยุทธศาสตร์ชาติฯ ฉบับที่ 1 มีประเด็นหลัก 4 ข้อ หลายหน่วยงานก็เลือกสิ่งที่ทำง่ายๆ คือประชาสัมพันธ์ปลูกจิตสำนึก ซึ่งใช้กลไกประชาสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิม

จากนั้น เป็นการนำเสนอภาพรวมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2 โดยคณะที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วยนายณรงค์ ป้อมหลักทอง นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  (ทีดีอาร์ไอ) และนายบรรเจิด สิงคะเนติ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศาสตร์ (นิด้า)

นายณรงค์กล่าวว่า คำถามจากยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 1 (2551-2555) คือระยะที่ 2 (2556-2560) วิสัยทัศน์จะต้องคงเดิมไหม เพราะตนเชื่อว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นกระบวนการ จะเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร และใช้วิธีการใดบ้าง เพราะแต่ละสาขามีวิธีการที่แตกต่างกัน อาทิ น้ำมันปิโตรเลียม ทีวีดิจิตอล สินค้าเกษตร ฯลฯ ซึ่งเวลานี้ ป.ป.ช.ขาดแคลนคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ผ่านมา แม้เมืองไทยจะได้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใส (ซีพีไอ) เพิ่มจาก 3 กว่าๆ เป็น 3.7 ด้วยการปรับมาตรวัดอะไรบ้างอย่าง ไม่ใช่ว่าปัญหาเราดีขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้ ได้ถึง 5 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติวางไว้ ตนจึงอยากมารับฟังความเห็นจากทุกๆ คน เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการทำงาน เพราะ ป.ป.ช.ระบุว่า ข้อมูลที่ให้กับคณะที่ปรึกษา มีเพียงครึ่งแรกของยุทธศาตร์ชาติฯ ที่ 1 คือระหว่างปี 2551-2553 เท่านั้น

นายบรรเจิดกล่าวว่า ปัญหาใหญ่อาจจะไม่ได้อยู่ที่ยุทธศาสตร์ แต่อยู่ที่การนำไปใช้ นำไปปฎิบัติ ตนคิดว่าน่าจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เพราะหากใช้ ป.ป.ช.เป็นกลไกหลักในการปราบปรามการทุจริต ตนคิดว่ามันไม่มีอนาคต แต่จะทำอย่างไรให้กระบวนการตรวจสอบเริ่มต้นได้ง่าย จะทำอย่างไรให้เริ่มทันทีที่มีข้อมูลเข้ามา จะได้ไม่ต้องเข้าคิวรอ เพราะการตรวจสอบการทุจริต ใช้เวลามาก กว่า ป.ป.ช.จะชี้มูล คดีถึงศาล ใช้เวลามาก ส่วนจะทำอย่างไร จะมีการแก้กฎหมายหรือไม่ อย่างไร คงต้องไปหารืออีกครั้ง

“ถ้าดูจากที่มีองค์กรอิสระ 6-7 องค์กร ถ้าพบว่ามีทุจริตส่งมายัง ป.ป.ช. ก็ต้องเข้าคิวรออีก ผมจึงเสนอว่ามันจะมีฟาสต์แทร็กได้หรือไม่ จะสร้างกระบวนการอย่างไร ให้ไม่ต้องเข้าคิวรอ” นายบรรเจิดกล่าว

นายบรรเจิดกล่าวว่า ส่วนเรื่องเชิงป้องกันการทุจริต ตนคิดว่ามี 2 ประเด็นสำคัญ อย่างกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมาร่วมกันวางหลักเกณฑ์ กรณีอย่างไรถึงเรียกว่าสัญญาว่าจะให้ เช่น นโยบายของพรรคการเมืองที่จะนำไปสู่การผิดวินัยการเงินการคลัง หรือบางเรื่องไปจับปลายทางไม่มีอนาคต เช่น เรื่องงบประมาณที่ลงไปสู่ท้องถิ่น มีงบ 2 ก้อน งบอุดหนุนทั่วไป กับงบอุดหนุนเฉพาะกิจ ก้อนหลังไปถึงปลายทางแค่ 30% แล้วปีหนึ่งๆ มีถึง 1 แสนล้านบาท ทำไมเราไม่ไปดูตรงนี้ สุดท้ายคือถ้าเราไม่ดึงประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ก็ไม่มีอนาคตแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการประชุม ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เพื่อนำไปประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2 นอกจากนี้ ยังมีการแจกแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทย รวม 96 ข้อ โดยแบ่งเป็นบริบทแวดล้อมภายนอก อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย และบริบทแวดล้อมภายใน อาทิ ระบบด้านการดำเนินงาน เจ้าหน้าที่ ทักษะ โครงสร้าง รูปแบบการดำเนินงาน กลยุทธ์ ค่านิยมร่วม


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556 ในชื่อ เปิด 8 ปัจจัยทำยุทธศาสตร์ปราบโกงเหลว-“บรรเจิด” เตือนอย่าให้ ป.ป.ช.ทำฝ่ายเดียว