ทีดีอาร์ไออัดจำนำข้าว ชาวนาจ่อฟ้องรัฐบาลผิดสัญญา

ปี2013-06-23

‘นิพนธ์’ ชี้ลดราคาจำนำข้าว คำนวณย้อนหลัง 2 โครงการทำรัฐขาดทุนแค่ 8.7 หมื่นล้านบาท แต่ไม่ช่วยแก้ทุจริต ยังรั่วไหลจากการระบายไม่โปร่งใส ด้านชาวนาจวก ‘บุญทรง’ ไร้กึ๋นดูแลข้าว เตรียมฟ้องรัฐบาลผิดสัญญา

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการร่วมเสวนา “ลดราคาจำนำข้าว: ลดขาดทุน-ป้องทุจริตได้จริงหรือ” จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าการลดราคารับจำนำข้าวจะช่วยลดภาระการใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจาก 2 โครงการ คือ นาปีปี 54/55 และ นาปรังปี 55 ได้ โดยหากรับจำนำที่ตันละ 12,000 บาท และจำกัดปริมาณผลผลิตของเกษตรรายละไม่เกิน 41.7 ตัน หรือมูลค่า 500,000 บาท จะทำให้ปริมาณจำนำนาปี ลดลง 21.75% นาปรัง ลดลง 23.7% ปริมาณรวมของข้าวที่เข้าร่วมโครงการจะลดลง 17.2% ส่งผลให้รัฐขาดทุนลดลง 49.5% จากวงเงินขาดทุน 136,000 ล้านบาท หรือขาดทุนเพียง 87,000 ล้านบาทเท่านั้น

แม้จำนวนเงินที่ใช้ในโครงการจะลดลง แต่ไม่ได้ลดผลประโยชน์ให้กับโรงสี โกดัง และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการ นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังไม่เปิดเผยข้อมูลการขายข้าวทำให้แม้จะลดราคารับจำนำแต่ในทางปฏิบัติจริงจะลดการขาดทุนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีการแอบขายข้าวกัน ในราคาและปริมาณเท่าไร ไม่มีใครรู้ ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีทีท่าแก้ปัญหาทุจริต โดยเฉพาะการขายข้าวที่ใช้อำนาจระดับสูงในการตัดสินใจแต่ละครั้ง หากรัฐบาลมีความจริงใจควรเปิดระบายอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพราะช่องทางการระบายเป็นการทุจริตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกระบวนการ

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรแก้ปัญหาการทุจริต ซึ่งควรเริ่มจากการยกเลิกกติกาการสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสารทุกๆ 7 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้โรงสีมีเวลานำข้าวสารราคาถูกจากส่วนอื่นไปส่งมอบเข้า โกดังกลางของรัฐบาลแทน หรือไม่จำเป็นต้องส่งมอบ เพราะการกำหนดเวลา 7 วันทำให้โรงสีสามารถนำข้าวจากเพื่อนบ้านราคาถูกมาส่งมอบแทน ซึ่งประเมินได้ว่าข้าวในประเทศมีมากผิดปกติประมาณ 3 ล้านตัน โดยเป็นข้าวที่มีการอ้างว่ายังไม่ได้ส่งมอบเข้าโกดังกลาง ประมาณ 2 ล้านตัน ขณะที่อีก 1 ล้านตัน ไม่สามารถบอกที่มาได้

ด้านนายรังสรรค์ กาสูลงค์ ผู้แทนชาวนาไทย กล่าวว่า ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ จะเดินทางพร้อมมวลชนไปยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะชาวนาไม่ยอมการปรับลดราคาเหลือตันละ 12,000 บาท แต่เห็นด้วยการกำหนดเพดานรายละไม่เกิน 500,000 บาท เพราะเป็นชาวนาส่วนใหญ่ที่จะได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลสัญญากับเราไว้แล้ว มาลดราคาจะฟ้องรัฐบาลที่พูดในวันหาเสียงกับวันนี้ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ขอตำหนินายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ว่าไม่มีความรู้เรื่องข้าวเลย

