ชี้แผนกู้เงิน 2 ล้านล้าน ‘ไม่ชัด’ ห่วงการใช้งบ

ปี2013-03-29

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ
นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ

นักวิชาการ-เอกชนหนุนลงทุน 2 ล้านล้าน แต่ห่วงการใช้งบ-รายละเอียดโครงการไม่ชัด หวั่นการเมืองเปลี่ยนกระทบโครงการ “นิพนธ์”เตือนวิกฤติการคลัง

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเห็นว่ารัฐบาลมาถูกทาง ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นปัญหาที่เรื้อรังมากับประเทศไทย อย่างที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงว่าเราลงทุนต่ำมาก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนด้วย

“ต้องชมรัฐบาลว่ามีความกล้าหาญที่จะสร้างระบบบริหารจัดการแนวใหม่ จะพยายามผูกพันโครงการต่างๆ นี่คือการการบริหารจัดการ เดิมการบริหารจัดการเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเรา อาศัย งบประมาณประจำปี กับอาศัยงบของรัฐวิสาหกิจ งบประมาณประจำปีไม่แน่นอน หากเปลี่ยนรัฐมนตรี แม้ไม่เปลี่ยนรัฐบาล โครงการก็เปลี่ยนไป บางโครงการที่ถูกรัฐมนตรีเปลี่ยนก็เป็นโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

นายนิพนธ์ กล่าวว่าในทิศทางใหญ่ คิดว่าเขาทำถูกทาง แต่มีข้อเสนอว่าถูกทางแต่ยังไม่ครบ และอาจจะเกิดปัญหาวิกฤติการคลังกับประเทศไทยคือมีการก่อหนี้กันมากขึ้น ดังนั้นมีข้อเสนอที่จะทำให้การบริหารโครงการมีประสิทธิภาพ คนไทยได้โครงการที่ดี โครงการที่เป็นประโยชน์กับประเทศสูงสุดและไม่เป็นภาระทางการคลัง ไม่เป็นภาระกับรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยมีข้อเสนออยู่ 3 ข้อ ให้เติมในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

มาตราแรก ยอมให้ฝ่ายการเมือง คือ รัฐสภา เข้ามามีอำนาจตรวจสอบและถ่วงดุล เฉพาะวงเงิน แต่ยังไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลในตัวโครงการรายการโครงการ ถึงแม้จะมี รายการโครงการพ่วงท้าย 400-500 หน้า ก็ตาม แต่ยังไม่ถือว่าเป็นโครงการที่สมบูรณ์เหมือนกับเวลาที่รัฐสภาพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณรายจ่ายประจำปี รัฐบาลเสนอวงเงินและเสนอโครงการที่ผ่านการศึกษามาโดยละเอียดครบถ้วน ผ่านกระบวนการกลั่นกรองมาแล้ว มีการศึกษาความเป็นไปได้ มีการศึกษาอัตราผลตอบแทน มีหน่วยราชการให้ความเห็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการเจ้าของโครงการ หรือสภาพัฒน์ฯ หรือกระทรวงการคลัง ผ่านมาหมดแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐสภาก็มาไตร่ตรองว่า ทั้งเงิน และทั้งโครงการเหล่านี้ มันได้ประโยชน์กับประเทศสูงสุดไหม

“แต่ในกระบวนการของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นส่วนที่อนุมัติให้รัฐบาลใช้เงินได้ แล้วมีลิสต์รายการโครงการ แต่ลิสต์รายการนี้ยังไม่นิ่ง โครงการที่มีการศึกษาความเป็นไปได้ค่อนข้างชัดเจนมีน้อยมาก เช่น มอเตอร์เวย์ อันนี้ชัดเจน แต่อีกหลายโครงการ เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง ยังไม่รู้ ตัวเลขที่มีอยู่เป็นการศึกษาสมัยประชาธิปัตย์ เป็นเพียงตัวเลขเบื้องต้นไม่แน่นอน และจำเป็นต้องสร้างหรือไม่ อัตราผลตอบแทนเท่าไรก็ยังไม่รู้ สร้างไปแล้วมีประโยชน์เต็มที่ หรือสร้างไปแล้ว เป็นรถร้างไม่มีคนขึ้น ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากเท่าไรก็ไม่รู้ เพราะสร้างบนเส้นทางรถไฟเดิม ไม่ได้ไปสร้างแล้วก่อให้เกิดเศรษฐกิจเติบโตระหว่าง เส้นทางรถไฟ เพราะเป็นเส้นทางเดิม”

