สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ไม่มีใครคาดคิดว่ารัฐบาลจะกล้าตัดสินใจลดราคาจำนำข้าวและจำกัดวงเงินรับจำนำ อย่างกระทันหัน (ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกนโยบายการจำนำข้าวทุกเม็ดโดยปริยาย) เพราะตลอดเวลารัฐบาลมักจะอ้างเสมอว่าโครงการนี้เป็นนโยบายที่ดี สามารถเพิ่มรายได้ให้ชาวนา ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลสามารถขายข้าวให้รัฐบาลต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก
สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องลดราคาจำนำข้าว น่าจะเกิดจากรายงานของมูดดี้ส์ที่แสดงความกังวลต่อการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 2 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มว่ารัฐบาลต้องใช้เงินเพิ่มเติมอีกจำนวนมากในการรับจำนำทำให้รัฐบาลอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายงบประมาณสมดุลในปี 2560 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลดเครดิตของประเทศไทย การตัดสินใจครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเพื่อไทยยอมรับฟังคำเตือนของฝรั่งหัวแดง ต่างจากในสมัยรัฐบาลทักษิณที่เคยแสดงความไม่พอใจว่า “ยูเอ็นไม่ใช่ พ่อ”
ยิ่งกว่านั้นการที่รัฐบาลยอมผิดสัญญาตามที่เคยหาเสียงไว้กับชาวนา ก็แสดงว่ารัฐบาลยอมรับว่าการจำนำข้าวมีปัญหาการคลังอย่างรุนแรง นี่คือ บทเรียนสำคัญว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปประชาชนต้องใช้สติในการพิจารณาว่า “นโยบาย” ที่พรรคการเมืองต่างๆ นำเสนอนั้นจะมีผลเสียหายอย่างไร ไม่ใช่มองแต่ประโยชน์ที่ตนจะได้เพียงอย่างเดียว พรรคการเมืองเองก็ควรมีความรับผิดชอบที่จะต้องวิเคราะห์ผลดีผลเสียของนโยบายต่างๆก่อนที่นำนโยบายออกมาเสนอขายต่อประชาชน ผู้บริหารพรรคการเมืองต่างก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และมีนักวิชาการที่มีความรู้สูง สังคมไทยคงไม่ต้องออกกฎกติกาบังคับเรื่องนโยบายหาเสียง หรือให้องค์กรอิสระมาตามตรวจสอบนโยบายหาเสียง นักการเมืองต่างคนต่างก็โตเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ใช่เด็กๆ
การตัดสินใจลดราคาจำนำลงอย่างรวดเร็วดูเหมือนจะเน้นเฉพาะการเฉือนรายได้ชาวนาเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุนจากราคาจำนำที่สูงลิบลิ่วเท่านั้น แต่ภาวะขาดทุนในโครงการจำนำข้าวมิได้เกิดจากราคาจำนำเพียงอย่างเดียว การขาดทุนยังเกิดจากการอุดหนุนผู้บริโภค ค่าใช้จ่ายของโครงการ ตลอดจนการขาดทุนที่เกิดจากการระบายข้าวไม่โปร่งใสและการทุจริตในโครงการ นอกจากนั้นการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวอย่างกระทันหันอาจส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกลดลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้ชาวนาที่อยู่นอกโครงการจำนำอาจประสบภาวะขาดทุนจากการขายข้าว คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติต้องนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาโดยเร่งด่วน
1. การลดภาระขาดทุนจากการจำนำข้าว
ประเด็นแรก ถ้ารัฐบาลต้องการลดภาระการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าว รัฐบาลควรลดการขาดทุนจากการระบายข้าวและการอุดหนุนผู้บริโภคด้วย
การขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว นอกจากจะเกิดจากการตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกที่ 15,000 บาทต่อตัน (โดยชาวนาไม่ได้เป็นฝ่ายเรียกร้องแต่แรก) การขาดทุนอีกส่วนหนึ่งยังเกิดจากการระบายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แต่รัฐบาลไม่เคยยอมแถลงตัวเลขราคาข้าวที่รัฐบาลขายได้และปริมาณข้าวที่ขาย
โชคดีที่ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเมื่อ 18 มิถุนายน 2556 นายวราเทพ รัตนากร ได้รายงานตัวเลขรายรับรายจ่ายของการจำนำข้าว 3 ฤดู (ตั้งแต่ตุลาคม 2554 ถึง 31 มกราคม 2556) ทำให้ผมสามารถคำนวณหาปริมาณการระบายข้าว ปริมาณสต็อคที่เหลืออยู่ และที่สำคัญ คือ ราคาข้าวที่รัฐขาย (ตามตัวเลขของกรมการค้าต่างประเทศ) (ดูภาคผนวก)
จากการคำนวณดังกล่าว พบว่า รัฐบาลระบายข้าวจำนวน 4.99 ล้านตัน ในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10.21 บาท ขณะที่ต้นทุนของข้าวสารในโครงการสูงถึง กก.ละ 33.62 บาท แปลว่ารัฐบาลขาดทุนกก.ละ 23.41 บาท การขาดทุนนี้ประกอบด้วยการขาดทุนจากการตั้งราคาจำนำสูงกว่าราคาตลาดกิโลกรัมละ 14.52 บาท ขาดทุนจากต้นทุนดำเนินการ[1] (เช่น ค่าจ้าง โรงสี ค่าเช่าโกดัง ฯลฯ) 0.74 บาทต่อกก. และที่เหลือคือขาดทุนจากการระบายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดอีก 8.15 บาท/กก. (รูปที่ 1)
การขาดทุนจากการระบายข้าว ยังสามารถแยกได้ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นการขาดทุนจากนโยบายข้าวสารราคาถูก ซึ่งเป็นการอุดหนุนผู้บริโภคกิโลกรัมละ 0.45 บาทและที่เหลือ (7.7 บาท) เป็นการขาดทุนจากการขายข้าวให้พ่อค้าบางรายในราคาต่ำกว่าราคาตลาด
รัฐบาลเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการทำให้ข้าวเปลือกมีราคาแพง และข้าวสารราคาถูก (รูปที่ 2) การที่รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกถึงเกือบ 36.5 ล้านตัน (ประมาณร้อยละ 57 ของผลผลิต 3 ฤดู ในช่วงตุลาคม 2554-เมษายน 2555) ราคาข้าวสารในประเทศจะต้องถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงต้องระบายข้าวจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในราคาที่ค่อนข้างคงที่ (ประมาณ 22 – 24 บาทต่อกิโลกรัม)
รัฐบาลมีวิธีระบายข้าว 2 วิธี คือ การขายข้าวถุงละ 70 บาท (หรือ 14 บาทต่อกก.) จำนวน 1.8 ล้านตัน แต่ข้อมูลของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสมาชิกพบว่ามีข้าวถุงที่ส่งไปขายยังร้านถูกใจเพียง 5-10 % เท่านั้น วิธีนี้จึงไม่ได้ผลในการลดราคาข้าวขายปลีก
วิธีระบายข้าวอีกวิธีที่ช่วยให้ราคาขายปลีกข้าวสารเจ้าในตลาดมีราคาถูกเพียงถุงละ 110-120 บาท (หรือ 22-24 บาท/กก.) คือ การขายข้าวทุกชนิดจำนวนมากให้พ่อค้าบางคนในราคาถูก ตัวเลขจากรายงานของรมว.วราเทพ รัตนากร ทำให้เราทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวสารราคาเฉลี่ยเพียง 10.21 บาท/กก.[2] พ่อค้าที่โชคดีเหล่านี้สามารถนำข้าวไปขายส่งในราคากก.ละ 16 บาทราคาขายส่งนี้ต่ำพอที่จะทำให้พ่อค้าขายปลีกสามารถขายข้าวสารคุณภาพต่ำในราคากก.ละ 22-24 บาท ให้ผู้บริโภค
