‘ดร.นิพนธ์’ วิพากษ์ ‘ประชานิยมผสมการเมือง’ “คนรับกรรมคือลูกหลานเรา”

ปี2013-03-28

“ตอนนี้คุณใช้ทุกด้าน เพิ่มลูกเดียว ขณะที่ประเทศมีทรัพยากรจำกัด การกู้ก็คือใช้เงินอนาคต ให้คนรุ่นนี้เสพสุข คนรุ่นหลังก็รับบาปไป”

 

แม้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จะใส่เกียร์ห้า เดินหน้า “นโยบายประชานิยม” หลายรูปแบบแต่ดูเหมือนว่าตัวเลขการแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ในการกระจายรายได้ กลับไม่เด่นชัดออกมาเหมือนกับตัวเลขหนี้สินส่วนบุคคลที่ถีบตัวสูงขึ้นจนหลายหน่วยงานไม่ว่าคณะกรรมการพัมนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาเตือน

ขณะเดียวกันยังมีข่าวร้ายเมื่อ “ธนาคารของรัฐ” หลายแห่ง ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือของนโยบายประชานิยม กลับมีสภาพบักโกรก ขาดทุนและเสี่ยงที่จะล้มทั้งยืน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (I Bank) ที่ต้องทำแผนการเพิ่มทุน รวมถึง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่หมดหน้าตักในการให้เงินกู้โครงการรับจำนำข้าวแล้ว

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร, นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร, นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ในมุมมองของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เห็นว่านโยบายประชานิยมที่รัฐบาลใช้อยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ “คำตอบ” ของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

แต่เป็นประชานิยมผสมการหาเสียงทางการเมือง ซึ่งสร้างภาระให้กับประเทศที่ต้องแบกหนี้มหาศาล

ทว่า ผู้รับกรรมกลับไม่ใช่ “คนรุ่นเรา” ทว่าเป็น “รุ่นลูกรุ่นหลาน” !!

…เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น ??

—–

เหตุใดนโยบายประชานิยมไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ?

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องมี 2 ปัจจัย 1.ใช้เครื่องมือทางการคลังเป็นสำคัญ และ 2.อาศัยกฎหมายบางอย่างที่ต้องออกมาบังคับใช้ เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำบางเรื่องเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ใช้นโยบายการคลังอย่างเดียวไม่เพียงพอ การแก้ปัญหาจึงต้องกลับไปดูว่าปัญหาคืออะไร นโยบายประชานิยมที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นการใช้เครื่องมือทางการคลัง ไม่ว่าจะใช้เงินในหรือนอกงบประมาณก็ตาม ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้

แต่เรื่องความเหลื่อมล้ำยังไงก็ต้องแก้ไข เพราะถ้าสังคมใดมีความเหลื่อมล้ำสูงมากก็จะเกิดปัญหาสังคมขึ้นมา ไม่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติ ก็จะมีการแย่งอำนาจระหว่างคนมีเงินกับคนส่วนใหญ่ที่ฐานะไม่ดี ซึ่งในประวัติศาสตร์ทางการเมืองต่างประเทศ จะมีนักการเมืองฉลาด ใช้ประโยชน์จากประชาชน อ้างประชาชนส่วนใหญ่ ใช้นโยบายนี้ไปล่อ แต่เจตนาจริงๆ ไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นเรื่องทางการเมือง

กล่าวได้ว่าแก้สาเหตุของความเหลื่อมล้ำไม่ตรงจุด

สาเหตุของความเหลื่อมล้ำต้องไปดูข้อเท็จจริง ถ้าเราดูเรื่อง “โอกาส” ตัวเลขปรากฏชัดเจน คือประชาชนขาดโอกาสเข้าสู่การศึกษา โอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล ขาดโอกาสในการเข้าสู่งานที่ดี โอกาสในการทำมาหากิน การใช้ทรัพยากรสาธารณะ คำถามก็คือโอกาสเหล่านี้ทั่วถึงหรือไม่ ถ้าไม่ ก็สร้างความเหลื่อมล้ำ และคงเกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายด้วย เช่น การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ ที่คนรวยไปยึดครองเกาะได้ แต่คนจนตัดไม้เก็บฟืนยิงสัตว์ยังถูกจับ เพราะฉะนั้น โครงสร้างกฎหมายต้องให้ชุมชนมีสิทธิจัดการในท้องถิ่นได้หรือไม่

