tdri logo
tdri logo
4 มีนาคม 2013
Read in Minutes

Views

‘ทีดีอาร์ไอ’แนะเลิกยึดเครื่องมือดอกเบี้ย

“ฉลองภพ”แนะธปท.ดำเนินนโยบายการเงินแบบองค์รวม ไม่ยึดติดเครื่องมืออัตราดอกเบี้ย เสนอใช้การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดเสวนา “ค่าเงินบาทกับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว” โดยมีผู้บริหารจากทีดีอาร์ไอ นักวิชาการ และนักวิเคราะห์ธุรกิจสถาบันการเงินเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วานนี้ (1 มี.ค.)

ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์, นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ
ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์, นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ควรมองแค่เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่ควรมองเครื่องมืออื่นๆ ประกอบด้วย เช่น เครื่องมือในเรื่องของการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Reserve Requirement) ของธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงเครื่องมือด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมไปถึงมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า (Capital Controls)

“แบงก์ชาติ อาจจะยังให้เป้าหมายหลัก คือ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่เครื่องมือในการดูแลนั้น ไม่ควรใช้แค่ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งการลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยมีผลหลายด้าน เช่น ถ้าลดก็อาจทำให้การใช้จ่ายในประเทศผ่อนคลายมากขึ้น แต่ถ้าไม่ลดก็อาจมีผลต่อเงินทุนไหลเข้ามาก ซึ่งถ้าเรานำเครื่องมืออื่นๆ เช่น การคุมปริมาณเงินมาร่วมพิจารณา ก็น่าจะลดความร้อนแรงในเรื่องเหล่านี้ลงได้”

ตัวอย่าง กรณีของจีน นอกจากจะใช้เครื่องมือด้านอัตราดอกเบี้ยในการคุมเงินเฟ้อและฟองสบู่ภายในประเทศแล้ว จีนยังใช้วิธีเพิ่มการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องกับสถาบันการเงินในประเทศด้วย โดยปัจจุบันจีนกำหนดให้สถาบันการเงินกันสินทรัพย์สภาพคล่อง ไว้ประมาณ 20% ขณะที่ของไทยอยู่ในระดับประมาณ 6%

กฎหมาย ธปท.ในปัจจุบัน อำนาจในการปรับการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ได้อยู่กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่อยู่ที่คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการที่จะประสานการทำงานระหว่างทั้ง 2 คณะกรรมการในกรณีที่มีความจำเป็น
“แม้แบงก์ชาติจะจัดให้ กนง. กับ กนส. ประชุมร่วมกันปีละ 2 ครั้ง แต่ก็เป็นเพียงแค่การแชร์ข้อมูล แลกเปลี่ยนความเห็นกันธรรมดาเท่านั้น ไม่ได้เป็นการประชุมในเชิงของการกำหนดมาตรการ”

ส่วนเครื่องมืออื่นเช่นมาตรการการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Controls) นั้น ไม่ควรมองว่าการใช้จะไม่ได้ผล เพราะในต่างประเทศก็มีการนำมาใช้และประสบความสำเร็จ เช่น นโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่ใช้การเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ จากนักลงทุนต่างประเทศที่สูงกว่าคนในประเทศ ซึ่งสามารถลดความร้อนแรงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ลงได้

รับควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายยาก

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้นทำได้ยาก เพราะนักลงทุนมักหลบเลี่ยงได้เสมอ แต่สิ่งที่อยากเสนอ คือ รัฐบาลควรทำบัญชีบันทึกการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อดูว่าเข้ามาลงทุนตั้งแต่เมื่อไร รวมทั้งควรออกกฎหมายควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนเหล่านี้เพื่อป้องกันในกรณีที่อาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น

“ควรออกเป็นกฎหมายไปเลยว่า ถ้าเงินเหล่านี้ไหลเข้ามาแล้ว หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น รัฐบาลจะขอสงวนสิทธิ์สำหรับเงินที่เข้ามาลงทุนอยู่แล้วในระยะยาวให้สามารถนำออกได้เสรี แต่เงินที่เพิ่งเข้ามา หรือเข้ามาลงทุนเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ขอจำกัดการนำเงินออกไปบ้าง ซึ่งก็น่าจะชะลอการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มาเก็งกำไรระยะสั้นได้บ้าง เพียงแต่ปัญหา คือ ของพวกนี้พูดง่ายแต่อาจทำยาก”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ถ้าดูจากหลักการและทฤษฎีแล้ว ควรจะมีมาตรการในลักษณะควบคุมเงินทุนไหลเข้าบ้าง เพราะความไม่มีเสถียรภาพในระบบการเงินนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย เพียงแค่นักลงทุนต่างชาติปรับพอร์ตการลงทุนแค่เล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาได้