ผลการระบายข้าวสารราคาถูกทำให้ราคาขายปลีกข้าวสารทุกชนิดในตลาดกรุงเทพฯ เฉลี่ย 24.17 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ราคาขายปลีกสูงกว่าเล็กน้อย คือ 24.62 บาทต่อกิโลกรัม แปลว่ารัฐบาลควักเงินอุดหนุนผู้บริโภคข้าวกิโลกรัมละ 0.45 บาท
ดังนั้นส่วนต่างที่เหลือจึงเป็นการนำเงินภาษีไปแจกให้พ่อค้าบางคน ส่วนต่างนี้เท่ากับ 7.7 บาทต่อกก. หรือร้อยละ 33 ของมูลค่าการขาดทุนจำนวน 1.22 แสนล้านบาท (คิดจากการขายข้าว 4.99 ล้านตัน) (ดูรูปที่ 1)
รูปที่ 1 การขาดทุนในโครงการจำนำข้าวเกิดจากอะไร
(เฉพาะการระบายข้าว 3 ฤดูจำนวน 4.99 ล้านตันในระหว่าง ต.ค. 54- ม.ค. 55)
ที่มา: คำนวนจาก
(1) วราเทพ รัตนากร “ผลการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ตามนโยบายรัฐบาล”
(2) ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดของกรมการค้าภายใน
(3) ราคาขายปลีกข้าวสารทุกชนิดในตลาดกรุงเทพฯ ของสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า
รูปที่ 2: ข้าวเปลือกแพง ข้าวสารถูก
ที่มา: กรมการค้าภายใน.และสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์.
2. การทุจริตในการระบายข้าว
ประเด็นที่สอง การขาดทุนจากการระบายข้าวเกิดจากการที่รัฐบาลขายข้าวแบบไม่โปร่งใสให้แก่พ่อค้าบางรายในราคาถูกเป็นพิเศษ คำอภิปรายของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ระบุว่ารัฐบาลขายข้าวราคาถูกให้โรงสีแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชรในราคากิโลกรัมละ 5.7 บาท ทั้งๆที่ราคาขายส่งข้าวสารในตลาด คือ 16 บาท แสดงว่าโรงสีดังกล่าวฟันกำไรส่วนต่างถึงกิโลกรัมละ 10.30 บาท ถ้าเราทราบปริมาณข้าวที่รัฐขายในราคาถูกๆ เราก็จะสามารถคำนวณจำนวนเงินภาษีประชาชนที่ถูกนำไปแจกให้พ่อค้าพรรคพวกได้
โชคดีที่รายงานการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องออกมายอมรับว่ามีข้าวสารที่ยังไม่ได้ลงบัญชีอีก 2.5 ล้านตัน ทำให้ไม่สามารถปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวนาปีฤดู 2555/56 ได้
ตัวเลขดังกล่าวช่วยให้เราทราบวิธีการลักลอบนำข้าวจำนวนมากในโครงการจำนำไปขายในตลาด ส่วนบนของรูปที่ 3 แสดงขั้นตอนปกติของการจำนำ เมื่อชาวนานำข้าวเปลือกไปจำนำที่โรงสีโรงสีจะต้องสีแปรสภาพใน 7 วัน แล้วนำข้าวสารส่งมอบให้โกดังกลางของรัฐบาลที่เช่าจากเอกชน
รูปที่ 3: การส่งมอบข้าวตามขั้นตอน และการแอบขายข้าวในโครงการจำนำ
ส่วนขั้นตอนการทุจริต คือ หลังจากรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาแล้วโรงสีบางแห่งแอบนำข้าวที่สีแปรสภาพไปขายให้ผู้ค้าข้าว (หรือบางกรณีแอบนำข้าวเปลือกไปขายให้โรงสีผู้ส่งออกข้าวนึ่ง) จากนั้นค่อยไปหาซื้อข้าวสารราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน มาส่งคืนให้โกดังกลางของรัฐบาลในภายหลัง ส่วนโกดังบางแห่งที่ไม่สามารถหาข้าวสารราคาถูกมาเข้าโกดังก่อนมีการตรวจสอบ ก็อาจเผาโกดังทิ้งตามที่มีข่าวเป็นระยะๆหรือถูกจับได้ตามที่เป็นข่าว
