tdri logo
tdri logo
9 เมษายน 2013
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอผ่ามุมมองค่าเงิน เลิกพึ่งเฉพาะ ดบ.

bangkokbiznews20130311

ทีดีอาร์ไอผ่ามุมมองบาทแข็ง “ฉลองภพ”แนะเลิกพึ่งดอกเบี้ยเป็นหลัก เตรียมพร้อมรับมือเงินผันผวนระยะสั้น “อัมมาร”แนะกำหนดเป้าหมาย”ค่าจ้าง”

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ค่าเงินบาทกับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว” โดยได้เรียนเชิญนักเศรษฐศาสตร์จากสังกัดต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นสำคัญเรื่องค่าเงินบาทกับยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาว

วงเสวนาเห็นว่า เราไม่ควรกังวลและถกเถียงกันเรื่องค่าเงินกับการส่งออกมากจนเกินควร แต่ควรถือโอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ให้พ้นไปจากการหวังพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก และควรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศโดยส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อยกระดับความสามารถทางการผลิตของประเทศ

ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงต้นของวงเสวนา โดยดร. ฉลองภพย้ำว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินควรใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงเน้นไปที่การใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นหลักอย่างที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคหลักสำหรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยคือการพึ่งพิงการส่งออกที่สูงมาก โดย ดร.ฉลองภพระบุว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศไทยพึ่งพิงภาคต่างประเทศสูงขึ้นอย่างมาก โดยดัชนีในปี 2011 การส่งออกของไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 75% ต่อจีดีพี โดยที่ก่อนหน้าวิกฤติมีสัดส่วนเพียง 45% เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ อัตราแลกเปลี่ยนจึงมีผลต่อภาคส่งออกไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับผลกระทบทางลบจากภาวะเงินทุนไหลบ่าเข้าประเทศ

การรับมือต่อความผันผวนของเงินทุนระยะสั้น

ดร. ฉลองภพได้แสดงให้เห็นต่อไปว่า ปริมาณและความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่นักลงทุนหันมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เช่นประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน เงินทุนระยะสั้นเหล่านี้สร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจส่วนรวมเพราะสามารถไหลออกได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

นอกจากนี้ ดร. ฉลองภพยังได้นำเสนอการใช้เครื่องมือในการบริหารนโยบายการเงินอย่างผสมผสาน เนื่องจากที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้ให้ความสำคัญต่ออัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจมีข้อจำกัดอยู่มาก โดย ดร. ฉลองภพกล่าวว่า

“แบงก์ชาติ อาจจะยังให้เป้าหมายหลัก คือ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่เครื่องมือในการดูแลนั้น ไม่ควรใช้แค่ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งการลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยมีผลหลายด้าน เช่น ถ้าลดก็อาจทำให้การใช้จ่ายในประเทศผ่อนคลายมากขึ้น แต่ถ้าไม่ลดก็อาจมีผลต่อเงินทุนไหลเข้ามาก ซึ่งถ้าเรานำเครื่องมืออื่นๆ เช่น การคุมปริมาณเงินมาร่วมพิจารณา ก็น่าจะลดความร้อนแรงในเรื่องเหล่านี้ลงได้”

โดยเครื่องมือนโยบายทางการเงินอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้แก่ การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งธนาคารกลางสามารถเข้าไปซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศเพื่อบริหารอัตราแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งหลายประเทศก็ได้ทำเช่นนี้ จะเห็นว่าในประเทศจีน ทางการสะสมเงินตราต่างประเทศไว้อย่างมหาศาล ในขณะที่ญี่ปุ่นก็เคยทำเช่นนี้ แต่ยกเลิกเมื่อปี 2004 ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า เงินเยนแข็งขึ้นมาเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน

นอกจากนี้ ทางการยังสามารถใช้การกำหนดการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมาย (Reserve Requirement) ซึ่งนอกจากจะเกี่ยวกับความมั่นคงของสถาบันการเงินแล้ว ยังมีผลต่อเศรษฐกิจมหภาคและมีผลต่อเป้าหมายของนโยบายการเงินอีกด้วย เพราะถ้าทางการกำหนดให้เพิ่ม Reserve Requirement ธนาคารพาณิชย์ก็จะมีเงินไปปล่อยสินเชื่อน้อยลง

และสุดท้ายคือ มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital Control) ซึ่งหลายประเทศได้นำมาใช้อย่างได้ผล เช่น นโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ เพื่อลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเก็บค่าภาษีและธรรมเนียมต่าง ๆ จากต่างชาติในระดับที่สูงกว่าคนในประเทศ

แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ว่า ในเรื่องระยะยาว ประเทศไทยมีปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะองค์ประกอบของอุปสงค์ซึ่งพึ่งการส่งออกมาก จุดนี้ ดร. สมชัยเห็นว่า ประเทศไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมมากเกินไป ทำให้เราต้องส่งออกมาก เพราะเราผลิตเพื่อส่งออก

คำถามสำคัญที่เราควรถามในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งตัวอย่างในปัจจุบันคือ เราจะให้โอกาสนี้ในการช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะไปลดการพึ่งพิงการส่งออกไปสู่การลงทุนภายในประเทศได้อย่างไร

ซึ่งจุดนี้ ดร. สมชัยได้นำเสนอว่า เราควรพุ่งเป้าไปที่การนำเข้าเทคโนโลยีมากขึ้น ในช่วงที่ต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีถูกลงมาก เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการนำเข้าเทคโนโลยีเนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น การที่ค่าเงินบาทแข็งจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่อย่างที่เถียงกันในปัจจุบัน แต่เราควรจะถกเถียงกันให้สร้างสรรค์และรอบด้านมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงจบลงแค่ 2 – 3 ตัวแปรว่า ค่าเงินแข็ง ส่งออกแย่ แต่ควรคำนึงถึงปัจจัยการลงทุนภายในประเทศมากขึ้นเพราะจะทำให้ไทยเราก้าวข้ามพ้นกับดักประเทศปานกลางอย่างที่กังวลกัน

นอกจากนี้ ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวสนับสนุนว่า เราไม่ควรกังวลเพียงเรื่องเดียวว่า ค่าเงินจะแข็งหรือจะอ่อน หากอัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เราควรกังวลคือ ทำอย่างไรให้อัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็น หากตลาดเป็นผู้สะท้อนมูลค่าพื้นฐานแล้ว เราควรหันกลับมาเพื่อพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ บริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเชิงคุณภาพสินค้าและบริการให้สูงขึ้น หากเรายังยึดติดในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและการส่งออก เราจะไม่สามารถก้าวข้ามเรื่องระยะสั้นเหล่านี้ไปได้

ในส่วนของ ดร. วิมุต วานิชเจริญธรรม อาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องการบริหารจัดการระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เพราะระยะยาวเป็นเรื่องของการพัฒนาโดยรวม มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว และการที่เราไปอาศัยอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวหลักในการบริหารเศรษฐกิจ ทำให้เราละเลยจุดอ่อนของเศรษฐกิจโดยรวมที่เราควรปรับปรุง

โดย ดร.วิมุต มองไปอีกว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจระยะยาวนั้น เราต้องก้าวข้ามภาวะปัจจุบันคือเป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยี ไปเป็นผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่พ้นไปจากเรื่องนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของนโยบายการพัฒนาประเทศโดยรวม โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สุดท้าย ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด ได้วิเคราะห์ทางเลือกเชิงนโยบายในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ปล่อยให้ค่าเงินแข็งขึ้นไป แล้วไปจัดการกับเงินทุนขาออก เพื่อสนับสนุนให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศ 2) ธปท. เข้าไปแทรกแซงไม่ให้ค่าเงินแข็งเกินไป แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะงบดุลของธปท.มีปัญหาจากภาระหนี้เป็นเงินบาทสูง 3) การลดดอกเบี้ยซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังต้องการ แต่ธปท. ไม่ต้องการ เพราะห่วงจะมีความเสียงเรื่องเงินเฟ้อและราคาสินทรัพย์เกิดภาวะฟองสบู่ในอนาคต และสุดท้าย 4) มาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายช้าลง แต่ต้นทุนของทางเลือกนี้ คือ สร้างต้นทุนของการทำงานของตลาดเงิน ทำให้ลดประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ

ดร.พิพัฒน์ เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินในอดีตเน้นการแทรกแซงให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเกินจริง จนทำให้เกิดการบิดเบือนในภาคการผลิต และส่งผลให้ภาคส่งออกมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนประเทศไทยเกิดอาการเสพติดการส่งออก

นอกจากนั้น อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นในระยะยาว หากทางการไทยไม่ยอมให้อัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นตัวเงินแข็งค่าตามกลไกตลาด ก็จะเกิดแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จนอาจกระทบการดำเนินนโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย

ท้ายการเสวนา ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็นเพิ่มเติม โดยเสนอให้ “อัตราค่าจ้าง” เป็นเป้าหมายหนึ่งของรัฐบาลในระยะยาว โดยให้รัฐบาลมีบทบาทนำในการเพิ่มอัตราอัตราค่าจ้างตัวเงินเป็นลำดับ แล้วปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวตามผลของการปรับอัตราค่าจ้างดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระตุ้นกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความต้องการใช้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็วขึ้น และเป็นผลดีต่อการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 11 มีนาคม 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอผ่ามุมมองค่าเงิน เลิกพึ่งเฉพาะดบ.

นักวิจัย

ดร. สมชัย จิตสุชน
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง
ดร. อัมมาร สยามวาลา
นักวิชาการเกียรติคุณ
ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์
นักวิชาการเกียรติคุณ/รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม และฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด