ติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ FTA ภาคอุตสาหกรรมไทย ปี 2555 เตรียมความพร้อมสู่ AEC

ปี2013-06-30

ดร. สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยในงานสัมมนา “ติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ FTA ภาคอุตสาหกรรมไทย ปี 2555 เตรียมความพร้อมสู่ AEC” เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2556 ว่า ในฐานะที่ สศอ. มีหน้าที่โดยตรงในการจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย สศอ. จึงร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินโครงการติดตามการใช้ประโยชน์จาก FTA ต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ทำร่วมกับประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ หลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนหรือเออีซีโดยสมบูรณ์ในปี 2558

ด้าน ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอเปิดเผยผลการศึกษาการใช้ประโยชน์จาก FTA ว่า ในปี 2555 ภาคส่งออกไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA รวมเป็นมูลค่า 118,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 663 ล้านบาท โดยผู้ส่งออกสินค้าไปประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุดถึง 72,927 ล้านบาท  แม้ว่าในภาพรวม ภาคส่งออกจะใช้ประโยชน์ไม่แตกต่างจากปีก่อนมากนัก  แต่พบว่ามีสินค้าส่งออกบางรายการที่มีการใช้ประโยชน์ลดลงมาก เช่น รถปิคอัพไม่เกิน 5 ตันที่ส่งออกไปออสเตรเลีย และรถยนต์ขนาดลูกสูบ 1,000-1,500 ซีซีที่ส่งออกไปอินโดนีเซีย ซึ่งเดิมเคยใช้ประโยชน์เต็มที่ 100% ลดลงเหลือ 43% และ 35% ตามลำดับ  ในขณะเดียวกันภาคนำเข้าไทยได้รับประโยชน์ด้านภาษีจาก FTA รวมเป็นมูลค่า 91,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 20,289 ล้านบาท โดยผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุดที่ 39,917 ล้านบาท

แม้ว่าโดยภาพรวม ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าที่ค้าขายกับประเทศในกลุ่มอาเซียนจะได้รับประโยชน์ในระดับสูง แต่ยังพบว่ามีผู้ประกอบการที่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA กับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้อย่างเต็มที่  โดยผู้ส่งออกและผู้นำเข้าไทยยังใช้สิทธิประโยชน์ต่ำกว่าระดับเต็มที่ 92,928 ล้านบาท และ 12,286 ล้านบาท ตามลำดับ

ดร.เชษฐากล่าวต่ออีกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ผู้ส่งออกซิเมนต์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก ยาง เซรามิก กระดาษ ไปยังประเทศอาเซียนควรต้องรีบปรับตัวอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดลดลงและยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้   ส่วนผู้ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง อัญมณี และยา ที่มีส่วนแบ่งตลาดลดลงเช่นกัน แต่มีแนวโน้มใช้ประโยชน์จาก FTA ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ที่ผ่านมา สศอ. และทีดีอาร์ไอ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการระบุประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ภาคเอกชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่  นอกจากนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนสูงสุด สศอ.และทีดีอาร์ไอยังวางแผนที่จะศึกษาการใช้ประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่กีดกันการเข้าสู่ตลาดของสินค้าไทย หรือมีผลให้ต้นทุนสินค้าไทยสูงจนแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้

—–

เอกสารประกอบการสัมมนา

1. เอกสารการนำเสนอ Icon_PDF

2. การใช้ประโยชน์ FTA รายสาขา Icon_PDF