แต่การลักลอบนำข้าวไปหมุนขายแบบนี้จะทำได้ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น (เช่น กรณีโรงสีที่พิจิตรลักลอบนำเข้าจำนำไปขาย 9,000 ตัน) เป็นไปไม่ได้ที่ข้าวสารจะหายไปจากโกดังกลางถึง 2.5 ล้านตันหากไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ต่อ รมว.วราเทพ รัตนากร ว่าข้าวจำนวนนี้ยังไม่ได้สีแปรสภาพ จึงไม่ได้ลงในบัญชีข้าวสารก็ฟังไม่ค่อยขึ้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริงโรงสีก็จะต้องมีข้าวเปลือกกองเป็นภูเขาหลายพันลูก ตัวเลขข้าวสารที่ไม่ได้ลงบัญชีนี้เป็นต้นเหตุของคำสั่งให้ตรวจสต็อคข้าวของโรงสีและโกดังทั่วประเทศในวันที่ 27 มิถุนายน ศกนี้ แต่กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจ โรงสีและโกดังคงหาข้าวมาส่งคืนแล้ว เพราะวันเวลาล่วงเลยมานานเกือบ 5 เดือนหลังจากการทำรายงานปิดบัญชี ณ วันที่ 31 มกราคม 2556
หลักฐานสำคัญที่เป็นเงื่อนไขเอื้ออำนวยให้โรงสีไม่ต้องส่งมอบข้าวสารเข้าโกดังใน 7 วัน และสามารถนำเข้าข้าวสารราคาถูกจากต่างประเทศโดยถูกกฎหมายมาเข้าโกดังกลางแทนไม่ต้องแอบลักลอบนำเข้าแบบกองทัพมด คือ การที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการจำนำข้าว มีอำนาจอนุญาติให้มีการผ่อนผันให้โรงสีที่รับจำนำข้าวเปลือกไว้จำนวนมาก ไม่ต้องสีแปรสภาพและนำส่งข้าวสารเข้าโกดังกลางใน 7 วัน[3] ผู้เกี่ยวข้องในวงการข้าวคาดว่าอาจมีการผ่อนผันให้ยืดเวลาการสีแปรสภาพข้าวสารนานถึง 2 เดือน
เดิมกระทรวงพาณิชย์มีประกาศอนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวสารจากประเทศเพื่อนบ้านตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน เฉพาะในบางเดือนที่ไม่มีการเก็บเกี่ยวข้าวในประเทศ (คือ พฤษภาคม ถึง ตุลาคม) การนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านจะเสียภาษีนอกโควตาความข้อตกลง WTO ในอัตรา 52% ต้นทุนการนำเข้าข้าวจึงค่อนข้างสูง แต่ผู้นำเข้าจะใช้วิธีสำแดงมูลค่าข้าวและปริมาณข้าวต่ำกว่าความจริง เช่น สำแดงว่าราคาข้าวสารนำเข้ากิโลกรัมละ 3-4 บาท แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2555 รมว.กระทรวงพาณิชย์ได้อาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2539 ออกระเบียบให้มีการออกหนังสือรับรองการนำเข้าที่ได้สิทธิ์ชำระภาษีในโควตาตามพันธกรณีตามความตกลงภายใต้ WTO ได้ทุกเดือนตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ถึง 31 ธันวาคม 2556 ประกาศดังกล่าวช่วยให้ผู้ค้าข้าวสามารถนำเข้าข้าวสารจากประเทศเพื่อนบ้านได้ทุกเดือนโดยมีต้นทุนต่ำลง
ถ้าไม่มีประกาศทั้งสองฉบับรองรับ กระบวนการขโมยข้าวของผู้เสียภาษีไปขายอย่างเป็นล่ำเป็นสันคงทำได้ลำบากและมีต้นทุนสูง
คำถามสำคัญ คือ มีข้าวจำนวนเท่าไรที่ถูกลักลอบจากคลังรัฐบาล นำไปหมุนขายก่อน เราทราบว่าในช่วงที่มีการจำนำข้าวระหว่างเดือนตุลาคม 2554-สิ้นมีนาคม 2556 รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง 3 ฤดู (นาปี 2554/55 นาปรัง 2555 และนาปี 2555/56) รวมทั้งสิ้น 36.48 ล้านตัน ซึ่งแปลงเป็นข้าวสารได้ 22.52 ล้านตัน) ส่วนผลผลิตข้าวทั้งประเทศเท่ากับ 39.68 ล้านตันข้าวสาร ก็แปลว่ามีข้าวอยู่ในมือโรงสีและพ่อค้าประมาณ 17.16 ล้านตัน แต่พ่อค้าข้าวจะต้องมีสต็อคข้าวอยู่ในมือประมาณ 1.0ล้านตัน ดังนั้นตลาดข้าวเอกชน จะมีข้าวขายเพียง16.16ล้านตัน ขณะเดียวกันในช่วง 18 เดือนดังกล่าว คนไทยต้องบริโภคข้าว 15.90ล้านตันและมีการส่งออก 10.17 ล้านตัน รวม 26.07ล้านตัน แสดงว่าตลาดยังขาดข้าวอยู่อีก 9.91 ล้านตัน (26.07-16.16) ข้าวจำนวนนี้จะต้องมาจากการระบายข้าวของรัฐบาลอย่างแน่นอน ถ้ามีการระบายข้าวน้อยกว่านี้ ราคาข้าวสารในตลาดจะต้องแพงขึ้นกว่าสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่รัฐบาลเพื่อไทยประสบความสำเร็จในการตรึงราคาข้าวสารให้มีราคาถูกกว่าสมัยอภิสิทธิ์ และทำให้ราคาข้าวเปลือกแพง (รูปที่ 2)
