tdri logo
tdri logo
4 มีนาคม 2013
Read in Minutes

Views

ชี้มีหลายแนวทางสกัดทุนไหลเข้า

posttoday20130301
นักวิชาการวิพากษ์นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน แนะควรหาเครื่องมืออื่น นอกจากดอกเบี้ยมาสกัดเงินทุนไหลเข้า

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ค่าเงินบาทกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศ” ว่า อัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกมากขึ้น จากช่วงปี 2540 ไทยมีสัดส่วนการส่งออก 45% ต่ออัตราการเติบโต(จีดีพี) แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 75% ขณะที่สัดส่วนการบริโภคภายในประเทศไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ที่เปลี่ยนคือสัดส่วนการลงทุนที่จะยกระดับประเทศ เดิมอยู่ที่ 45% แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือประมาณ 20% ซึ่งการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ของภาครัฐเป็นแนวทางที่ดี แต่ปัญหาคือจะลงทุนเงินจำนวนมากให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจจะใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายดูแลเงินทุนไหลเข้าหรือไม่ ควรให้สิทธิในการตัดสินใจแก่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ขณะเดียวกัน ควรดูเครื่องมืออื่นๆประกอบด้วย เช่น ใช้การบริหารอัตราแลกเปลี่ยน การใช้เกณฑ์การดำรงสภาพคล่องตามกฎหมาย อย่างการปล่อยสินเชื่ออาจจะให้สำรองเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า (แคปิตอลคอนโทรล) เพียงแต่ต้องดูรูปแบบที่เหมาะสม เพราะมีบางประเทศที่ใช้ได้ผล และบางประเทศก็ใช้ไม่ได้ผล

นายฉลองภพ กล่าวว่า สิ่งที่ควรให้ควรให้ความสำคัญรองรับระยะยาวด้วย คือ การลงทุน เพราะหากการลงทุนกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ จีดีพีไทยสามารถโตระดับ 6-7% ได้สบายมาก โดยถ้าเพิ่มการลงทุนภาครัฐได้ 5% ต่อจีดีพี หรือประมาณปีละ 5.7 แสนล้านบาท ตามงบประมาณปัจจุบันที่ 4 ล้านล้านบาท ใน 7 ปีข้างหน้า เชื่อว่าจะช่วยเศรษฐกิจได้มาก แต่ต้องต้องลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

นายสมประวิณ มันประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนไทยไม่ค่อยโปร่งใส คือมีการแทรกแซงโดยหวังประคับประคองภาคส่งออก จนกังวลว่านโยบายปัจจุบันสะท้อนการทำงานจริงได้มากน้อยเพียงใด เพราะภาคเอกชนก็ไม่ค่อยป้องกันความเสี่ยง และในความเป็นจริงภาคธุรกิจควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับค่าเงินที่แข็งขึ้นอย่างไร เช่น ญี่ปุ่นก็เคยเผชิญปัญหานี้ แต่ญี่ปุ่นเลือกออกไปลงทุนต่างประเทศเพื่อหารายได้เข้าประเทศตัวเองแทน ส่วนการรับมือกับเงินที่จะถาโถมเข้ามานั้นไทยยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

“ ดังนั้น ถึงลดดอกเบี้ย จะจะช่วยให้ค่าเงินแข็งค่าน้อยลง แต่อีกด้านการลดดอกเบี้ยจะไปเพิ่มความร้อนแรงของเศรษฐกิจเหมือนการสุมไฟให้เกิดความร้อนแรงในราคาสินทรัพย์ ซึ่งจริงๆการลดดอกเบี้ยลงไม่น่าห่วงเท่ากับช่วงที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้น เพราะเห็นสัญญาณฟองสบู่” นายสมประวิณกล่าว

นายวิมุต วานิชเจริญธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทแข็งค่า เชื่อว่าทั้งคลังและธปท.คาดการณ์ไว้แล้ว จึงควรร่วมกันมองปัญหาอย่างสร้างสรรค์และเตรียมรับมือให้ดี ช่วยกันสำรวจว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไปหรือไม่ จึงต้องการให้เงินบาทอ่อนค่า จนลืมมองจุดอ่อนของประเทศควรปรับปรุง เพื่อเชื่อมโยงการเติบโตในอนาคตที่จะมาพร้อมกับการนำเข้าเทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย นักวิเคราะห์ธุรกิจสถาบันการเงิน บริษัท หลักทรัพย์ภัทร กล่าวว่า ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไปจนลืมสนใจเรื่องฝีมือการผลิต เทคโนโลยี คุณภาพ ภาคการส่งออกสำคัญแต่ไม่ใช่ภาคเดียวที่สร้างการเติบโตให้ประเทศได้ เพราะจะทำให้ประเทศไทยผูกติดกับอัตราแลกเปลี่ยนเพราะในความเป็นจริงประเทศพัฒนาขึ้นค่าเงินย่อมแข็งขึ้น ส่วนประเด็นเงินทุนไหลเข้าไม่ได้มาจากดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่น เช่นดุลบัญชีต่างๆ การจัดการล้วนมีต้นทุน แต่สิ่งสำคัญคือ กระทรวงการคลังและธปท.ควรทำงานประสานกัน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 มีนาคม 2556 ในชื่อ ชี้มีหลายแนวทางสกัดทุนไหลเข้า

นักวิจัย

ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์
นักวิชาการเกียรติคุณ/รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม และฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