‘วิโรจน์’ ยันขาดทุนจำนำข้าว ตกถึงชาวนา

ปี2013-06-19
วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)
วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)

“วิโรจน์”เชื่อขาดทุนจำนำข้าวผลประโยชน์ยังตกสู่ชาวนา แต่ประมาณ 3 หมื่นล้านขาดทุนจากการดำเนินการ ประเมินขาดทุนแค่1แสนล้าน

จากกรณี กระแสวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนำข้าว ภายใต้การบริหารงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำลังเป็นที่ถกเถียงกันมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ มีการใช้เงินแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท จนกระทบฐานะการคลังของประเทศ รวมถึงการปรับลดอันดับเครดิต จากสถาบันจัดอันดับเครดิตระหว่างประเทศ แม้ล่าสุดนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะออกมายอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจปรับนโยบายเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับราคาข้าวในตลาดโลก

โดยในการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น”ข้อเสนอในการปรับปรุงนโยบายจำนำข้าว” พร้อมสรุปปัญหาที่ผ่านมาของนโยบายดังกล่าว

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า เรื่องการประกันราคาพืชผลทางการเกษตรหรือการจำนำข้าวนั้น จริงๆแล้วเกษตรกรและชาวนาไทย มีการเรียกร้องให้รัฐบาลทุกยุคดำเนินโครงการมาแล้วหลายสิบปี แต่เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เงินเยอะจึงไม่มีรัฐบาลในยุคไหนที่กล้าทำ หรือแม้ว่าจะมีการทำโครงการในทำนองนี้มาบ้าง แต่ก็เป็นการทำแบบฝนตกไม่ทั่วฟ้า ดังนั้นเม็ดเงินหรือผลประโยชน์จึงไม่ตกไปถึงมือของเกษตรกรและชาวนาตัวจริง เนื่องจากอำนาจการต่อรองราคาตกอยู่กับโรงสีข้าวเสียเป็นส่วนใหญ่

นายวิโรจน์ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ดำเนินโครงการจำนำข้าว ได้มีการปรับเปลี่ยนและลดปัญหาในเรื่องอำนาจการต่อรองราคาที่อยู่ในมือโรงสีให้หายไป แต่เรื่องมูลค่าการขาดทุนที่มีการพูดตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1 แสนกว่าล้านนั้น เป็นการขาดทุนจากการที่ชาวนาสามารถขายข้าวได้ในราคาที่สูงกว่าตลาดโลก ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จึงไปตกอยู่ที่มือของชาวนา ส่วนนอกเหนือจากนี้ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาทนั้น เป็นส่วนการขาดทุนที่เกิดจากการดำเนินงาน สรุปแล้วไม่ว่ารัฐบาลจะเสียเงินทั้งหมดไปกับนโยบายจำนำข้าว ไปกว่า 1.4 -1.5 แสนล้านบาท/ปี แต่ผลประโยชน์ที่ตกไปอยู่กับชาวนา จากการประเมินของธกส.จะอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท หรือทีดีอาร์ไอประเมินไว้ที่ 1 แสนล้านบาท เราจึงไม่ค่อยเห็นม็อบชาวนาออกมาเรียกร้องในช่วงนี้ เพราะถึงแม้โครงการจะมีปัญหาบ้างแต่เม็ดเงินก็ตกถึงมือ

ชี้รัฐสอบตกระบายข้าวต้นเหตุขาดทุนสูง

นายวิโรจน์ กล่าวว่า แม้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะไปตกอยู่ที่ชาวนา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหันกลับมาดูผลงานในการระบายข้าวด้วย ล่าสุดรัฐบาลได้ตอบกระทู้ในสภาว่าขณะนี้ได้ขายข้าวทั้งข้าวเก่าและข้าวใหม่ไปแล้วกว่า 7 ล้านตัน คิดเป็นเงินประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลขายข้าวสารทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวธรรมดาในราคาเฉลี่ย 13,750 บาท/ตัน ในขณะที่รัฐบาลซื้อข้าวเปลือก ราคา 15,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท/ตัน ตรงนี้จึงทำให้เห็นว่าผลงานการระบายข้าวของรัฐบาลนั้น ขายได้ต่ำกว่าราคาในตลาดโลก และต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลได้ประมาณการไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งตอนแรกมีการประมาณการว่ารัฐบาลจะขาดทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่เป็นการขายออกไปในราคาตลาดโลก แต่เมื่อขายได้ต่ำกว่าราคาตลาดโลกส่วนต่างขาดทุนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.3 – 1.5 แสนล้านบาท

“สรุปแล้วคือขณะนี้รัฐบาลขาดทุนมากกว่าที่ได้มีการประมาณการเอาไว้ จึงแสดงให้เห็นว่าแนวคิดของรัฐบาลที่คาดว่าเมื่อรัฐกลายเป็นผู้ผูกขาด และจะทำให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น รวมทั้งสามารถขายข้าวได้ตามราคาตลาดโลกนั้น ไม่เกิดขึ้นจริง ผมเคยเสนอว่าจริงๆ แล้ว รัฐบาลควรจะซื้อข้าวเข้ามาเท่าไหร่ ก็ทยอยประมูลออกไปอย่างโปรงใสให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก ซึ่งการทำวิธีนี้น่าจะทำให้ขาดทุนปีละแสนล้านบาท แต่การเก็บข้าวไว้ขายเองประกอบกับไม่สามารถขายได้ในราคาตลาดโลก หลายคนจึงมองไปที่เรื่องของการโกงกิน”นายวิโรจน์ กล่าว

แนะให้โควตาครัวเรือนตามเพดานผลิต

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีสิทธิ มีอำนาจ และมีหน้าที่ในการกระจายรายได้ให้กับประชาชน แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่มีสิทธิจะทำโครงการที่ไร้ประสิทธิภาพ ดังนั้นเมื่อประเมินดูแล้วโครงการจำนำข้าวไปไม่ไหว เนื่องจากขาดทุนเพราะรัฐซื้อข้าวมาในราคาแพงแต่ขายถูก ประกอบกับเงินบางส่วนก็หมดไปกับต้นทุนค่าดำเนินการ รัฐบาลก็ควรจะประเมินดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ชาวนายังได้ประโยชน์อยู่ แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ทำให้โรงสีมีอำนาจต่อรองราคาเช่นเดิม ถ้าจะถอยกลับไปทำแบบโควตา ก็ควรจะเป็นแบบโควตาครัวเรือนเป็นเพดานที่ลิงค์กับตัวชาวนา แต่ไม่ควรเป็นเพดานที่ตั้งขึ้นมาและให้สิทธิโรงสีเป็นผู้เลือกซื้อเอง

“นโยบายใดๆ ก็ตามที่รัฐพยายามใช้วิธียกราคาให้สูงกว่าตลาดโลก ในขณะที่ประเทศเราเองก็ยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ล้วนแล้วแต่สร้างปัญหาทั้งนั้น แม้กระทั้งนโยบายประกันราคาในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ แนวโน้มก็มาในทางนี้เหมือนกัน เป็นการส่งเสริมแรงจูงใจให้มีการปลูกข้าวมากขึ้น ซึ่งในระยะยาวจะเป็นปัญหากับประเทศ แต่ผมยังคิดว่ายังไงรัฐก็ยังควรจะช่วยเหลือชาวนาอยู่ เพราะการเกษตรมักจะมีความเสี่ยง ชาวนาไม่รู้ว่าพอเก็บเกี่ยวแล้วจะขายได้ราคาเท่าไหร่ ดังนั้นการช่วยเหลือจึงควรเน้นไปที่เกษตรกรที่ฐานะไม่ดี ตัวอย่างโครงการจำนำราคาในหลายประเทศ จะอิงเป้าหมายตามราคาตลาดโลก เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวหากราคาพืชผลต่ำกว่าเป้าหมาย รัฐจะเข้าไปช่วยชดเชยรายได้ตรงนี้ อย่างน้อยเมื่อราคาพืชผลตกลง เกษตรกรก็ยังคงมีรายได้เท่าเดิมอยู่ แต่รัฐไม่ควรทำหน้าที่ในการไปยกระดับราคาให้สูงขึ้น”นายวิโรจน์ กล่าว

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกยุคสมัยรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรและชาวนามาโดยตลอด และมีการปรับกระบวนการสนับสนุนรายได้มาเรื่อยๆ โดยสมัยก่อนมีหลักคิดว่าเมื่อปริมาณข้าวล้นตลาด ก็จะต้องมีการดึงออกไปประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งการทำแบบนี้เป้าหมายค่อนข้างชัดเจน แต่ในช่วงหลังนโยบายได้เปลี่ยนไป เพราะมีการกำหนดราคารับซื้อ 15,000 -20,000 บาท ซึ่งหากถามในฐานะของพ่อค้าเรากลัวไหมก็ต้องตอบตามตรงว่ากลัว บางคนอยากให้กลับไปใช้ระบบตามกลไกตลาดปกติ แต่หลายคนก็ไม่อยากเห็นเกษตรกรขาดทุน ซึ่งพอตัวเลขขาดทุนมันออกมาลักษณะนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะทำใจรับได้ไหม ถ้าทำใจไม่ได้ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าเกษตรกรจะยืนอยู่ตรงจุดไหน

