นักวิชาการแนะชาติอาเซียนเลิกจัด “ข้าว” เป็นสินค้าอ่อนไหว หวั่นไทยเสียประโยชน์

ปี2013-03-06

(5 มี.ค.) คณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเรื่อง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC): เกษตรกรไทยได้หรือเสีย?” ณ ห้องมิราเคิล แกรนด์ บอลรูม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยมีการปาฐกถานำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการอภิปรายโดยผู้ทรงคุณวุฒิ

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในภาคเกษตร สำหรับประเทศไทยมีทั้งผลดีและผลเสีย กล่าวสำหรับผลดีคือ ไทยคาดหวังว่าตลาดขนาดกว่า 600 ล้านคน จะเป็นประโยชน์กับไทยด้านการค้า จากภาษีที่ลดลงเป็น 0% นอกจากนี้ไทยมีโอกาสขยายการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ จะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรของไทยได้ หากประสบผลสำเร็จ ไทยจะมีอำนาจการต่อรองในสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา ที่มีการผลิตในภูมิภาคนี้จำนวนมาก เป็น 50-90% ของโลก ส่วนในเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับมาตรฐานให้เป็นมาตรฐานของอาเซียน เพื่อเข้าสู่ระดับมาตรฐานสากล

“สิ่งที่คาดว่าจะเป็นผลกระทบหลังเปิดเออีซีก็คือ การแข่งขันที่รุนแรง อาเซียนอาจมีการแย่งตลาดกันเอง เป็นการแข่งขันในตลาดด้วยสินค้าเดียวกัน ซึ่งถ้าอาเซียนรวมกันไม่แข็งจริง ก็จะส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรของไทยด้วย รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่แรงงานต่างด้าวอาจเคลื่อนย้ายกลับประเทศ”

สำหรับบทบาทของไทยในอาเซียนในด้านการเกษตร รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ไทยพยายามยกระดับมาตรฐานสินค้า ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร แห่งชาติ (มกอช.) มีอยู่ กว่า 200 รายการให้เป็นมาตรฐานของอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรสีเขียว (green economy) สำหรับอาเซียน การประกาศโซนนิ่งของพื้นที่สินค้าเกษตร ซึ่งว่าด้วยการใช้พื้นที่ดินให้เหมาะสมกับการเกษตรรูปแบบต่าง ๆ

ส่วนการรวมมือกับอาเซียน จะมีเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง อิระวดี และ การวิจัยร่วมกัน ด้านพืชประมง ปศุสัตว์ รวมทั้งการดูแลเรื่องควบคุมโรคระบาด โดยการร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อวางระบบ และมาตรฐานควบคุมโรค ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางทั้งการค้า และการผลิต ของอาเซียนด้านภาคการเกษตรทั้งหมด

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า อาเซียนส่งเป็นผู้ออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ในตลาดโลก อาทิ ข้าว มัน น้ำตาล ยาง ไก่ น้ำมัน ปาล์ม กาแฟ กุ้ง ปลา แต่อาเซียนกลับมีการค้าขายสินค้าเกษตรระหว่างกันน้อย ประมาณ 1 ใน 4 ของการส่งออกทั่วโลก ทั้งนี้เพราะในอาเซียนมีการผลิตสินค้าที่คล้ายกันโดยเฉพาะพืช

นอกจากนี้บางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีนโยบายปลูกเพื่อเลี้ยงตัวเอง หลังเกิดวิกฤติอาหารเมื่อปี 2551 และกีดกันการนำเข้า ประกอบกับนโยบายรับจำนำข้าวของไทยที่กำหนดราคาไว้สูงมาก ทำให้บางประเทศกำหนดนโยบายการนำเข้าโดยรัฐ เมื่อพิจารณาด้านการนำเข้า ไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียน 34% ขณะที่ส่งออก 20% อย่างไรก็ตาม การค้าในอาเซียนมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ทั้งสหภาพยุโรป หรืออียู สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ

สำหรับเปิดเสรีทางการค้าสินค้าเกษตรนั้น ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ประโยชน์ส่วนใหญ่ที่จะตกอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า ด้านผลกระทบต่อไทย เกิดจากบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียยังจัดว่าข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหว และอินโดนีเซียจัดว่าน้ำตาลเป็นสินค้าอ่อนไหวมาก ส่งผลให้เก็บภาษีในอัตราสูง และให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้นำเข้า ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าค่อนข้างมาก ฟิลิปปินส์ควรจะถอดรายการสินค้าข้าวออกจากรายการสินค้าอ่อนไหว แต่ก็ไม่ถอดทั้ง ๆ ที่มีข้อตกลงระหว่างอาเซียน ขณะที่อาเซียนเองก็ยังไม่มีบทลงโทษ

“ถ้าวัดจากความสามารถในการแข่งขัน ไทยมีสินค้าที่ได้เปรียบมากที่สุด ในอาเซียน เพราะผลจากนโยบายในอดีต ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การปล่อยเสรีภาคการเกษตร เกษตรกรไทยเลือกผลิตสินค้าเกษตรที่ตลาดต้องการ  ต้นทุนการขนส่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ และไทยมีที่ดินมาก”

นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลในอดีตลงทุนเรื่องวิจัยด้านการเกษตรค่อนข้างมาก ยุคทองคือยุคทศวรรษ 1990 เคยทุ่มเงินวิจัยด้านการเกษตรเกือบ 1% ของจีดีพีภาคเกษตร ส่วนปัจจุบันมีการเบียดบังงบวิจัยไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ภายใต้ชื่อว่าการพัฒนาและการส่งเสริม รวมทั้งการจัดอีเวนต์ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง สร้างความเสียหายต่ออนาคตในระยะยาวของภาคเกษตร อยากให้นักการเมืองทบทวนนโยบายเรื่องนี้ และอย่าแทรกแซงงบวิจัย

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ต่อภาคเกษตรนั้น ธุรกิจใหญ่จะได้เปรียบมาก ส่วนเกษตรกรรายย่อยน่าเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด เพราะมีปัญหาหลายด้าน ทั้งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีหนี้สิน ปัญหาที่ทำกิน และปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลความรู้เรื่องเออีซีเพื่อนำไปใช้ปรับตัวเพราะขาดการเอาใจใส่จากภาครัฐ ทั้งนี้ ไทยจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น จึงจะแข่งขันสู้ประเทศอื่นได้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 6 มีนาคม 2556 ในชื่อ “นักวิชาการแนะชาติอาเซียนเลิกจัด “ข้าว” เป็นสินค้าอ่อนไหว หวั่นไทยเสียประโยชน์ “