tdri logo
tdri logo
12 พฤษภาคม 2013
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอจี้รัฐทำข้อตกลงคุณธรรม หนุนเอกชน-ปชช.ร่วมตรวจสอบทุจริต 2 ล้านล้าน

ทีดีอาร์ไอชี้ลงทุน 2 ล้านล้านต้องศึกษาความคุ้มทุน หนุนเอกชน-ปชช.ร่วมคลุกวงในตรวจสอบทุกขั้นตอน ‘สิริลักษณา’ ยกบทเรียนคลองด่าน ใช้เทิร์นคีย์ เปิดช่องทุจริตทุกขั้น

isranews20130510

วันที่ 10 พฤษภาคม สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง “เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ลงทุนอย่างไรให้โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ : นโยบายของรัฐและบทบาทของประชาสังคม” ณ ห้องประชุมชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ โดยมี รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ 2 ล้านล้านบาท เป็นการวางกรอบยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งของประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด โดยเป็นโครงการที่ผ่านการคิดและผลักดันจากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งต้องการให้เกิดการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งนั้น จึงไม่สามารถเครดิตเฉพาะรัฐบาลนี้ได้

“ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ศึกษาแล้วพบว่าหากมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตร้อยละ 1-2 ต่อปี ซึ่งขณะนี้รับว่าความพร้อมของทุกโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนยังไม่ได้สำเร็จ 100% เนื่องจากมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี บางโครงการจึงยังอยู่ระหว่างการศึกษา”

รศ.ดร.ชัชชาติ กล่าวต่อว่า ภาคส่วนที่กังวลคือปัญหาแรงงานว่าจะมีพอหรือไม่ แต่ก็เป็นข้อดีที่วางยุทธศาสตร์โครงการไว้ 7 ปี ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาบุคลกรให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยล่าสุดมหาวิทยาลัยเริ่มมีการตั้งสาขาวิศวกรรมระบบรางแล้ว

แจงโครงการกู้เงินคงไม่ผ่านหากมีวิกฤติศก.โลก มั่นใจไทยไม่เจ๊ง

สำหรับข้อกังวลที่หลายฝ่ายห่วงว่าหากเศรษฐกิจโลกมีปัญหาจะกระทบต่อโครงการและสถานะการคลังประเทศนั้น รศ.ดร.ชัชชาติ ชี้แจงว่า เนื่องจากโครงการนี้ไม่ได้กู้ครั้งเดียว 2 ล้านล้านบาท แต่จะทยอยกู้โดยคำนึงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกด้วย และหากมีปัญหาจริงก็เชื่อว่าโครงการคงไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้เงินได้ในขณะนั้น

“2 ล้านล้านบาท เป็นแค่กรอบ ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ให้หมด และเมื่อดำเนินการจริงหากมีข้อติดขัดก็อาจปรับลดในบางส่วน บางโครงการได้ แต่ยืนยันว่าทุกโครงการจะเป็นไปตามขั้นตอน ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มทุนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักปกติ”

อย่างไรก็ตาม เรื่องความความโปร่งใสและการทุจริตคอร์รัปชั่น รศ.ดร.ชัชชาติ ก็ยอมรับว่าส่วนตัวแล้วก็กังวลเช่นกัน เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่หากกลัวจนไม่เดินหน้าโครงการใดๆ ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสหลายด้าน ฉะนั้น วิธีการคือจะให้ประชาชน ภาคประชาสังคมและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมเข้าตรวจสอบโครงการให้มีคุณภาพและโปร่งใสที่สุด รวมถึงพยายามคุมราคากลางให้เข้มข้นขึ้น

จากนั้นมีเวทีเสวนา “เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท : ข้อเสนอต่อนโยบายของรัฐและบทบาทของประชาสังคม” โดยมี รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และ ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ร่วมเสวนา

อ้างเร่งด่วนใช้ ‘เทิร์นคีย์’ ทำโครงการใหญ่ ห่วงซ้ำรอยคลองด่าน

รศ.ดร.สิริลักษณา กล่าวในบทบาท ป.ป.ช.ว่า กังวลเรื่องขั้นตอนการดำเนินโครงการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey) ซึ่งปัจจุบันโครงการของรัฐใช้กันเป็นจำนวนมาก โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนและข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทั้งที่ในอดีตก็มีปัญหาจากการใช้รูปแบบการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นแล้วว่าหลายโครงการไม่เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ และโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