ชี้ไม่ชัดเรื่องผลตอบแทนลงทุน

นายนิพนธ์ กล่าวว่าต้องมีมาตราบอกว่า ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะเสนอร่างกฎหมายเข้ามาพร้อมกับโครงการที่ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ และอัตราผลตอบแทนเป็นลอตๆ ภายใน 2 ปี อาจจะทำสัก 3-4 ลอต เพราะถ้าทำทีเดียวไม่ครบ แล้วเอาเข้ามาให้รัฐสภาตรวจสอบ วิธีนี้ก็จะเป็นไปตามครรลองของประชาธิปัตย์ ให้รัฐสภามีอำนวจตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งรัฐบาลก็ชนะอยู่แล้ว เพราะ รัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก แต่ขอให้ทำอย่างนี้ ประชาชนก็จะได้สบายใจว่านี่ไม่ได้เป็นการเขียน blank check ให้กับรัฐบาล

มาตราที่ 2 เป็นมาตราที่ไม่อยากจะเห็น เพราะเป็นห่วงเรื่องวินัยทางการคลัง รัฐบาลกว่าจะใช้หนี้คืนครบ 50 ปี 10 ปีแรกไม่ได้ชำระคืนเงินต้น ชำระแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียว และชำระน้อยมาก นั่นเปิดโอกาสให้รัฐบาลใช้เงินเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น รัฐบาลยังสามารถดำเนินงบประมาณขาดดุลรายจ่ายประจำปี งบประมาณขาดดุลรายจ่ายประจำปีขาดดุลตามกฎหมายได้อีก

“มาตราที่ 2 ที่ขอเสนอในร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ทำอย่างไรจะใช้หนี้ได้ภายใน 30 ปี แทนที่จะเป็น 50 ปี”

นายนิพนธ์อธิบายว่าเหตุที่ต้องชำระหนี้ใน 30 ปีเพราะว่าประชากรแก่ตัวอย่างรวดเร็ว ในวันนี้มีคนหนุ่มสาว 100 คน เลี้ยงคนแก่ 73 คน แต่ในอีก 22 ปีข้างหน้า ปี 2578 จะมีคนหนุ่มสาว 100 คน เลี้ยงคนแก่ 174 คน กลับด้านกันเลย ถ้าเป็นอีก 50 ปี หนุ่มสาวเราจะลดลงอีก แบกภาระเลี้ยงคนแก่ แล้วยังมีขณะนี้โครงการประกันสังคมของเรา ซึ่งกำลังจะเริ่มจ่ายเงินให้กับคนที่รับเงิน บำนาญชราภาพ ยังมีภาระอื่นๆในด้านประกันสังคม

“วางแผนใช้หนี้ให้ครบ 30 ปี จะต้องมีมาตราว่ารัฐบาลจะหาเงินมาจากไหน มี 2 ช่องทางที่รัฐบาลจะหาเงินมาได้ ผมไม่อยากให้รัฐบาลบอกว่า เมื่อสร้างโครงการนี้เสร็จ เศรษฐกิจจะเจริญเติบโตและได้ภาษีมาก ไม่พอ ผมคิดว่า โครงการนี้คนได้ประโยชน์ต้องจ่ายเงิน แต่ต้องมีมาตราว่ารัฐบาลจะเสนอร่างกฎหมายว่าจะ เก็บค่าบริการที่เป็นธรรม และนอกจากนั้นต้องมีร่างกฎหมาย ว่าจะเก็บภาษีจากที่ไหน เช่น จะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจะเก็บภาษีที่ดิน เอามาใช้หนี้ เพราะฉะนั้นเราก็จะมีปัญญาใช้หนี้ได้ มีแผนที่จะหารายได้อย่างชัดเจน”

สำหรับมาตราที่ 3 ความเสี่ยงทางการคลัง อยากให้รัฐบาลมีมาตราอีก 1 มาตราเสนอว่า ในทุกปีก่อนพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี รัฐบาลจะนำเสนอรายงานความเสี่ยงทางการคลังต่อรัฐสภา เมื่อรัฐสภาเห็นภาพรวมการใช้จ่ายเงินทั้งหมด ทั้งในและนอกงบประมาณ รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสมาชิก ก็จะเห็นว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนต่ออนาคตของประเทศ เมื่อมีความเสี่ยงเวลาพิจารณางบประมาณประจำปี สภาผู้แทน ราษฎรต้องบอกว่าเวลานี้มีความเสี่ยงมาก โครงการอย่างนี้ที่จะใช้เงินขนาดนั้นขอให้ลดลง หรือให้ไปลดรายจ่ายอื่นลง

หอการค้าเรียกร้องทำรายละเอียด

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานอาวุโส หอการค้าไทย กล่าวว่ารัฐควรศึกษาและจัดทำรายละเอียดการใช้เงิน รวมถึงการจัดอันดับความสำคัญของการลงทุนหรือการใช้เงินก่อนหรือหลัง ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้และรัฐบาลเริ่มกู้เงิน หอการค้าอยากเห็นความโปร่งใสในการใช้เงินลงทุนสูงสุด

“ขณะนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนว่ากู้ทั้งหมด หรือร่วมทุน หรือลงทุนอะไรก่อนหลัง ยังเป็นแผนงานหลวมๆ ซึ่งในส่วนนี้มีองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น ติดตาม ตรวจสอบอยู่แล้ว และหอการค้าไทย ก็มีทีมงานด้านโลจิสติกส์ และทีมด้านการเงินติดตาม ตรวจสอบอยู่เช่นกัน”