เสนอผสมผสาน”จำนำ–ประกันรายได้”

“ผมมองว่าตัวนโยบายควรจะต้องมีการปรับปรุง แต่หัวใจสำคัญต้องดูว่าเกษตรกรจะอยู่ได้อย่างไร เพราะโครงการจำนำเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยเหลือ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับตลาดส่งออก เพราะต้องไม่ลืมว่ากว่าจะมีลูกค้าได้ต้องใช้เวลา 30-40 ปี ในขณะที่ทิศทางตลาดโลกราคาลดลงหมด พม่า กัมพูชา ก็เร่งผลิตข้าวส่งออกมากขึ้น ซึ่งข้าวเป็นพืชที่ทดแทนกันได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้คือเราผลิตและส่งออกไม่ได้ เพราะเราไปตั้งกำแพงราคาไว้ แต่อย่างที่บอกว่ากระบวนการเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมี รัฐยอมจ่าย 15,000 บาท ผลเสียเป็นแสนล้าน ก็ต้องดูว่าคนในประเทศพอใจไหม ส่วนตัวแนะนำว่ารัฐบาลควรจะเลือก วิธีผสมผสานระหว่างโครงการจำนำข้าวกับประกันรายได้ แบ่งตามความเหมาะสมของพื้นที่ จะช่วยให้ชาวนาได้รับประโยชน์มากที่สุด” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรแห่งชาติ กล่าวว่า ตราบใดที่ทางรัฐบาลไม่ได้ออกนโยบายมาทำร้ายเกษตรกร ย่อมถือว่าไม่ใช่ศัตรูของเกษตรกร และที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมช่วงนี้ไม่ค่อยมีม็อบชาวนา ก็เพราะส่วนใหญ่เห็นว่าได้รับประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าว แม้ว่าชาวนาที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจะเป็นชาวนาในภาคกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สามารถทำนาได้ถึงสองครั้ง และอยู่ในพื้นที่ชลประทาน 100% ซึ่งแตกต่างจากชาวนาในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในภาพรวมแล้วชาวนาทั่วประเทศก็ยังพอใจ

ชี้ให้ชาวนามีส่วนร่วมปรับเปลี่ยนนโยบาย

“สำหรับข้อเสนอต่อนโยบายจำนำข้าว ส่วนตัวคิดว่าจากนี้เราไม่สามารถปลูกข้าวคุณภาพต่ำแข่งกับเพื่อนบ้าน แต่เราต้องพัฒนาการปลูกข้าวคุณภาพสูงโดยการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว จะได้ไม่แข่งในตลาดล่างเปลี่ยนเป็นการแข่งขันในตลาดบน โดยหากจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายจำนำข้าวเพื่อให้ผลกระทบน้อยลง ก่อนจะมีการตัดสินใจใดๆ อย่างน้อยก็จะต้องมีการพูดคุยและขอฉันทานุมัติจากชาวนาก่อน นอกจากนี้ในอนาคตจะเสนอกับท่านนายกฯ ให้สภาเกษตรทุกอำเภอมีเครื่องวัดความชื่น เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากโรงสี”นายประพัฒน์ กล่าว

ด้าน นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ในฐานะชาวนายอมรับว่าโครงการจำนำข้าวช่วยให้ชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ในเมื่อนโยบายดังกล่าวประสบปัญหา หากจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการก็อยากเสนอให้เปลี่ยนมาใช้เป็นโควตาระหว่างครัวเรือ โดยตั้งวงเงินไปเลยว่าแต่ละครัวเรือนจะได้เท่าไหร่ เช่น ครัวเรือนละ 4 แสนบาท แต่เมื่อขายข้าวเข้าโครงการได้เพียง 3 แสนบาท เหลือวงเงินอีก 1 แสนบาท รัฐก็เก็บคืนไป หรือหากว่ารัฐไม่ไหวจริงๆ อย่างน้อยก็ขอให้รับซื้อข้าวที่ตันละ 10,000 บาท แต่ข้อแม้จะต้องกำหนดความชื่นอยู่ที่ 25-27 อันนี้ชาวนาพอรับได้ แต่ถ้าความชื่นต่ำว่า 25 ก็ได้อีกราคาหนึ่ง หรือว่าจะทำแบบผสมผสานก็ได้ คือ รับจำนำไปในภาคกลาง ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ให้ทำโครงการประกันรายได้ไป


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 19 มิถุนายน 2556 ในชื่อ ‘วิโรจน์’ยันขาดทุนจำนำข้าว ตกถึงชาวนา