3 กองทุนสุขภาพไทยเหลื่อมล้ำ’ปวดหัว’ขรก.ได้4พัน-ประกันสังคมแค่1พัน

ปี2013-05-09

นักวิชาการชี้ระบบหลักประกันสุขภาพไทย 3 กองทุนเหลื่อมล้ำ 3 มิติ สิทธิประโยชน์ คุณภาพการรักษาค่าเบี้ยประกัน แนะมีระบบประกันสุขภาพระบบเดียว ชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานชุดเดียวยุบเลิกสวัสดิการข้าราชการแบบค่อยเป็นค่อยไป

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอเรื่อง”กลไกการอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ภายในการประชุมวิชาการ การวิจัยระบบสุขภาพประจำปี 2556 “จัดการความรู้สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า มิติความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก

1.สิทธิประโยชน์ เช่น การคุ้มครองบุคคลในครอบครัว ข้าราชการครอบคลุมบิดา มารดา ภรรยา และบุตร 3 คน ประกันสังคมและหลักประกันฯ เฉพาะผู้ประกันตน, ยาและเวชภัณฑ์ ข้าราชการเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ กรณีที่แพทย์บ่งชี้จึงสามารถใช้ยานอกบัญชีฯ ส่วนหลักประกันฯได้ยาในบัญชียาหลักฯ เท่านั้น และการชดเชยความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ข้าราชการและประกันสังคมไม่มี หลักประกันฯ มีมาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นต้น

2.คุณภาพในการรักษาพยาบาลระบบข้าราชการจะเบิกจ่ายตามจริงแต่ประกันสังคมและหลักประกันฯ จะเหมาจ่ายรายหัว รวมถึงอัตราการเบิกจ่ายในการรักษาโรคที่ต่างกัน ซึ่งข้อมูลจากสำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เช่นก ลุ่มอาการปวดหัวไม่มีภาวะแทรกซ้อน ค่าใช้จ่ายต่อหัวระบบข้าราชการ 4,107.39 บาทต่อคนประกันสังคม 1,512.23 บาทต่อคน หลักประกันฯ 2,650.90 บาทต่อคน เป็นต้น

และ 3.ภาระค่าใช้จ่ายเบี้ยประกัน ซึ่งระบบสวัสดิการข้าราชการและหลักประกันฯ ได้รับงบประมาณจากภาครัฐ 100% ขณะที่ประกันสังคมจะเป็นการสมทบจากลูกจ้าง/ผู้ประกันตัน 33.33% จากนายจ้าง 33.33% และรัฐ 33.33%

ดร.เดือนเด่น กล่าวอีกว่า ข้อเสนอแนะ 3 ข้อ 1.ต้องมีระบบประกันสุขภาพระบบเดียวโดยอาจไม่ต้องรวมกองทุนแต่พิจารณาในเรื่องการเบิกจ่ายจะเป็นระบบเหมาจ่ายหรือจ่ายตามจริง การคลังจะเป็นงบประมาณ เงินสมทบ หรือร่วมจ่ายของผู้ป่วย การคุ้มครองตั้งแต่ระยะเวลาที่คุ้มครองและสมาชิกครอบครัวที่คุ้มครอง 2.ต้องมีชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานชุดเดียวทั้งกรอบของการคุ้มครอง โรคที่ได้รับการคุ้มครอง ระดับของการคุ้มครอง และ 3.สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมจากชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานผู้ประกันตนหรือนายจ้างมิใช่รัฐจะต้องเป็นผู้จ่าย เพื่อการอุดหนุนด้านบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกัน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2556