ทว่า นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฏรเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 ว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ระบายข้าวเพียง 7.07 ล้านตัน จึงเกิดคำถามว่าข้าวอีก 2.84 ล้านตัน (9.91 – 7.07) มาจากไหน คำตอบก็คือ นอกจากการนำเข้าข้าวราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขายในประเทศ และข้าวบางส่วนถูกนำไปส่งมอบให้โกดังกลางแทนข้าวของชาวนาไทยที่ถูกลักลอบออกจากโกดังไปหมุนขายก่อนแล้วก็ยังมีข้าวสารในโครงการรับจำนำจำนวน 2.5 ล้านตัน ที่ไม่ได้ลงบัญชี แต่ถูกลักลอบนำออกไปขายในตลาดและยังมิได้นำข้าวสารมาคืนโกดัง
ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดการนำข้าวดังกล่าวมาคืนคลังได้ ก็เท่ากับประชาชนต้องสูญเสียเงินภาษีจำนวน 40,000 ล้านบาท (หรือ 2.5 ล้านตันคูณราคาขายส่ง 16,000 บาทต่อตัน) หรือถ้ามีการขายข้าวจำนวนดังกล่าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาด รัฐบาลก็ต้องขาดทุน
รัฐบาลจะต้องรีบจัดการสะสางปัญหาการทุจริตและภาระขาดทุนโดยเร่งด่วน โดยเริ่มต้นจากการแถลงรายละเอียดของการระบายข้าว ตั้งแต่ราคาข้าวปริมาณข้าวที่ขาย วิธีขาย และชื่อผู้ซื้อ เป็นต้น รวมทั้งการประมูลขายข้าวอย่างโปร่งใส ผมหวังว่าหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ จะมีการแถลงข้อมูลเหล่านี้
3. ผลของการยกเลิกโครงการรับจำนำต่อราคาข้าวเปลือก
ประเด็นสุดท้าย การลดราคารับจำนำ และจำกัดวงเงินรับจำนำต่อเกษตรกร เท่ากับการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ดโดยปริยาย ผลที่จะตามมา คือ ราคาข้าวเปลือกในตลาดจะลดลงอย่างรวดเร็ว[4] ทุกคนรู้ว่ารัฐบาลมีข้าวในสต็อคจำนวนมาก (อาจสูงถึง 17 ล้านตัน) สต็อคจำนวนนี้บวกกับผลผลิตข้าวในฤดูใหม่จะทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศลดต่ำลง ทำให้ชาวนาเดือดร้อน โดยเฉพาะชาวนาจำนวน 3 ล้านครัวเรือนที่ไม่ได้นำข้าวไปจำนำกับรัฐบาล แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลไม่เคยคิดถึงผลกระทบในด้านนี้เลย ข้อเสนอการเยียวยาเกษตรกรด้วยมาตรการช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกอาจไม่เพียงพอ และคงไม่ได้ผลมากนัก การนำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรมาแทนการจำนำข้าวในช่วงนี้จะไม่สามาระประคองราคาข้าวไว้ได้ ดังนั้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านนโยบายการจำนำข้าว รัฐบาลจะต้องพิจารณาหาหนทางป้องกันมิให้ราคาข้าวเปลือกทรุดฮวบลงอย่างรวดเร็ว เช่น ทบทวนการยกเลิกโครงการแบบกระทันหันโดยหาวิธีการค่อยๆยกเลิกโครงการรับจำนำ พร้อมมาตรการเสริม เช่น กลยุทธ์การระบายข้าว อย่างระมัดระวัง เป็นต้น
……………………………………………………………………..