ส่วนนายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวคิดการรับจำนำในราคาที่สูงซึ่งมีการแถลงในสภาฯ และพูดชัดเจนว่าจะยกระดับราคาทั้งโลกให้แพงขึ้นนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะทั้งโลกซื้อขายข้าวปริมาณ 30 ล้านตัน และมีผลผลิตรวม 600-700 ล้านตัน แต่ไทยส่งออกเพียง 10 ล้านตัน ผลิตปีละ 20 ล้านตันทำให้ไม่สามารถดึงราคาข้าวทั้งโลกให้สูงขึ้นได้ ในส่วนชาวนาก็พบว่าได้ประโยชน์จากโครงการน้อยมาก จากรายงานราคาข้าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ทั้งปีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่พันบาท หรือบางช่วงเพี่มขึ้นเพียงหลักร้อยบาท ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มาก ขณะที่โครงการขาดทุนไปแล้วหลายแสนล้านบาท

“เรื่องนี้พรรคได้ยื่นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว หน้าที่ของเราคือชี้ตัวว่าผู้ร้ายอยู่ตรงไหน อย่าให้เราไปจับด้วยต้องไปเร่ง ป.ป.ช. ตอนนี้ลดราคาแล้วได้อะไร คนที่เสียหายอย่างเดียวคือ เกษตรกร เพราะราคาที่ขายได้โดนทอนออกไป ทั้งที่ต้นทุน ค่าเช่าที่นาเพิ่มขึ้น” นายเกียรติ กล่าว

ขณะที่ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การระบายข้าวมีปัญหามาก กรณีระบายข้าวราคาถูกเพื่อให้ประชาชน มีความไม่โปร่งใส มีการอนุมัติแล้ว 2.5 ล้านตัน ผลิตเป็นข้าวถุง 500 ล้านถุง ผ่าน 3 ช่องทางได้แก่ ร้านถูกใจ ช่องทางที่สอง งานธงฟ้าจังหวัดต่างๆ และช่องทางที่สามระบายผ่านร้านค้าทั่วไป ซึ่งไปตรวจสอบพบว่า มี 3 บริษัทที่เข้าไปทำสัญญาซื้อข้าวปริมาณดังกล่าวจาก อคส. แต่ไม่ได้ส่งมอบตามเป้าหมายของรัฐบาล ทำให้เอกชน มีส่วนต่างกำไรมูลค่า มากกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นความสูญเสียของรัฐจากการดำเนินโครงการรับจำนำเช่นกัน

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ไม่ว่าราคารับจำนำจะอยู่ที่เท่าใด การดำเนินโครงการก็ไม่ได้ละเลยการดูแลไม่ให้เกิดการทุจริต มีการตั้งคณะกรรมการและดำเนินคดีจริงๆ ทั้งเกษตรกร โรงสี และผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐมีแผนการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต เป็นแผนที่ดำเนินการสำหรับโครงการถัดไปอยู่แล้ว เรื่องราคารับจำนำต้องสะท้อนราคาตลาดโลก และราคาภายในประเทศให้มากขึ้นและให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวปีละครั้ง ลดความเหลื่อมล้ำลง ซึ่งกรอบใหม่เป็นการคำนวณแบบใหม่ สำหรับฤดูกาลใหม่

สำหรับความเสียหายจากโครงการข้าวถุงนั้น ขอชี้แจงว่า อนุกรรมการระบายข้าวกำหนดระบายข้าว ปริมาณ 2.5 ล้านตัน ซึ่ง อคส. ไปดำเนินการทั้งหมด จนถึงล่าสุด วันที่ 31 พ.ค. เอาข้าวออกแล้ว 558,000 ตัน เอาไปทำ 3 ส่วนคือ 1. ข้าวบริจาคฟรี ดำเนินการรัฐบาลทุกสมัย ระบายไปแล้ว 5,000 ตัน 2. ระบายให้หน่วยงานรัฐบาล เช่น กรมราชทัณฑ์ และ 3. ข้าวลดค่าครองชีพ ทั้งข้าว อคส. และข้าวถูกใจ มีตราถูกใจ โดย อคส.ปรับปรุง เป็นข้าว อคส. 500,000 ถุง แบ่งเป็นข้าวสาร 400,000 ถุง ข้าวเหนียว 100,000 ถุง และข้าวถูกใจอีก 40,000 กว่าถุง ถุงละ 70 บาท ผู้ขายได้ส่วนต่าง ถุงละ 3.50 บาทต่อถุง จนถึงวันที่ 31 มี.ค.56 ข้าวออกไปประมาณ 20,000 กว่าถุง ส่วนข้าว อคส. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลจาก อคส.


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 23 มิถุนายน 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไออัดจำนำข้าว ชาวนาจ่อฟ้องรัฐบาลผิดสัญญา