จ่อลอยตัวราคาน้ำตาล ก.อุตฯรับลูกทีดีอาร์ไอ ให้อิงตลาดโลกสิ้นปีนี้

ปี2013-05-13

นายสมศักดิ์ สุวัฒิกะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้คณะทำงานผลการศึกษาโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ที่มีนางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานจะหารือถึงแนวทางการดำเนินงานโดยเฉพาะแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการประกาศใช้ให้ทันฤดูหีบปี 56/57 หรือก่อนพฤศจิกายน 2556 นี้

“คงจะนำเอาผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอมาพิจารณาประกอบแนวทางโดยจะดำเนินงานในส่วนที่ทำได้ก่อนก็จะพยายามจะให้จบโดยเร็วซึ่งทั้งหมดก็ต้องเชิญทั้งฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายมาร่วมกันหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ไปในทิศทางเดียวกัน” นายสมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้แนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้นเห็นว่าจำเป็นจะต้องพิจารณาก่อนที่ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 17 เซนต์ต่อปอนด์ และมีแนวโน้มอีก 1-2 ปียังคงทรงตัวเนื่องจากผลผลิตของโลกเริ่มล้นตลาดประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการลดต่ำ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะลอยตัวน้ำตาลทรายในช่วงราคาน้ำตาลขาลง แต่ขณะนี้ทั้งฝ่ายโรงงานและชาวไร่ยังคงคัดค้านการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามแนวทางของทีดีอาร์ไอในประเด็นที่ฝ่ายของตนเสียเปรียบ

“ทีดีอาร์ไอเสนอให้ลอยตัวอิงตลาดโลกไปเลยเพราะเกรงว่าการมีเพดานต่ำสุดสูงสุดไว้แล้วจะคุมราคาไม่ให้เกินเพดานได้มากน้อยเพียงใดหรือต้องไม่เกิดการฮั้วราคา” แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ ทีดีอาร์ไอ โดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จัดทำบทวิจัย “การศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย”ชี้ว่า ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานในสัดส่วน 70:30 ที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525/26 ควรได้รับการปรับปรุง โดยแบ่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น รวมทั้งยกร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ขึ้นมาด้วย โดยส่วนแบ่งของชาวไร่อ้อยก็ควรต้องเพิ่มขึ้นมากกว่าสัดส่วน 70:30 ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลอินเดียก็เสนอระบบที่ให้คิดส่วนแบ่งจากรายได้จากทุกผลิตภัณฑ์ที่ 70:30 แต่ให้เพิ่มเป็น 75:25

พร้อมเสนอว่าสำหรับตลาดน้ำตาลภายในประเทศ ให้รัฐเลิกควบคุมราคาน้ำตาล และหันมาควบคุมปริมาณแทนเมื่อรัฐเลิกควบคุมราคาก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำตาลหายไปจากตลาดอีกต่อไป และถ้ารัฐควบคุมให้มีปริมาณน้ำตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศราคาน้ำตาลภายในประเทศก็จะไม่สูงกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังเสนอให้รัฐอนุญาตให้นำเข้าน้ำตาลทรายโดยเสรีเพื่อป้องปรามการรวมหัวกันตั้งราคาน้ำตาลที่สูงเกินควร


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ในชื่อ จ่อลอยตัวราคาน้ำตาล ก.อุตฯรับลูกทีดีอาร์ไอ ให้อิงตลาดโลกสิ้นปีนี้