‘อัมมาร’ เตือนจำนำข้าวอ่วมจี้รัฐเลิก ‘ประชานิยม’ สุดโต่ง

ปี2013-05-31


อัมมาร จี้รัฐ เลิกประชานิยมสุดโต่ง ไม่สร้างประโยชน์คนส่วนรวม ชี้โครงการจำนำข้าวดำเนินการต่อเจ๊งมากขึ้น ไม่หยุดที่ 2 แสนล้านบาท ด้าน สมเกียรติ ชี้ประชานิยมรุ่น 2 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่สร้างความสามารถให้ประชาชน-ภาคธุรกิจ

ระบุรถยนต์คันแรกผุดขึ้นหวังช่วยเอกชนญี่ปุ่นเสียหายจากน้ำท่วม ขณะที่ เกษียร-นิธิ ระบุ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่นโยบาย แต่อยู่ที่การเมืองแบบประชานิยม แนะเลิกสีเสื้อ

วานนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาสาธารณะ คิดใหม่ประชานิยม : จากรัฐบาลทักษิณถึงยิ่งลักษณ์ เราเรียนรู้อะไรบ้าง โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ, นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ และ นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายอัมมาร กล่าวว่า นโยบายประชานิยม มีทั้งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่ และที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เสียผลประโยชน์ ซึ่งเขาอยากให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายที่สุดโต่ง ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมส่วนใหญ่ เช่น โครงการรับจำนำข้าว

โครงการประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น อันนี้ถือเป็นประชานิยมที่ดีที่สุดเท่าที่รัฐบาลทำมา เพราะคนจนได้ประโยชน์แท้จริง และไม่ได้ใช้เงินจำนวนมากในการดำเนินการด้วย ซึ่งเท่าที่รัฐบาลบวกลบคูณหารดูแล้ว มีการใช้เงินเพียงแค่ 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น นายอัมมาร กล่าว

ส่วนประชานิยมที่เขาเห็นว่าสร้างผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประเทศชาติมากสุด คือ โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอยากให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวไป เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากนัก มีเพียงชาวนาระดับบนหรือกลุ่มนายทุนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ที่ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว

ยกจำนำข้าวทำการเงินรัฐเจ๊ง
นายอัมมาร กล่าวด้วยว่า โครงการรับจำนำข้าวยังทำให้ระบบกลไกควบคุมทางการเงินของรัฐบาลเป๋ไปหมด ซึ่งแต่เดิมคาดกันว่าโครงการนี้จะใช้เงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะเกิน 2 แสนล้านบาทแล้ว และการที่เป็นโครงการซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากขนาดนี้ หนีไม่พ้นที่จะต้องล้วงเงินภาษีของประชาชนมาใช้ โดยที่ประชาชนเองก็อาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าปล่อยไว้แบบนี้ เงินที่ใช้อุดหนุนก็คงเพิ่มแบบไม่มีสิ้นสุด และคงไม่หยุดที่ 2 แสนล้านบาท ท้ายสุดภาคการคลังก็คงจะเจ๊ง

สิ่งที่ผมไม่ชอบนโยบายประชานิยมเมืองไทย เพราะมันทำให้การเมืองถูกลง เนื่องจากทุกคนพูดกับประชาชนเหมือนกันหมดว่าคุณจะได้อย่างโน้น คุณจะได้อันนี้ โดยที่ทุกคนก็จะมัวแต่คิดเหมือนกันหมดว่าตัวเองจะได้อะไร ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง เคยถามคนกรุงเทพหรือไม่ว่าเห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ ซึ่งเขาก็คงไม่เห็นด้วย แต่เขาไม่พูดอะไรเพราะ เขาก็จะได้รถยนต์คันแรก ซึ่งผมคิดว่าแบบนี้มันไม่เวิร์ค นายอัมมาร กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า สิ่งที่อยากเห็นในภาคการเมืองไทย คือ อยากให้พรรคฝ่ายค้านมีอำนาจที่จะคัดค้านรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นเพราะกรอบความคิดแบบเดิมๆ หรือกรอบกฎหมายไม่เปิดโอกาสก็ได้ แตกต่างจากญี่ปุ่นที่พรรคฝ่ายค้านค่อนข้างมีอำนาจในการคัดค้านรัฐบาล

ชี้ประชานิยมรุ่น 2 ไม่สร้างความเข้มแข็ง
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เท่าที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงนโยบายประชานิยมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่านโยบายเหล่านี้ไม่ได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนเลย โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมรุ่นที่ 2 ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ถ้าเป็นประชานิยมรุ่นแรกสมัยรัฐบาล คุณทักษิณ ชินวัตร ยังพอเห็นประชานิยมที่พอจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอยู่บ้าง อย่างเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรืออย่าง โอท็อป ที่มีส่วนช่วยสร้างความสามารถให้กับภาคประชาชน แต่ประชานิยมรุ่น 2 นั้น ผมไม่เห็นตรงจุดนั้นเลย นายสมเกียรติ กล่าว

ชี้รถยนต์คันแรกหวังอุ้มญี่ปุ่น
กรณีโครงการรถยนต์คันแรกนั้น เท่าที่ทราบสาเหตุที่รัฐบาลเลือกดำเนินนโยบายนี้ เพราะต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 โดยที่ประชาชนในประเทศก็ได้รับผลพลอยได้เหล่านี้ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ประชานิยมเองก็มีผลเสียในตัวของมัน เพราะว่าการแทรกแซงกลไกตลาด มักจะมีผลที่ตามมาเสมอ อย่างกรณีรถยนต์คันแรกจะเห็นว่าพอทิ้งระยะไว้ ก็เกิดกรณีการคืนรถยนต์หรือการทิ้งเงินดาวน์รถยนต์เกิดขึ้นจำนวนมาก ปัจจุบันมียอดการทิ้งจองรถยนต์บางค่ายสูง 60%