แนะข้ามความขัดแย้งเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลกับ ธปท.ถกเถียงหรือแลกเปลี่ยนความเห็นในมุมมองใหม่ๆ บ้าง และไม่ควรมองเพียงแค่การเติบโตของเศรษฐกิจหรือภาวะเงินเฟ้อว่าสิ่งใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน แต่ควรถกเถียงกันว่าเศรษฐกิจไทยในระยะยาวควรจะเดินในทางใด เพื่อที่จะกำหนดนโยบายได้ถูกต้องว่า ควรต้องดำเนินนโยบายลักษณะใด

“ไม่อยากให้ดีเบตกันแค่ว่า จะเอาการเติบโตเศรษฐกิจหรือเอาเงินเฟ้อ แต่ควรต้องมองกันในระยะยาว เช่น ถ้าเลือกการเติบโตเศรษฐกิจ ถามว่าจะเอาแบบไหน ถ้าอยากให้การลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แล้วพยายามทำให้เงินบาทอ่อน แบบนี้ก็อาจเป็นการดำเนินนโยบายที่สวนทางกับตัวเองได้” นายสมชัย กล่าว

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตราบใดที่ค่าเงินบาทยังสะท้อนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็ไม่ควรกังวลในเรื่องระดับของอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป และถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังปรับตัวดีต่อเนื่อง ระยะยาวแล้วยังไงค่าเงินบาทก็ต้องแข็งค่าขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ควรต้องทำ คือ มองว่าจะปรับตัวอย่างไรได้บ้างในภาวะที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

“เราเคยชินกับเงินบาทอ่อนมาตลอด แต่การมุ่งเป้าไปที่อัตราแลกเปลี่ยนแล้วบอกว่าต้องทำให้อ่อนค่า แบบนี้ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะหน้าที่ของอัตราแลกเปลี่ยนก็มีอยู่ คือ รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจที่มีปัจจัยกระทบจากต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วควรปล่อยให้ค่าเงินเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด เพื่อเป็นตัวสะท้อนถึงอัตราที่เหมาะสม และตราบใดที่ค่าเงินสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจอยู่ ก็ไม่ควรกังวลกับมันมากเกินไป”

ผู้ส่งออกเตรียมรับมือเงินบาทแข็ง

นายวิมุต วานิชเจริญธรรม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกควรต้องเตรียมตัวเอาไว้ให้พร้อมสำหรับแนวโน้มเงินบาทที่มีโอกาสแข็งค่าขึ้น เพราะตราบใดที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เชื่อว่าเงินบาทมีแนวโน้มจะต้องแข็งค่าขึ้น

“การที่เรามัวแต่อาศัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้เราลืมจุดอ่อนของประเทศที่ควรต้องปรับปรุง ซึ่งจะเชื่อมโยงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว คือ เวลาที่เราส่งออกและได้เงินบาท ก็ต้องเอาเงินเหล่านั้นนำเข้าสินค้าทุน หรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อมาปรับปรุง ซึ่งการนำเข้าตรงนี้อยู่ที่ว่าเราสามารถเรียนรู้และปรับปรุงเทคโนโลยีเหล่านั้น จนกลายเป็นผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ทดแทนได้หรือไม่”

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด กล่าวว่า การใช้นโยบายกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) ของ ธปท. มีข้อดีในเรื่องความคล่องตัวในการรักษาเสถียรภาพ แต่ก็มีคำถามตามมาว่า สุดท้ายแล้ว ธปท. เลือกให้น้ำหนักกับเรื่องอะไร เช่น ระหว่างเงินทุนไหลเข้า หรืออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งความไม่ชัดเจนตรงนี้อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือของธปท.ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ยังไม่มีการถกเถียงในเชิงลึกว่า กรอบนโยบายการเงินที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยมากที่สุด คือ อะไร และปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า เงินเฟ้อในประเทศไทยนั้นมาจากไหนกันแน่ระหว่างในประเทศหรือนอกประเทศ รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อการควบคุมเงินเฟ้อได้มากแค่ไหน ดอกเบี้ยสามารถดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายได้หรือไม่ และดอกเบี้ยในปัจจุบันเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยหรือไม่อย่างไร

“ปัจจุบันในอังกฤษก็เริ่มมีการตั้งคำถามเช่นกันว่า inflation targeting (เป้าหมายเงินเฟ้อ) เป็นนโยบายการเงินที่ดีหรือไม่ เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจแทบไม่มี ทำให้เขาเริ่มมีคำถามกับกรอบนโยบายการเงินดังกล่าวว่าดีหรือไม่” นายพิพัฒน์ กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556 ในชื่อ ‘ทีดีอาร์ไอ’แนะเลิกยึดเครื่องมือดอกเบี้ย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