ยุทธศาสตร์บริหารแรงงานจากค่าจ้าง 300 บาทถึงเออีซี

ปี2013-04-30

สถานการณ์แรงงานไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอความต้องการ และชัดเจนว่าเรามีความต้องการแรงงานไทยเกิน 40 ล้านคน คือราว 42-43 ล้านคน โดยส่วนเกิน 2-3 ล้านคนนั้นคือแรงงานต่างด้าว ดังนั้นหากจะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับไปสู่จุดสมดุลที่ไม่ให้มีส่วนเกินในส่วนของแรงงานต่างด้าวได้ รวมถึงการสร้างความมั่นใจก่อนจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความคิดเห็นโดยระบุว่า ยุทธศาสตร์แรงงานไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยก็ยังคงต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเชิงปริมาณ ซึ่งต้องมียุทธศาสตร์ทั้งการเพิ่มปริมาณและคุณภาพ

isranews20130429

การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานทำได้ 2 ทาง คือ 1. เมื่อธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง และจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีบางส่วนมาใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลง การแก้ปัญหาแรงงานจึงต้องทำให้มีคนออกมาทำงานเร็วขึ้น โดยให้คนออกมาสู่ตลาดแรงงานเมื่อถึงวัยทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนที่ดีและไม่ต้องเรียนมากปีเกินไป หรือสามารถให้เขาออกมาประกอบอาชีพได้หลังจากจบมัธยมปลาย(สายอาชีพ/สายสามัญ) และนำหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิตมาใช้ คือ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แต่ทางนี้ตรงข้ามกับค่านิยมของผู้ปกครองไทย 2. การนำเข้าวัยทำงานมาเติมในส่วนที่ขาด โดยต้องมีกระบวนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง โดยมีกระบวนการในการล้างคนเก่าที่ผิดกฎหมายให้หมดไปแล้วนำคนที่ถูกต้องเข้าทำงานโดยมีจำนวนหรือโควต้าที่ชัดเจน
สำหรับยุทธศาสตร์การเพิ่มคุณภาพแรงงาน มีความจำเป็นและต้องเร่งทำมากกว่าเดิม ต้องทำให้แรงงานมีทักษะทำงานได้มากกว่าเดิมและมีคุณภาพ ซึ่งผู้ประกอบการและภาครัฐต้องร่วมมือกัน หรือการจูงใจด้วยมาตรการทางภาษี เป็นต้น แรงงานทุกคนเมื่อเข้ามาสู่ระบบควรได้รับการดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต ซึ่งแรงงานทุกคนควรได้รับการคุ้มครอง เช่น สิทธิเท่าเทียมในการชดเชยรายได้ เป็นต้น ควรมีวางระบบที่ให้ความคุ้มครองแรงงานทุกคนเมื่อพ้นวัยทำงานแล้วให้สามารถอยู่ได้ดีตามสมควรในระยะยาว ส่งเสริมการรวมกลุ่มของแรงงานในลักษณะตัวแทนเพื่อพิทักษ์รักษาสิทธิประโยชน์/อำนาจต่อรองในพึงมีพึงได้

ส่วนการเข้าสู่ตลาดแรงงานอาเซียน นั้น เห็นว่าจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ ในการสร้างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานให้ชัดเจน เพราะเราไม่มีโอกาสจะกันคน(แรงงาน)จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยได้ จึงควรกำหนดมาตรฐานร่วมกันให้ชัดเจน และมีการดูแลกำกับให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยจำเป็นต้องมีองค์กรตัวแทนในการกำกับดูแล ระบบมาตรฐานสมรรถนะของประเทศ ที่ต่อไปก็จะเชื่อมโยงกับระบบการจ่ายหรือค่าจ้างด้วย ซึ่งเราสามารถใช้เป็นการกีดกันโดยธรรมชาติได้ และยังเป็นกลไกให้คนยกระดับตัวเองพัฒนาขึ้นมาให้เป็นแรงงานที่มีมาตรฐาน นอกจากนี้ควรเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ให้สามารถมีข้อมูลยืนยันความต้องการแรงงานในแต่ละประเภทที่ชัดเจนได้ ดังนั้นยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเพื่อให้ได้แรงงานต่างด้าวที่มีจำนวนและคุณภาพตามมาตรฐานแรงงานไทย ไม่เข้ามาแย่งแรงงานไทย โดยกำหนดให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม
ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า การที่เราจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น สิ่งที่ห่วงอยู่ตอนนี้คือ แรงงานในภาคบริการโดยเฉพาะ 32 อาชีพที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร รีสอร์ท เนื่องจากมีอาชีพหลายอย่างที่มีข้อตกลงกันในกลุ่มอาเซียนที่ใช้คนมาตรฐานไม่สูงมาก ทำให้ธุรกิจที่มีการลงทุนในประเทศไทยสามารถนำแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาได้ ซึ่งเป็นการเข้ามาแย่งงานคนไทยทางอ้อมและกันได้ยาก ภาคบริการเป็นตลาดแรงงานที่รองรับแรงงานคุณสมบัติหลากหลายทุกวุฒิการศึกษา หากมองให้เป็นโอกาสเราควรให้ภาคบริการช่วยดูดซับแรงงานปริญญาตรีที่มีการผลิตล้นเกินความต้องการอยู่มากและว่างงานสะสมทุกปีนั้นได้