ภาคผนวก การคำนวณหาราคาข้าว-ปริมาณข้าวที่รัฐบาลระบายและสต็อคข้าว
(นาปี 2554/55 นาปรัง 2555 นาปี 2555/56 ณ 31 มกราคม 2556)
|
|
พาณิชย์ |
อนุฯปิดบัญชี |
|
1 | ข้าวสารในโครงการรับจำนำ (ข้าวเปลือก 31.7 ล้านตัน) |
15.16 |
15.61 |
ล้านตัน |
2 | เงินที่จ่ายให้ชาวนา |
493,014.48 |
493,014.48 |
ล้านบาท |
3 | ค่าใช้จ่ายดำเนินการ |
16,634.06 |
16,647.94 |
ล้านบาท |
4 | ค่าใช้จ่ายรวมต่อตัน ((2)+(3) หาร (1)) |
33,618 |
33,619.00 |
บาท/ตัน |
5 | มูลค่าข้าวในสต๊อค |
341,956.26 |
226,851.58 |
ล้านบาท |
6 | สต๊อคข้าว (5) ÷ (4) |
10,171,827 |
6,747,740 |
ตัน |
7 | จำนวนข้าวที่ระบาย (1) – (6) |
4,988,173 |
8,862,260 |
ตัน |
8 | มูลค่าข้าวที่ระบาย |
50,926.15 |
61,741.45 |
ล้านบาท |
9 | ราคาข้าวที่ระบาย (8) ÷(7) |
10,209.30 |
6,966.70 |
บาท/ตัน |
10 | ขาดทุน |
23,408.70 |
26,652.70 |
บาท/ตัน |
หมายเหตุ : ถ้าใช้ข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีราคาข้าวที่ระบายจะเท่ากับ 7,341.4 บาทต่อตันจึงหมายความว่าการระบายข้าว 8.41 ล้านตัน จะขาดทุนตันละ 26,277.5 บาท (ซึ่งสูงกว่าตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่เฉลี่ย 23,409 บาทต่อตัน)
ที่มา : วราเทพ รัตนากร “ผลการรวมรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล”
18 มิถุนายน 2556
[1]ใช้ตัวเลขต้นทุนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งยังมิได้รวมค่าเสื่อมของข้าว และดอกเบี้ยจากเงินทุนที่ใช้ซื้อข้าวเก็บในโกดัง ถ้ารวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ต้นทุนดำเนินการจะสูงถึงกิโลกรัมละ 3.63 บาทต่อกก.
[2]ถ้าใช้ข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ราคาขายเฉลี่ย 6.97 บาทต่อกก.และขาดทุน กก.ละ 26.65 บาท
[3]ฝ่ายเลขานุการ กขช. “หลักเกณฑ์การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555” กุมภาพันธ์ 2555
[4]ขณะนี้ (27 มิย. 2556)เวียดนามเสนอขายข้าวในราคาต่ำมาก เช่น ข้าวขาว 5% เสนอขายที่ราคาเพียงตันละ $ 375 ลดลงจาก $380 ในสัปดาห์ก่อน(20 มิย.) ขณะที่อินเดียเสนอขายในราคา $445 อาจเป็นเพราะเวียดนามรู้ว่าไทยจะต้องระบายข้าวจำนวนมากออกสู่ตลาดจึงต้องชิงตัดหน้าขายก่อน