ร้องเสียงหลงปฏิเสธผลขาดทุนการรับจำนำข้าวปีแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าไม่ถึง 2.6 แสนล้านบาท อย่างที่รายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน สรุปไว้
แต่รายงานนี้กลายเป็นระเบิดนิวเคลียร์ ก่อปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องลุกลามไม่หยุด ทั้งการเด้งสุภาพ้นหน้าที่ปิดบัญชีรับจำนำข้าวทันที จากคำสั่งโยกภารกิจใหม่ในกลุ่มรองปลัดกระทรวงการคลัง ขณะที่ฝ่ายค้านก็ใช้เป็นหอกทิ่มรัฐบาลในเวทีอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประสานกระแสวิพากษ์วิจารณ์อภิมหาประชานิยมโครงการนี้ ที่ล่อแหลมจะฉุดไทยตกหล่มวินัยทางการคลัง ที่โหมขึ้นมาอีกระลอก
-โลกล้อม”ปู”
ที่หนักกว่าคือ ปฏิกิริยาที่ลามสู่ภายนอก เมื่อมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐฯ ออกรายงานวันที่ 3 มิถุนายนนี้ว่า อาจปรับลดอันดับเครดิตระยะยาวประเทศไทย จากปัญหาภาระขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554/55 ที่สูงถึง 1.7% ของจีดีพี หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท ตามด้วยท่าทีของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจระดับโลก ทั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก็ส่งสัญญาณความกังวล และต้องการเข้ามาขอทราบข้อมูลแท้จริงกับทางการไทย เพื่อนำไปประเมินเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาวต่อไป กลายเป็นสถานการณ์”โลกล้อมประเทศ”ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์คาดไม่ถึง จนต้องเรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ข้อสรุปสุดท้ายตรงกันคือ ไม่มีใครรู้ข้อมูลตัวเลขจริง การทำงานเรื่องนี้ของกระทรวงพาณิชย์แม้แต่หน่วยเดียว กระทั่งนายกฯ ก็ตอบผู้สื่อข่าวได้แต่เพียงว่า “ยังไม่ได้รับรายงานจากพาณิชย์”
จนท้ายที่สุดต้องส่งนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.สำนักนายกฯ ไปจี้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้รีบออกมาแจงตัวเลขการดำเนินงานรับจำนำข้าวโดยด่วนทันที ท่ามกลางการจับจ้องว่า สรุปแล้วภาระขาดทุนเป็นเท่าไหร่กันแน่
-สุภายันขาดทุน2.6หมื่นล.
ด้านนางสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ได้รายงานตัวเลขผลขาดทุนการรับจำนำข้าวปี 2554/55 ให้นายกฯแล้ว ยืนยันตัวเลขผลขาดทุนมากกว่า 2 แสนล้านบาทตามที่เป็นข่าว
รายงานที่อ้างมาจากอนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าวปี 2554/55 ของอนุกรรมการปิดบัญชีชุดที่มีนางสุภาเป็นประธาน คาดจะมีผลขาดทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยเป็นการปิดบัญชีถึงกันยายน 2555 หรือสิ้นปีงบประมาณ ครอบคลุมการรับจำนำข้าวนาปี 2554/55 และนาปรัง 2555 รวม 2 โครงการ เป็นข้าวประมาณ 22 ล้านตันข้าวเปลือก เม็ดเงินรับจำนำ 3.2 แสนล้านบาท มียอดขาดทุนจากส่วนต่างราคาที่ซื้อสูงกว่าตลาด เมื่อรวมกับต้นทุนอื่น เช่น ภาระดอกเบี้ย ค่าดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ค่าเสื่อมคุณภาพ และอื่นๆ จะมีผลขาดทุนรวมกว่า 2.6 แสนล้านบาท
ตัวเลขที่ใช้คำนวณประเมินจากปริมาณข้าวที่ขายหรือระบายออก คูณด้วยราคาที่ขายได้ รวมเป็นรายได้จากการขาย ลบจากต้นทุนของโครงการ รวมกับผลขาดทุนจากข้าวที่เหลือเป็นสต๊อกของรัฐบาล โดยคำนวณจากราคาตลาดที่ขายได้ในปัจจุบัน ตามประกาศขององค์การคลังสินค้า(อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) เพื่อหาค่าประมาณการผลดำเนินงานเบื้องต้น
-รัฐยืนขาเดียวเจ๊งไม่เกินหลักหมื่นล.
ตัวเลขผลการขาดทุนดังกล่าว แกนนำรัฐบาลและผู้บริหารภาครัฐ ดาหน้าออกมาปฏิเสธกันพัลวัน รวมทั้งนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักฯ ที่ยืนยัน ผลขาดทุนไม่เกินหลัก”หมื่นล้านบาท” แน่
ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เผยว่า จำเป็นต้องทบทวนตัวเลขการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวใหม่ระหว่างพาณิชย์และคลัง ซึ่งอยู่ระหว่างการหาข้อสรุปตัวเลขอยู่ และย้ำว่า การรับจำนำข้าวมีมาตั้งแต่อดีตปี 2546 ถึงปัจจุบันรวม 17 โครงการ ที่รัฐบาลนี้ดูแลมีเพียง 3 โครงการเท่านั้น คือ ปีการผลิต 2554/55 มี 2 โครงการคือ ข้าวนาปี 2554 ข้าวนาปรัง 2555 และปีการผลิต 2555/56 มีโครงการข้าวนาปี 2555 ส่วนข้าวนาปรัง 2556 อยู่ระหว่างดำเนินการและจะสิ้นสุดโครงการเดือนกันยายน 2556 ซึ่งจะชี้แจงรายละเอียดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
ขณะที่นายภาคิน สมมิตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสรุปผลขาดทุนโดยประเมินจากตัวเลขรวมไม่ตรงกับข้อเท็จจริง รวมทั้งล่าสุดพาณิชย์ได้ระบายและส่งมอบเงินรายได้คืนคลังแล้ว 1.2 แสนล้านบาท ภายในสิ้นปี 2556 นี้จะคืนได้ตามเป้า 2.2 แสนล้านบาท จากเม็ดเงินรวมที่ใช้ในการรับจำนำรอบ 2 ปี รวม 4โครงการที่ประมาณ 7.09 แสนล้านบาท
-ทีดีอาร์ไอประเมินเฉียด2แสนล.
ขณะที่นักวิชาการคนวงนอกออกมานั้น ยิ่งเข้าไม่ถึงข้อมูลขั้นต้น ที่จะนำมาคำนวณหาผลขาดทุนการรับจำนำข้าวได้โดยตรง จึงต้องใช้ตัวเลขแวดล้อมมาประเมินผล แต่ก็ล้วนฟันธงตรงกันว่า ภาระการรับจำนำข้าวปีแรกรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะกระเป๋าฉีกในระดับแสนล้านบาทขึ้นไปทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ประเมินผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวเมื่อใกล้ครบ 1 ปีการดำเนินการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ระบุจะขาดทุน 9.8 หมื่นล้านบาท ถึง 1.11 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับตั้งราคาขายไว้สูง หรือยอมหั่นราคาเพื่อเร่งขายให้หมด
เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นอีก ดร.นิพนธ์ได้ปรับเพิ่มประเมินการขาดทุนการรับจำนำข้าวฤดูปี 2554/55 ในจดหมายเปิดผนึกฟ้องประชาชนและวุฒิสภา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2555 ชี้ว่า มีต้นทุนรวมเพิ่มเป็น 3.35 แสนล้านบาท และเมื่อต้องขายข้าวออกไป ภาระขาดทุนจากโครงการนี้จะอยู่ที่ 1.12 – 1.35 แสนล้านบาท แต่ถัดมาอีกเดือนเดียวดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ฟันธง รับจำนำข้าวปีแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขาดทุนทะลุ 1.73 แสนล้านบาท จากปริมาณข้าวสาร 14 ล้านตัน โดยใช้วิธีการคำนวณแบบใช้ราคาตลาดขณะนั้น นั่นคือ ยิ่งนับวันมีข้อมูลเพิ่มขึ้น ตัวเลขความเสียหายก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ
-“หม่อมอุ๋ย-ธีระชัย”ให้แสนล้านบาทขึ้น
ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์และคนในแวดวงค้าข้าวรายอื่น ต่างประเมินภาระขาดทุนรับจำนำข้าวรัฐบาลในระดับสูงเช่นกัน อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และอดีตรมว.คลัง ระบุผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวปีแรกปี 2554/55 ว่า จะสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท จากยอดรับจำนำข้าวเปลือก 21.95 ล้านตัน ส่งผลให้ภาระหนี้สาธารณะไทยขยับขึ้นเป็น 47.8 % ของจีดีพีประเทศ ถ้ารัฐบาลเดินหน้าต่อปีที่ 2 โดยมีเป้าหมายรับจำนำสูงถึง 33 ล้านตัน ก็จะทำให้ขาดทุนเพิ่มเป็น 2.1 แสนล้านบาท และสัดส่วนหนี้สาธารณะไทยในปี 2562 พุ่งสูงเป็น 61% ของจีดีพี
เช่นเดียวกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ที่หลุดวงโคจร ได้ให้ความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กปลายสัปดาห์ที่แล้ว ยกตัวเลขเบื้องต้นมาชี้ว่า ครม.อนุมัติเงินสำหรับโครงการรับจำนำข้าว 2 ปี (4โครงการ) ไปแล้วรวม 6.14 แสนล้านบาท โดยรับจำนำข้าวสูงกว่าท้องตลาด ถ้าเฉลี่ยราคาข้าวตลาดโลกอยู่ที่ 10,000 บาทต่อตัน รัฐบาลรับจำนำที่ 15,000 บาทต่อตัน เฉพาะผลขาดทุนจากส่วนต่างราคาประมาณ 1 ใน 3 เบื้องต้นก็จะขาดทุนแล้ว 2 แสนล้านบาท ไม่รวมต้นทุนอื่น เช่น ดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ค่าเสื่อม ข้าวหาย การที่รัฐไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ยิ่งทำให้องค์กรภายนอกต้องใช้ข้อมูลแวดล้อมมาประเมิน ซึ่งก็ต้องประเมินเลวร้ายสุดไว้ก่อน
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลประเมินจะขาดทุนไม่เกินวงเงินที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้ในการประกันราคาข้าวนั้น ว่า โครงการรับรับจำนำครั้งนี้จะขาดทุนมากกว่าแน่ เพราะวิธีการต้องเก็บรักษาข้าวในโกดัง ต้องมีค่าใช้จ่ายรักษาคุณภาพข้าว และแนวโน้มตลาดข้าว 1ปีจากนี้ยังไม่ดีขึ้น มีผู้ผลิตป้อนตลาดเพิ่มขึ้น
เพียงผลขาดทุนโครงการรับจำนำตัวเดียวก็มีตัวเลขพิศวงที่ต่างกัน แต่แทบทั้งหมดล้วนฟันธงขาดทุนบานระดับแสนล้านบาทขึ้นทั้งสิ้น โครงการรับจำนำข้าวกลับมารัดคอรัฐบาลปูเสียเอง จะถอยก็เสียการเมืองและมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานเสียงชาวนาทั่วประเทศที่หาเสียงไว้ จะเดินหน้าต่อนับวันยิ่งกลายเป็นหลุมดำดูดงบประมาณหนักขึ้นทุกวัน
การจำใจต้องออกมาเปิดข้อมูลผลการรับจำนำข้าวของรัฐบาลครั้งนี้ จะถูกตรวจสอบชนิดรื้อตะเข็บซักตัวเลขในระบบบัญชี ที่ต้องยันตัวเลขกันได้ตลอดโครงการ เป็นศึกตัวเลขที่ต้องสู้กันอีกยาว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,851 วันที่ 9 – 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ฐานออนไลน์ วันที่ 9 มิถุนายน 2556 ในชื่อ ตัวเลขพิศวง’ขาดทุนยับ’จำนำข้าว