สาเหตุต่อไป คือสาเหตุทางด้านรัฐบาล คือรัฐมี “มาตรการที่สร้างความเหลื่อมล้ำ” เสียเอง เช่น เป้าหมายของการส่งเสริมการลงทุนต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ ลดภาษีให้เอกชน แต่อีกด้านคือการลดภาษีให้คนรวย นโยบายรัฐบาลเข้าข้างคนรวย คนมีเงิน เยอะแยะไปหมด อย่างเวลาจัดซื้อจัดจ้าง การให้สัมปทานต่างๆ เป็นนโยบายสร้างความร่ำรวยให้คนบางคน และรัฐบาลควรใช้เครื่องมือทางการคลังแก้ปัญหา แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ

นโยบายรายจ่ายต้องมีความเป็นธรรม ไม่ปล่อยให้งบประมาณกระจุกในเขตเมือง แต่ชนบทไม่ได้ นโยบายให้ประโยชน์คนรวย คือนโยบายแจกค่าเช่าทางเศรษฐกิจ เรื่องการให้สัมปทานอะไรต่างๆ ขณะเดียวกันกลับไปลงโทษประชาชนเวลาสร้างเขื่อน เวนคืนที่ดิน ไล่คนออก นี่คือการไปทำโทษคนจน

 ตกลงนอกจากสาเหตุแห่งโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันแล้ว รัฐบาลยังมีส่วนสำคัญในการสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางแก้จึงไม่ใช่ประชานิยมอย่างเดียว แต่ต้องแก้ไขเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงนโยบายแจกกำไรให้คนรวยด้วย จะช่วยให้เห็นภาพใหญ่

ขณะนี้นโยบายประชานิยมจึงเป็นการใช้เพียงส่วนเดียว และตอนหลังกลับเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองมากกว่ากระจายรายได้ มันมองเห็นเลยว่าฐานประชานิยมเป็นกลุ่มๆ เค้าก็ใช้นโยบายล่อเป็นกลุ่มๆ รถคันแรกแก้ปัญหากระจายรายได้หรือไม่ เรื่องจำนำข้าวก็ไม่ตรง เพราะเกษตรกรได้ประโยชน์ คือเกษตรกรชั้นกลางและมีฐานะ แต่มีนโยบายที่ โอเค อย่าง 30 บาทนี่แก้ได้ มีหลักฐานชัดเจนว่าช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ ขณะที่ประชานิยมจำนวนมากออกแบบมาเพื่อผลทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ไม่ได้แก้กระจายรายได้

ต้นทุนทางการคลังที่สูญเสียไป ถือว่าแพงเกินไปหรือไม่

นโยบายประเภทที่ไม่สร้างให้เกิดการกระจายรายได้ สร้างเพียงแต่คะแนนเสียงทางการเมือง ความเสียหายมีแน่นอน เพราะไม่ได้สร้างรายได้แบบถาวร

 ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เขาจะใช้เฉพาะเวลาที่มีวิกฤตหรือเศรษฐกิจตกต่ำ แล้วภาคเอกชนอ่อนแอ ตอนนั้นรัฐบาลเข้ามากระตุ้นเป็นยาเสริม เมื่อเศรษฐกิจฟื้นก็ถอนออกมา แต่เวลานี้รัฐบาลไม่ถอน มันก็แย่ เศรษฐกิจดีก็ใช้ ไม่ดีก็ใช้ พอเศรษฐกิจแย่อีกทีจะไม่มีเงินใช้ จึงไม่ใช่นโยบายประชานิยมที่แก้ปัญหากระจายรายได้อีกต่อไป เป็นนโยบายเพื่อเสียงทางการเมือง

