tdri logo
tdri logo
4 เมษายน 2013
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอแนะเพิ่มเงินผู้เสียหายจากรถโดยสาร

“ทีดีอาร์ไอ” เผยผลสำรวจผู้เสียหายจากรถโดยสารสาธารณะ 142 ราย ชี้วงเงินชดเชยไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง

ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เสนอผลการศึกษา “โครงการอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณ: ผลกระทบการประกันภัยและการชดเชยเยียวยา” พบสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารและรถร่วมบริการสาธารณะยังมีอยู่ต่อเนื่อง ขณะที่ผู้เสียหายส่วนใหญ่เข้าไปถึงการชดเชยเยียวยาตามกฎหมาย แนะสร้างกลไกรับผิดชอบ ดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมรับผิดชอบ หวังเป็นกลไกลดการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ

ดร.สุเมธ กล่าวว่า จากการศึกษาโครงการอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณกับผลกระทบการประกันภัยและการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ทางทีดีอาร์ไอได้นำข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่ได้ทำการเก็บข้อมูลด้านอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะและข้อมูลการ ร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวน 252 ตัวอย่างโดยได้สัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุทั้งหมด 142 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นผู้ประสบเหตุโดยตรง 115 ราย เป็นญาติ 27 ราย อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ปี เพื่อติดตามความคิดเห็นของผู้ที่ประสบเหตุถึงการชดเชยเยียวยาภายหลังเกิด เหตุที่ได้รับมีความเหมาะสมหรือไม่ และระบบประกันอุบัติเหตุที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ที่ เป็นจริงหรือไม่และดูว่าอะไรที่เป็นช่องโหว่ของปัญหา ก็พบว่าในจำนวนนี้ยังอยู่ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดี 31 ราย และคดีได้สิ้นสุดแล้ว 111 ราย

ผู้เสียหายเมินฟ้องศาล
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า จากการสำรวจการชดเชยจากค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายกรณีที่คดีสิ้นสุดแล้วพบว่าค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นเฉลี่ยแล้วจากข้อมูลจาก มพบ.ประมาณ 62,303 บาท ข้อมูลจาก บขส. 54,452 บาท ค่าชดเชยค่ารักษาพยาบาล ข้อมูลจาก มพบ.เฉลี่ย 36,897 บาท ข้อมูลจาก บขส.เฉลี่ย 50,570 บาท ขณะที่เงินชดเชยทั้งหมดที่ได้รับจากค่ารักษาพยาบาลรวมกับค่าสินไหมทดแทนที่ เรียกร้องจากศาลพบว่าข้อมูลจาก มพบ.ผู้เสียหายจะได้รับอยู่ที่ 145,697 บาท ส่วนข้อมูลจาก บขส.ผู้เสียหายได้รับเฉลี่ยทั้งหมด 106,886 บาท โดยระยะเวลาในการไกล่เกลี่ยและเรียกร้องต่อศาลจะใช้เวลาในการไกล่เกลี่ยประมาณ 1 ปีครึ่ง และจะพิจารณาในศาลชั้นต้นอย่างน้อย 2 ปีทำให้ผู้เสียหายยอมสิ้นสุดคดีโดยไม่ร้องค่าเสียหายเพิ่มในชั้นศาลกว่า 95%

“จากข้อมูลการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่ขาดความรู้ในเรื่องของสิทธิความคุ้มครองที่จะได้รับในการชดเชยเยียวยาจากความสูญเสีย หรือผลกระทบหลังจากเกิดความเสียหายแล้ว ซึ่งบางรายอาจจะต้องหยุดพักงาน ขาดรายได้ บางรายอาจจะมีความผิดปกติของร่างกายหลังประสบอุบัติเหตุหรือบางรายต้องพิการ ขาดอวัยวะไปก็จะได้รับเฉพาะเงินชดเชยเยียวยาในเบื้องต้นเท่านั้น นอกจากนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนว่ากระบวนการเรียกร้องใช้เวลานานเกินไปกว่าจะพิสูจน์ถูกผิดได้ ไม่ทันต่อการเยียวยา และการเดินทางมาฟ้องร้องขึ้นศาลต้องเสียค่าเดินทางและค่าติดต่อประสานงานมากทำให้ผู้เสียหายอยากจบเรื่องนี้เร็วๆ ทำให้ปัจจัยการเข้าถึงสิทธิในการคุ้มครองของผู้เสียหายไม่สามารถเรียกร้องได้ถึงสิทธิที่แท้จริง” ดร.สุเมธ กล่าว

ยังไม่ชดเชยตามความจริง
เขาบอกอีกว่า ความเหมาะสมในการชดเชยเยียวยาเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นควรสะท้อนจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รีบบาดเจ็บทั่วไป จำนวนเงินที่ได้รับเมื่อเทียบกับวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถจะอยู่ที่ 22,802 บาท ขณะที่เกณฑ์วงเงินอยู่ที่ 50,000 บาทที่สามารถเบิกได้ตามความเหมาะสม ส่วนกรณีที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ค่ารักษาพยาบาลจะอยู่ที่ 121,903 บาท ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์วงเงินที่กำหนด ดังนั้น ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะถือเป็นบุคคลที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด ผู้เสียหายควรได้รับค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนและครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายขณะที่อยู่โรงพยาบาลและหลังออกจากโรงพยาบาลด้วยแต่จากสภาพความเป็นจริงจากผู้เสียหายพบว่าการได้รับค่าชดเชยยังไม่ตรงกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริง

แนะเอาผิดเจ้าของใบอนุญาต
“ส่วนใหญ่ผู้เสียหายเสนอว่าหน่วยงานที่ให้บริการรถโดยสารควรจะมีการตรวจสอบคนขับรถ ทั้งประวัติย้อนหลัง และตรวจสอบศักยภาพในการขับขี่ และเพิ่มบทลงโทษแก่คนขับรถโดยสารให้หนักมากขึ้นหลังจากขับรถโดยประมาณทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และเสนอให้เพิ่มข้อกำหนดของกฎหมายในการควบคุมความเร็วของรถโดยสาร และการเพิ่มระบบการคัดเลือกผู้ประกอบการรถร่วมบริการ และคนขับรถโดยสาร รวมถึงเพิ่มวงเงินประกันภัยและปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาส่วนบริษัทผู้ประกอบการรถร่วมรัฐบาลควรกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ เพราะผู้ประกอบการถือเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการควรจะต้องมีความผิดและมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย” ดร.สุเมธ กล่าว

เสนอเพิ่มวงเงินเยียวยา
ส่วนการชดเชยกรณีขาดรายได้ ดร.สุเมธ กล่าวว่า ความเหมาะสมของเงินชดเชยค่าสินไหมทดแทนการขาดรายได้ แม้ว่าจะได้รับมากกว่าค่าขาดรายได้จากอุบัติเหตุ 3 เท่าหรือมากกว่าค่าใช้จ่ายครัวเรือนเฉลี่ย 5 เท่า ก็ยังเกิดความล่าช้า ในขณะที่ที่ผู้เสียหายต้องขาดงาน หรือหยุดยาว หากเทียบกับระยะเวลาในการดำเนินคดีความเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมจากศาลที่ใช้ เวลาเกิน 1 ปีอาจจะไม่ทันกับการเยียวยาที่ผู้เสียหายอาจจะมีความจำเป็นต้องเงินให้ใน ช่วงนั้นๆ
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ในส่วนการคุ้มครองผู้เสียหายจากบริษัทประกันภัยนั้น ปัจจุบันผู้ประสบภัยจะได้รับการคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถอยู่แล้วเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยผู้ประสบภัยทำเรื่องร้องไปยังบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทดังกล่าวจะมีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด จำนวนไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งวงเงินที่ได้รับการคุ้มครองแม้ว่าจะบาดเจ็บ หรือ เสียชีวิตจะได้รับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ในปี 2553 มีการออกกฎกระทรวงสาธารณสุขให้เพิ่มวงเงินชดเชยเบื้องต้นสูงขึ้น

“แม้ว่าผู้เสียหายจะได้เงินจากการคุ้มครองในกฎหมายหลัก ซึ่งรถทุกคันต้องทำประกันภัย แต่ผมเสนอว่าวงเงินที่ผู้เสียหายจะได้รับชดเชยเยียวยายังไม่เพียงพอกับสิ่งที่เขาต้องสูญเสีย เสนอว่าบริษัทรถโดยสาร หรือรถร่วมบริการควรจะทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่ม เพื่อที่เมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้ที่เสียหายจะได้รับค่าชดเชยที่เพิ่มขึ้นด้วย และเสนอว่าควรแยกวงเงินระหว่างค่ารักษาพยาบาลออกจากค่าชดเชยทุพพลภาพหรือเสียชีวิต และควรจะเพิ่มจากเดิมที่ได้ 200,000 บาท เป็น 400,000 บาท” ดร.สุเมธ กล่าว

ขาดกลไกความรับผิดชอบ
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่าที่ผ่านเมื่อเกิดเหตุกับรถโดยสารน้อยครั้งที่จะมีการพูดถึงผู้ประกอบการ จะเห็นว่าผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจะไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อผู้เสียหายเท่าที่ควร จะมีเฉพาะบริษัทประกันและผู้ประกอบการและคนขับ ดังนั้น การจะสร้างระบบการชดเชยเยียวยาให้ผู้เสียหายได้รับการดูแลอย่างเต็มที่หลังต้องสูญเสียควรมีการเชื่อมโยงความรับผิดชอบร่วมกันทั้งผู้ประกอบการ ผู้ถือใบอนุญาตผู้ขับรถ และสร้างกลไกด้านบริษัทประกันในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละราย ดังนั้น บริษัทประกันก็ควรเก็บข้อมูลสถิติของลูกค้ารถโดยสารด้วย เพราะเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันอุบัติเหตุ

“ข้อเสนอเชิงนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องดูแลเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลให้มากขึ้น กรมการขนส่งทางบก ควรใช้ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก สร้างกลไกการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่งให้เร็วขึ้นด้วย”ดร.สุเมธ กล่าว

ชี้รัฐเมินความปลอดภัยรถสาธารณะ
ด้าน นพ.ธนะพงษ์ กล่าวว่า การชดเชยเยียวยาผู้เสียหายจากรถโดยสารสาธารณะถือเป็นเรื่องปลายทางแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวของควรจะเข้ามาดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับสิทธิคุ้มครองอย่างแท้จริง แต่รัฐบาลควรสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนนที่ไม่เฉพาะกับรถยนต์ทั่วไป แต่รวมถึงรถโดยสารสาธารณะด้วย ซึ่งที่ผ่านมาให้ความสำคัญน้อยมากและยังคงเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จนหลายประเทศมีการเตือนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยว่าไม่ให้ขึ้นรถโดยสารของไทยเพราะไม่มีความปลอดภัยเลย ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับรถโดยสารสาธารณะบ้าง

“จริงๆ แล้วผู้ที่ใช้รถโดยสารสาธารณะถือเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้สังคมไม่เป็นผู้ปล่อยมลพิษ แต่ทำไมต้องมารับความเสี่ยง ถ้ารัฐสร้างกลไกคุมเรื่องความปลอดภัยกับรถโดยสารสาธารณะให้เกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด หรือไม่เกิดเลย เรื่องของการชดเชยเยียวยาอาจะเป็นเรื่องที่ห่างไกล ผมเสนอการแก้ปัญหาต้องเดินไปพร้อมๆกัน ไม่เฉพาะเรื่องของการเยียวยา แต่ยังรวมถึงความรับผิดชอบต่อประชาชน ต่อผู้โดยสารทำอย่างไรจะลดการเกิดอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 4 เมษายน 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอแนะเพิ่มเงินผู้เสียหายจากรถโดยสาร

นักวิจัย

ดร. สุเมธ องกิตติกุล
รองประธานสถาบัน ดูแลงานด้านการบริหารระบบงานภายใน / ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