ด้านนายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า แผนกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ยังไม่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง หรือการปรับราคาจนเกินความจริง อีกทั้งยังไม่เชื่อว่าจะมีการกักตุน หรือปรับราคาจนกระทบต่อตลาด เพราะหากในประเทศขาดแคลน หรือราคาแพงก็จะนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาแทน ซึ่งจะยิ่งเป็นผลเสียต่อธุรกิจมากกว่า เพราะตอนนี้ตลาดแข่งขันมาก เนื่องจากต้องการขายก่อนสงกรานต์ จึงยังไม่เห็นการขาดแคลน หรือราคาแพงผิดปกติ

สรท.ชี้ขนส่งทางรางยังไม่ชัด

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เน้นการขนส่งทางรางเป็นหลักแต่ยังไม่ระบุชัดเจนว่ารองรับการขนส่งสินค้าประเภทใดบ้าง และมีการเชื่อมต่อกับการขนส่งด้านอื่นอย่างไร ซึ่งภาครัฐต้องมีแผนที่ชัดเจนว่าจะมีการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าเกษตรจากไร่นาเข้ามาในตลาดอย่างไร โดยเฉพาะการขนส่งทางน้ำที่ยังไม่กำหนดชัดว่าจะให้การขนส่งทางน้ำในแม่น้ำสายใดเป็นจุดศูนย์กลางที่จะเชื่อมกับการขนส่งรถไฟ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง ซึ่งภาครัฐอาจกำหนดไว้ว่าจะใช้แม่น้ำสายใดเป็นเส้นทางหลักเชื่อมกับทางรถไฟแต่ภาคเอกชนยังไม่เห็นข้อมูลดังกล่าว โดยภาคเอกชนเห็นว่าการขนส่งทางน้ำที่จะเชื่อมการขนส่งรถไฟสำคัญเพราะทางรถไฟไม่สามารถวิ่งไปได้ทุกที

การวางแผนการลงทุนระยะยาวเป็นเรื่องดีแต่ควรกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนว่าแต่ละโครงการจะเริ่มต้นเมื่อใด ซึ่งรัฐบาลพูดถึงการสร้างรถไฟทางคู่แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าเมื่อครบ 3 แล้ว จะมีรถไฟทางคู่กี่กิโลเมตร รวมทั้งรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอเข้าไปยังหลวมและกำหนดให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้ตลอด และถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามาก็อาจปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการลงทุนได้และอาจกระทบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น โดยถ้าเปลี่ยนรัฐบาลใหม่อาจเกิดการปรับเปลี่ยนโครงการลงทุนได้เพราะมีโอกาสเป็นรัฐบาลผสมสูง

ด้านนายวชิรศักดิ์ ตั้งตรงจิตร ที่ปรึกษาสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนเช่นกัน โดยเห็นว่าเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา อาจจะใช้งบเพียง 1 ล้านล้านบาท แต่ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ดำเนินการและไปเริ่มในอีก 5 ปี ข้างหน้าอาจทำให้การลงทุนต้องใช้เงิน 3 ล้านล้านบาท และเห็นว่ารัฐบาลควรดำเนินการทันทีและควรลงทุนให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
บีโอไอชี้สร้างความเชื่อมั่นการลงทุน

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “Thailand Unparalleled Opportunities” จัดโดยบีโอไอและนิตยสารนิเคอิ บิสสิเนส ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวดูได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5-5.0 % และการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวเกิน 10 %
รัฐบาลกำลังเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างความพร้อมรองรับการลงทุนในอนาคตและรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอีก 2 ปี ข้างหน้า โดยจะมีการลงทุนการขนส่งทางบก รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงจะเชื่อมโลจิสติกส์ไทยกับอาเซียน จีน อินเดียและเอเชียตะวันออก

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจะเห็นการพัฒนามอร์เตอร์เวย์และถนนเชื่อมไปยังชายแดน การสร้างท่าเรือชายฝั่งเพื่อเชื่อมในภาคใต้ที่เชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบัง และการลงทุนดังกล่าวจะมีผลดีต่อการการค้าชายแดนที่มีสัดส่วน 50 % ของการส่งออกไทยไปอาเซียนทั้งหมด ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องการพัฒนาด่านชายแดนเพื่อเพิ่มความคล่องตัวด้านการค้าและช่วยส่งเสริมการลงทุนในอนาคตด้วย โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยชะลอไประยะหนึ่งแต่ขณะนี้กลับมาเริ่มลงทุนใหม่ก็จะเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นการลงทุนให้กับนักธุรกิจได้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 29 มีนาคม 2556 ในชื่อ ชี้แผนกู้เงิน2ล้านล้าน’ไม่ชัด’ ห่วงการใช้งบ