ทีดีอาร์ไอแนะทำ ระบบโครงสร้างบำนาญแห่งชาติ

ปี2013-04-10

วันที่ 9 เมษายน นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงแรงงานเตรียมบูรณาการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เข้ากับกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 โดยเสนอเป็นทางเลือกที่ 3 ของระบบประกันสังคมมาตรา 40 ว่ากระทรวงการคลังคงเห็นถึงศักยภาพของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่สามารถส่งเสริมและจัดเก็บเงินสมทบจากแรงงานนอกระบบซึ่งเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีสำนักงานและเจ้าหน้าที่ ที่ครอบคลุมพื้นที่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณและบุคลากร

นางวรวรรณกล่าวว่า หากจะให้การบูรณาการเงินออมของประเทศมีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรบูรณาการระบบเงินออมของแต่ละกองทุน เช่น กองทุนชราภาพของ สปส. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มาอยู่ภายใต้โครงสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดผลตอบแทน และจัดตั้งหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ คล่องตัว โดยมีคณะกรรมการบริหารซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงาน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยดูแล ซึ่งจะต้องวางระบบบริหารที่มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ เนื่องจากเป็นเงินออมของคนไทยทั้งประเทศ

“การสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ ให้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคนทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และผู้ใช้แรงงาน ที่แยกเป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ที่รัฐบาลควรให้ความเท่าเทียมในการสนับสนุนร่วมจ่ายเงินสมทบในอัตราที่เท่ากัน” นางวรวรรณกล่าว

นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการ สปส. กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสังคมแห่งชาติขึ้นมาโดยแยกกองทุนชราภาพออกมาจากกองทุนประกันสังคมและแยกการบริหารเงินชราภาพออกเป็นกองทุนมาตรา 33 และมาตรา 39 และกองทุนมาตรา 40 เพื่อให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัวในการบริหารและการลงทุน ซึ่งในส่วนของมาตรา 40 ที่เป็นการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร แม่ค้าออมเงินทั้ง สปส.และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลังจะต้องมาหารือกันว่า จะกำหนดให้แรงงานนอกระบบทั้ง 24 ล้านคน ต้องเป็นสมาชิกกองทุนและจัดเก็บเงินสมทบผ่านระบบภาษีได้หรือไม่ เพื่อให้กองทุนมีรายได้ที่แน่นอนและสามารถนำเงินไปลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 10 เมษายน 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอแนะทำ ระบบโครงสร้างบำนาญแห่งชาติ