tdri logo
tdri logo
6 มีนาคม 2013
Read in Minutes

Views

เร่งทำแผนยุทธศาสตร์ชาติปราบ “ทุจริต คอร์รัปชั่น” ระยะที่ 2

ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ร่วมสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ โดยได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556-2560)  แผนยุทธศาสตร์สำนักงาน ป.ป.ช. และแผนปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ช.  โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ให้เกิดการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการนำเสนอกรณีศึกษาให้ประชาชนและสังคมทราบกระบวนการการทุจริตคอร์รัปชั่นตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางในสาขาสำคัญและเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม

ทั้งนี้ ดร. ณรงค์ ป้อมหลักทอง  ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2  เปิดเผยว่า การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2 นี้  เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2551-2555) ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปลูกจิตสํานึก ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมและสร้างวินัยแก่ทุกภาคส่วน ยุทธศาสตร์ที่ 2 รวมพลังแผ่นดินป้องกันและปราบปรามการทุจริต  ยุทธศาสตร์ที่ 3 เสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่หน่วยงานที่ต่อต้านการทุจริต และยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างบุคลากรมืออาชีพป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ สำหรับช่วงครึ่งแรก เกิดปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ ภาคประชาชนมีส่วนร่วมน้อยในประเด็นผลประโยชน์สาธารณะ ขาดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ของสำนักงาน ป.ป.ช. ด้านทรัพยากรของสำนักงาน ป.ป.ช. (บุคลากรและงบประมาณ) ไม่เพียงพอในการสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ การขาดบูรณาการในการทำงานระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย ประชาชนบางกลุ่มในสังคมไทยเพิกเฉยและ/หรือ ให้การยอมรับต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น และภาคการเมืองขาดความจริงใจในการร่วมกันแก้ไขปัญหา

ดังนั้น ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 2 จึงต้องการมุ่งเน้นการประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้ง 7 องค์กร องค์กรฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายตุลาการ และ ครอบคลุมทุกภาคส่วน  ด้านการเผยแพร่/ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ การให้การศึกษา และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกัน และมีการประเมินผลความพึงพอใจสำหรับแต่ละกลุ่มที่เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งยังมีการกำหนด Flagship ที่แสดงถึงกระบวนการการทุจริตคอร์รัปชั่นในสาขาต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจมูลเหตุของปัญหาและตระหนักถึงผลเสียของการทุจริตคอร์รัปชั่น และผลักดันให้องค์กรอิสระ ภาคีเครือข่ายและภาครัฐจริงจังในการแก้ไขปัญหา รวมถึงการดำเนินการภายใต้กรอบทางด้านจริยธรรม ความซื่อตรง และกรอบทางด้านกฎหมายในกระบวนการทุจริตระหว่างสาขาต่างๆ ที่ทำการศึกษา ตัวอย่างเช่น กรณีศึกษาด้านทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการศึกษา และด้านแรงงาน เป็นต้น

ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน ป.ป.ช. และแผนปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ช. นั้น ส่วนสำคัญคือ การมุ่งเน้นให้มีการจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ การพัฒนาความเป็นมืออาชีพของบุคลากร การช่วยเหลือผู้ร้องเรียน รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน โดยทำให้ภาคีเครือข่ายเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน  ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและความร่วมมือกันในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 ดังกล่าวจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนสิงหาคม 2556

ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.unodc.org/southeasterneurope/en/Corruption.html

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด