ทีดีอาร์ไอหนุนปฏิรูปความรับผิดชอบลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย

ปี2013-03-25

ทีดีอาร์ไอ 20 มี.ค.-ทีดีอาร์ไอเปิดผลวิจัยระบบการศึกษาไทย พบใช้เงินมาก แต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ ไม่มีระบบความรับผิดชอบต่อผลการเรียนของเด็กไทย เสนอลดชั่วโมงเรียน กระจายงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ในงานเสวนาสาธารณะทีดีอาร์ไอเรื่อง “ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความรับผิดชอบ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า ปัญหาระบบการศึกษาไทยเกิดจากการใช้ทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ใช้มากแต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำ มีข้อมูลชี้ว่า 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ไม่น้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่รายได้ต่อเดือนของครูที่มีวุฒิปริญญาตรีและสอนโรงเรียนของรัฐบาลก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จากประมาณ 15,000 บาท ในปี 2544 เป็น 24,000-25,000 ในปี 2553 จะเห็นว่าครูมีรายได้ไม่น้อยกว่าอาชีพอื่น

แต่ในทางตรงกันข้าม ผลคะแนนการทดสอบมาตรฐานของนักเรียนไทยทั้งระดับประเทศและนานาชาติกลับมีแนวโน้มลดต่ำลง การศึกษาของทีดีอาร์ไอสามารถตอบโจทย์ระบบการศึกษาไทยว่าปัญหาคือขาดความรับผิดชอบของระบบการศึกษาในทุกระดับ ตลอดทุกขั้นตอนและยังมีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาในระดับสูง

ดังนั้น หัวใจของการปฏิรูปการศึกษา จึงอยู่ที่การสร้างความรับผิดชอบเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ปกครองและนักเรียนมากยิ่งขึ้น โรงเรียนควรมีอิสระในการบริหารจัดการ พ่อแม่สามารถเป็นผู้เลือกโรงเรียนให้ลูก ตามข้อมูลคุณภาพของโรงเรียนที่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ การปรับหลักสูตรให้เหมาะและเรียนรู้กับบริบทของศัตวรรษที่ 21 ลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษาด้วยการจัดสรรงบประมาณให้พื้นที่ที่มีปัญหาทางเศรษญฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้น และสร้างระบบให้ความช่วยเหลือโรงเรียน ครู และนักเรียนที่มีปัญหา

นายสมเกียรติได้กล่าวเสนอแนวทางปฎิรูประบบการศึกษา 5 ด้านได้แก่ 1.ลดจำนวนชั่วโมงเรียนในห้องเรียน เพิ่มวิธีการสอนที่หลากหลาย 2.เสนอให้มีวิธีวัดและประเมินผลที่หลากหลายตั้งแต่แฟ้ม โครงงาน การสอบวัดความรู้การแก้ไขปัญหาชีวิตจริง 3.เสนอให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนและวิทยฐานะของครูส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับพัฒนาการของผลการทดสอบมาตรฐานรูปแบบใหม่ให้ครูรับผิดชอบต่อการพัฒนาคุณภาพนักเรียนมากขึ้น กำหนดให้มีการประเมินทุก 5 ปี ปรับลดงานธุรการของครูลง 4.สำนักงานรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษาควรปรับบทบาทเป็นหน่วยสนับสนุนด้านความรู้ให้แก่โรงเรียน 5.ควรปฏิรูประบบการเงินสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ ระยะยาวควรปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบการเงินด้านอุปสงค์มากขึ้น.-สำนักข่าวไทย


ตีพิมพ์ครั้งแรก: สำนักข่าวไทย วันที่ 20 มีนาคม 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอหนุนปฏิรูปความรับผิดชอบลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย