เวทีระดมทำแผน ป.ป.ช. ซัดเกิดกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ “ไทยเฉย” ไม่เดือดร้อนทุจริต

ปี2013-04-19

ทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ เกิดกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่“ไทยเฉย”ไม่เดือดร้อนทุจริต เห็นพ้อง ใช้นโยบายป้องกันควบปราบปราม ตัวแทนทีดีอาร์ไอติงฝ่ายการเมืองแทรก

isranews20130419

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2556 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจัดประชุมระดมความคิดเห็น จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติระยะที่ 2 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และภาคีเครือข่ายภาคกลางหลายส่วน ร่วมแสดงความคิดเห็นครั้งนี้

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวเปิดงานประชุมว่า การจัดทำแผนดังกล่าวนี้จะเป็นแนวทางและเป็นตัวชี้นำในการพัฒนาด้านต่างๆ และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาที่ผ่านมาคือ ขาดหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผน ไม่มีคนรับผิดชอบโดยตรง ขาดการเชื่อมโยง ระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ ในการดำเนินการจริง ต่างคนต่างดำเนินการ ส่งผลให้ไม่เกิดพลัง การดำเนินการจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ยุทธศาสตร์ที่ 2 จึงอยากระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ

“ฝ่ายการเมืองไม่จริงใจในการแก้ปัญหา ดูจากการสนับสนุนงบประมาณเกี่ยวกับแผนด้านทุจริตหากเทียบกับ ต่างประเทศ ถือว่าน้อยมาก หากแผนจะบรรลุผลสำเร็จได้หน่วยงานที่สำคัญที่จะต้องเข้ามาคือหน่วยงานด้านการศึกษา เพราะการปลูกฝังคุณธรรมในเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ ในตอนนี้ทางป.ป.ช.ก็ได้ทำ เอ็มโอยู (ความร่วมมือ) กับกระทรวงศึกษาธิการ มีหลักสูตรคุณธรรม จริยธรรม อีกหน่วยงานหนึ่งคือด้านศาสนา การปลูกฝังค่านิยม และด้านจิตใจ ก็เป็นส่วนสำคัญ นอกจากนี้ เราก็เพิ่มกฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง มาตรา 130/7 เพื่อป้องกันการทุจริตที่จะเกิดขึ้นด้วย” ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว

ศ.ดร. ภักดี โพธิศิริ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวสรุปการดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติ ระยะที่ 1 ว่ามีปัญหาที่เกิดขึ้นมากทั้งทรัพยากรในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ปัญหาการบูรณาการการดำเนินงาน ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ปัญหาด้านความจริงใจของภาคการเมืองในการแก้ปัญหาทุจริต ส่งผลให้วัตถุประสงค์เริ่มต้นคือ การปลูกจิตสำนึก ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมแก่ทุกภาคส่วน ไม่บรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควร

“การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 2 นี้ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จคือ 1. การบริหารจัดการภาครัฐต้องโปร่งใส เป็นธรรม 2. ความครอบคุลมและการบังคับใช้กฎหมาย 3. การมีส่วนร่วมและความคิดเห็นของเครือข่ายทุกภาคส่วน 4.การเข้าถึงข้อมูลของประชาชน และสุดท้ายส่วนสำคัญคือรัฐบาลต้องให้ความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในหน่วยงานรัฐ เพราะที่ผ่านมาโครงการต่อต้านทุจริตของรัฐบาลดำเนินการไม่จริงจังและยังค้างคาอยู่”

ศ.ดร.ภักดี ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ เรียกว่า “ไทยเฉย” ที่ไม่เดือดร้อนกับปัญหาการทุจริต หากคนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่าการทุจริตเป็นปัญหา ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติอย่างร้ายแรง การแก้ไขปัญหาคงเกิดขึ้นไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวต้องเริ่มที่ทุกคนโดยสร้างความตระหนักรู้และยึดถือแนวปฏิบัติ เมื่อตัวเองทำได้และค่อยช่วยกันดูปัญหาในวงกว้าง ปัญหาก็จะน้อยลง

นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หลังจากมียุทธศาสตร์ที่ 1 ไปแล้วกลับพบว่าปัญหาการทุจริตยังไม่ทุเลาลงแต่กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซงทุกด้าน ทางด้านการทุจริตในภาคเอกชนก็ไม่ได้รับความสนใจในการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงอยากให้ยุทธศาสตร์ในอนาคตการป้องกับการทุจริตเป็นเรื่องของทุกคน และเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แม่นตรง ทั้งนี้อยากให้สื่อมวลชนมีความเข้มแข็งในการต่อต้านการทุจริต โดยสรุปสาระสำคัญยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติระยะที่ 2 คือ 1.สร้างความมีวินัย คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมวัฒนธรรมสุจริต (ปลูก-ปลุก) 2.ประชาสัมพันธ์ผลการชี้มูล ตัดสินคดีการทุจริตและการติดตามตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน 3.เก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตอย่างเป็นระบบไว้ที่ศูนย์กลาง 4.สร้างองค์ความรู้พื้นฐานและเฉพาะสาขาเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริต นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย 5.เน้นยุทธศาสตร์ด้านการปราบปรามให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 6.สร้างช่องทางการแจ้งเบาะแสการคุ้มครองพยาน 7.ส่งเสริมการทำงานในทุกภาคส่วน และ 8.จัดตั้งกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริต

“ทิศทางการพัฒนาต้องใช้วิธีการป้องกันควบคู่การปราบปราม โดยต้องเน้นการปลูกจิตสำนึกความมีวินัยคุณธรรมและจริยธรรมในสังคม มีการบังคบใช้และพัฒนากฎหมายป้องกันและปราบปรามทุจริตให้ทันสมัย องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ภาคส่วนและเครือข่ายต้องทำงานสอดประสานกัน และที่สำคัญต้องกระตุ้นให้คนตื่นตัวต่อการทุจริต” นายยงยุทธ กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 19 เมษายน 2556 ในชื่อ เวทีระดมทำแผน ป.ป.ช.ซัดเกิดกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่“ไทยเฉย”ไม่เดือดร้อนทุจริต