การนำเครื่องมือทางการคลังมาแก้เรื่องกระจายรายได้ถูกต้อง แต่อยู่ที่ว่าคุณลงนโยบายแบบไหน แก้ที่โอกาสประชาชนหรือไม่ หรือเอาง่ายๆ คือเอาเงินไปแจก วิธีการกระจายรายได้ ต้องดูกลุ่มคนด้วย ถ้าคนจนจริงๆ เอาเงินไปแจกไม่มีปัญหา ถ้ากลุ่มคนมีความสามารถอยู่แล้ว ก็เหมือนกับที่มีเรื่องเล่าว่า ไม่ใช่เอาปลาไปให้เขา แต่เอาโอกาสให้เขาไปทำมาหากินได้เอง แล้วรัฐบาลจะไม่ต้องสงเคราะห์อีกต่อไป

แต่ประชานิยมเอาแค่ผลระยะสั้น เห็นชัดเจนคือการแจกเงิน ก็ให้แต่สิทธิ ไม่ได้ให้หน้าที่ ก็สร้างปัญหาขึ้นมา ตกลงนโยบายการคลังถูกใช้เป็นเครื่องมือกระจายรายได้ แต่ในที่สุดแล้วไม่ได้ผล และถ้าใช้ไปนานๆ ก็ทำให้คนเสียคน เพราะคุณใช้วิธีแจกไม่ได้สร้างโอกาสให้คนเข้าถึง แม้กระทั่งธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารไอแบงก์ เจ๊งแล้ว คุณเคยบอกว่าเป็นการสร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน พอคุณใช้สถาบันการเงินของรัฐแบบนี้ ใช้เส้นสายตั้งต้น บอกว่ากระจายรายได้ พอเข้าไป คุณใช้เส้นสายก็ไม่ได้แก้ปัญหากระจายรายได้อีกต่อไป

คุณบอกว่าจะให้คนจน ก็เป็นการมองฝ่ายเดียว ไม่ได้แก้ เพราะการยกเงินให้เขา คิดว่าเขาจะเอาเงินไปลงทุน แก้ปัญหาความจนได้ แต่บางครั้งความจนไม่ได้มาจากการขาดเงินจริงๆ มันมีมากกว่านั้น

มองว่านโยบายอะไรที่ใช้ต้นทุนทางการคลังมากเกินไป

แล้วแต่เงินที่รัฐบาลจะลง เห็นแล้วว่าโครงการรับจำนำข้าว ต้นทุนแพงมาก โครงการรถคันแรก แพงแต่จบหนเดียว ระยะสั้น แต่จำนำข้าวระยะยาว ไม่ใช่ผลกระทบทางการคลังอย่างเดียว แต่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจสังคมด้วย หรือการแจกเงินเฉยๆ ไม่ทำให้คนมีหน้าที่ด้วย สุดท้ายประชาชนจะแบมือขออย่างเดียว

 ผมคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ก็แพงในแง่ที่ไม่ใช่แค่เม็ดเงินเท่านั้น แต่แพงตรงทำให้สังคมด้อยพัฒนา แพงในแง่การเมืองใช้เงินเกินตัว เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้วประเทศชาติจะสะดุดอีกสิบปี หรือไม่ก็เกิดการปฏิวัติ

ความเสียหายได้สะท้อนออกมากที่แบงก์รัฐแล้ว?

แบงก์รัฐเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนสุด เพราะสถาบันการเงินระดมเงินฝากมาปล่อยกู้ต้องรับผิดชอบต่อเงินฝากประชาชน แต่คุณเอานักการเมือง เอาคนตัวเองเข้าไปบริหารจัดการ ทำตามนโยบายโดยไม่วางระบบให้ดี ปล่อยกู้ทางการเมือง ใช้เส้นสาย ระบบบริหารความเสี่ยงสถาบันการเงินไม่มีเลย เพราะคุณเข้าไปแทรกแซง เข้าไปคุม ใช้ระบบพรรคพวกเข้าไปแฝง ก็พัง ไม่น่าแปลกใจ

ธนาคารอะไรที่มาช่วยคนจนในที่สุดก็เจ๊งทั้งนั้น แล้วถามว่าจะช่วยคนจนได้จริงหรือไม่ คำตอบคือไม่จริง นอกจากเอาเงินบางส่วนไปให้คนไม่จน ในทางปฏิบัติไม่สามารถช่วยคนจนได้ ที่ดีสุดคือให้เขามีการศึกษา มีสุขภาพดี นอกจากคนพิการ คนจนจริงๆ คนแก่ ช่วยตัวเองไม่ได้ก็ควรช่วย

แต่ระบบแจกเงิน ผมไม่เรียกว่าให้เงินกู้ เพราะเขาไม่คืน มันถึงได้กลายเป็น NPL (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) หัวคะแนนทั้งนั้น แล้วอ้างปัญหากระจายรายได้ นอกจากหาเสียงแล้ว ยังแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวด้วย

ขณะนี้ถือว่าประเทศไทยอ่อนแอด้วยประชานิยม?

ระบบเศรษฐกิจจะดีระยะสั้น ต้องยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ มาตรการแบบนี้จะช่วยได้ผล แต่ทำต่อเนื่องไป ปีนี้ใช้เงินไป 1 แสนล้าน เศรษฐกิจโต 2% ปีหน้าถ้าจะให้โตอีก ก็ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณต้องใช้มากกว่า 1 แสนล้าน

แล้วการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลไม่เคยมีประสิทธิภาพ บวกกับการคอร์รัปชั่น เพราะฉะนั้นรัฐบาลไม่มีหน้าที่มากระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากเศรษฐกิจตกต่ำ บทบาทของรัฐบาลจริงๆคือทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ มีการกระจายรายได้ที่ไม่ห่างกันเกินไป มีระบบความเป็นธรรม ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก การใช้จ่ายต้องกระจาย เขตไหนยากจนเอาไปใช้มากหน่อย เขตไหนร่ำรวยได้น้อยหน่อย นี่คือบทบาทรัฐด้านการคลัง แต่เวลานี้มันไม่ใช่

เรียกว่าตอนนี้ประเทศกำลังเดินหลงทาง?

คือจะบอกว่าหลงทางหรือไม่ ก็อยากบอกว่านักการเมืองพาเข้ารกเข้าพงเพื่อประโยชน์ตนเอง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายในอนาคต ขาดความรับผิดชอบเท่าที่ควร เป้าหมายเพียงแค่การเลือกตั้ง เข้ามาครองตำแหน่ง และก็เข้ามายึดอำนาจทางเศรษฐกิจ เข้ามาผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการเมือง

 ถ้าทำตามนี้ไปก็ไปสู่ทางตัน หายนะ นักการเมืองเข้ามา ต้องเข้ามาแก้ปัญหา แล้วนำพาประเทศไปทางที่ดีขึ้น แต่ขณะนี้นักการเมืองกำลังนำพาเราไปสู่วิกฤต มันเห็นอยู่

สิ่งที่เห็นคือรายจ่ายบางโครงการไม่ดี เกิดผลกระทบมาก ก็ยังดันทุรัง บอกว่าหาเสียงไว้แล้ว ก็ทำไปแล้ว รู้แล้วว่าควรยุติได้ก็ไม่ยุติ แต่โอเค หลายเรื่องเริ่มมีทิศทางที่ดี เช่นโครงสร้างพื้นฐาน แต่คุณจะใช้เงินมากๆ ไม่ได้ เพราะประเทศมีข้อจำกัดด้านการคลัง ในที่สุดต้องหาเงินภาษีมาชำระแทนหนี้เงินกู้ รัฐบาลควรลดรายจ่ายไม่จำเป็นลง แต่กลับไม่ทำ

ตอนนี้คุณใช้ทุกด้าน เพิ่มลูกเดียว ขณะที่ประเทศมีทรัพยากรจำกัด การกู้ก็คือใช้เงินอนาคต ให้คนรุ่นนี้เสพสุข คนรุ่นหลังก็รับบาปไป


ตีพิมพ์ครั้งแรก: สำนักข่าวอิสรา วันที่ 24 มีนาคม 2556 ในชื่อ ‘ดร.นิพนธ์’ วิพากษ์ ‘ประชานิยมผสมการเมือง’ “คนรับกรรมคือลูกหลานเรา”