กรณีรถยนต์คันแรกเป็นตัวอย่างของโครงการประชานิยม ประเภทลดแลกแจกแถมที่มีปัญหา และการทำประชานิยมในลักษณะนี้ พรรคการเมืองมักไม่ยอมบอกว่าต้นทุนที่ต้องใช้มีเท่าไร ถ้าทำเยอะๆ อนาคตภาคการคลังจะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งมันอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต อาจจะเป็นในรุ่นลูกหรือรุ่นหลานก็ได้ นายสมเกียรติ กล่าว

ชี้ปัญหาอยู่ที่การใช้อำนาจนักการเมือง
นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหานโยบายประชานิยมไม่ได้อยู่ที่ตัวนโยบาย แต่อยู่ที่การเป็นการเมืองแบบประชานิยม และการเมืองแบบอำนาจนิยม อยู่ที่การใช้อำนาจของนักการเมือง เพราะนโยบายต่างๆ ที่ออกมา ล้วนนำไปสู่การเมืองในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม นโยบายประชานิยมของประเทศไทยนั้น ไม่ได้ผิดแปลกไปจากประเทศอื่นในโลก เพราะเท่าที่เห็นการเมืองระดับโลกเองก็มีการทำนโยบายในลักษณะนี้ อีกทั้งเขายังเชื่อว่าการเมืองแบบเทคโนแครต ไม่อาจคานนโยบายประชานิยมได้

นอกจากนี้ นายเกษียร ยังกล่าวด้วยว่า การถกเถียงปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันทำได้ยาก เพราะติดคำว่าสีเสื้อ ซึ่งนักวิชาการหลายคนที่กล่าววิจารณ์ทางการเมืองมักจะถูกโยงเข้าไปเกี่ยวกับสีเสื้อต่างๆ ทำให้ไม่มีคนสนใจที่จะฟัง ดังนั้นหากจะให้มีการถกเถียงทางการเมืองอย่างได้ผลและเป็นประโยชน์จริงๆ ควรต้องเลิกแนวคิดเรื่องสีเสื้อทิ้งไป

เมื่อก่อนผมเคยวิจารณ์ระบบทักษิณ จนถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเสื้อเหลือง แต่ตอนนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นนักวิชาการเสื้อแดง เมื่อถูกโยงให้เกี่ยวกับสีเสื้อแล้ว เวลาพูดอะไรไปก็ไม่ค่อยจะมีคนฟัง ทำให้การถกเถียงทางการเมืองในด้านนโยบายมันลำบาก ดังนั้นเราควรที่จะต้องปรับเปลี่ยนในเรื่องเหล่านี้ใหม่

นิธิหวังประชาชนรวมกลุ่มคานอำนาจ
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า นโยบายประชานิยมนั้นไม่ใช่มีแต่ผลเสีย เพราะถ้าประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันได้ เช่น กลุ่มสหภาพแรงงาน และมีการประสานกับรัฐบาล มีกลไกในการตรวจสอบที่ดี ก็เชื่อว่าจะสามารถถ่วงดุลในอำนาจของประชานิยมได้ เพียงแต่เมืองไทยนั้นการรวมกลุ่มกันยังค่อนข้างอ่อนแอ อย่างกรณีของสหภาพจะเห็นว่าไม่ค่อยมีส่วนร่วมในการแสดงออกมากนัก อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนั้นได้ เขาเห็นด้วยว่าควรต้องเลิกในเรื่องสีเสื้อทางการเมือง

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงโครงการจำนำข้าวว่า ความจริงแล้วโครงการนี้ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชาวนาจำนวนมาก ซึ่งอยากให้คิดในมุมกลับว่า โครงการนี้ทำเพื่อชาวนาระดับล่าง โดยที่ชาวนาระดับบนได้ประโยชน์ ดังนั้นการขาดทุนบ้างจึงไม่น่าจะใช่ปัญหา

ยิ่งลักษณ์ชี้บาทแข็งทำระบบข้าวเสีย
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีฝ่ายค้านอภิปรายโจมตีการรับจำนำข้าว ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2557 นั้น วัตถุประสงค์ในโครงการรับจำนำข้าวนั้น เราต้องการยกระดับรายได้ของเกษตรกร ที่จะทำให้เกิดรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย และเมื่อเกษตรกรมีรายได้จากการจำนำข้าว ก็จะสามารถมาใช้จ่าย และส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

ปัญหาที่มีการพูดคุยในสภา ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ เรื่องการซื้อข้าวบางส่วนอยู่ในขั้นตอนการชี้แจงของ ป.ป.ช. ในเรื่องของซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และอีกประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือ เรื่องการระบายข้าว ซึ่ง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ได้ตอบไปชัดเจนแล้ว

กรณีที่โครงการนี้ปิดบัญชีแล้วขาดทุน 2.6 แสนล้านบาทจริงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวย้อนถามว่า ได้ฟังนายบุญทรงยืนยันหรือยังคะ ต้องฟังหน่วยงานและกระทรวงที่เขารับผิดชอบดีกว่า

โครงการรับจำนำข้าวเพื่อยกระดับเกษตรกร เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน แต่ในทางปฏิบัติ กลับทำให้ระบบการค้าข้าวเสียไป โดยเฉพาะการส่งออก จะแก้ปัญหาอย่างไร นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า การระบายข้าวมีถึง 5 วิธี ก็พยายามทุกวิธี วันนี้การส่งออกมีปัญหาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ก็อาจทำให้ราคาต่างๆ ไม่สามารถแข่งขันได้ แต่ทั้งหมดที่ต้องมอง คือ รายได้ของเกษตรกร


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 พฤษภาคม 2556