เปิดบทเรียน ‘คลองด่าน’ มีไม่กี่ตระกูลรับประโยชน์หลายโครงการ

ยกกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ รศ.ดร.สิริลักษณา ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินโครงการแบบที่ทำสัญญาไปก่อน แล้วค่อยศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และทำประชาพิจารณ์ในภายหลังนั้นขัดรัฐธรรมนูญว่าด้วยโครงการขนาดใหญ่หรือไม่ และการที่ผู้รับผิดชอบร่างโครงการและเจ้าของโครงการผู้ประเมินผลเป็นกลุ่มเดียวกัน อาจมีประโยชน์ทับซ้อนกันหรือไม่ โดยกลุ่มบริษัทที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการประเภทนี้ คือ กลุ่มบริษัทผู้รวบรวมและขายที่ดินให้โครงการ กลุ่มบริษัทผู้รับเหมา (Turnkey) และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา

“จากกรณีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ป.ป.ช.พบว่า มีหลายขั้นตอนที่ไม่ถูกต้อง ตั้งแต่การออกโฉนด การจัดหาที่ดินไม่ถูกต้อง สัญญาที่เป็นโมฆะ และการตรวจจ้างที่ไม่ชอบ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาที่ดินและกลุ่มบริษัทรับเหมาเป็นกลุ่มบริษัทที่มีผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นในตระกูลที่มีนามสกุลซ้ำเดิมแต่ละโครงการไขว้กันไปมา จึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่โครงการบริหารจัดการน้ำและโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทจะซ้ำรอย”

ขณะที่ ดร.สุเมธ กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอเห็นด้วยกับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ด้วยเพราะประเทศไทยไม่มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบรางมาเป็นเวลานาน แต่ต้องมีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการอย่างเป็นระบบ เปรียบเทียบความต้องการการเดินทางและขนส่ง และเปิดเผยผลการศึกษาความเป็นไปได้ให้ประชาชนรับทราบ

สำหรับแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในโครงการใหญ่ ดร.สุเมธ แนะแนวทางว่า ในขั้นตอนการวางแผนและออกแบบ ต้องเพิ่มหน่วยงานตรวจสอบโครงการ ส่งเสริมความซื่อตรงในงานวิศวกรรมที่ปรึกษา ส่วนขั้นการประมูล ระหว่างการก่อสร้าง ระหว่างดำเนินโครงการและบำรุงรักษา ให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม

ภาคประชาสังคมพร้อม ‘คลุกวงใน’ ตรวจสอบ 2 ล้านล้านทุกขั้นตอน

ด้านนายวิชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ได้ทำ ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity pact) 3 ฝ่าย ระหว่างภาคราชการ เอกชนและบริษัทผู้ดำเนินโครงการ ที่ลงนามร่วมกันป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการของกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งล้อกับมาตรา 103/7 และ 103/8 ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ที่ระบุว่าหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้

“ขณะนี้ทางองค์กรฯ พร้อมที่จะเซ็นสัญญาข้อตกลงดังกล่าว และได้คัดเลือกอาสาสมัครผู้ที่จะเข้าไปร่วมตรวจสอบในโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้วประมาณ 30 คน จากตั้งเป้าไว้ 100 คน ที่มาจากสมาคมวิชาชีพ วิศวกรที่ปรึกษา สถาปนิก บัญชี นักกฎหมาย อดีตข้าราชการ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและภาคเอกชน เพียงแต่รอทางฝั่งรัฐบาลกำหนดวันเท่านั้น

โดยที่เครือข่ายจะเข้าไปร่วมคลุกวงในในทุกโครงการตั้งแต่เริ่ม เขียนทีโออาร์ วางคุณสมบัติต่างๆ วิธีการประมูล ออกราคากลาง การประมูล ดำเนินงาน การตรวจรับงานและจ่ายเงินว่ามีขั้นตอนใดผิดปกติหรือไม่ หากพบว่ามีจะให้ข้อมูลทั้งกับรัฐบาลและ ป.ป.ช.ร่วมตรวจสอบ และพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนร่วมกันติดตามตรวจสอบข้อมูลด้วย”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอจี้รัฐทำข้อตกลงคุณธรรม หนุนเอกชน-ปชช.ร่วมตรวจสอบทุจริต 2 ล้านล้าน

นักวิจัย

ดร. สุเมธ องกิตติกุล
รองประธานสถาบัน ดูแลงานด้านการบริหารระบบงานภายใน / ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