tdri logo
tdri logo
20 มิถุนายน 2013
Read in Minutes

Views

7 กลไกยกระดับค่าจ้างแรงงานเพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย :ทีดีอาร์ไอ

เจตนารมย์ของการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเป็นไปเพื่อคุ้มครองแรงงานให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาพบว่าแนวโน้มลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีสัดส่วนน้อยลง และแม้ว่าการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองแรงงาน แต่การประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำก็นับเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ซึ่งผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำมีทั้งผลดีและผลเสีย

การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศในต้นปี 2556 นี้แม้ว่าเป็นไปภายใต้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลตามที่หาเสียงไว้ และดูเป็นธรรมกับลูกจ้างระดับหนึ่งเพราะทำให้ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างลดลง อย่างไรก็ดี การที่ตลาดแรงงานของไทยเป็นตลาดที่เน้นใช้แรงงานราคาถูก ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน จึงต้องพยายามรักษาขีดความสามารถของการแข่งขันของสินค้าไทย เน้นการลดต้นทุนการผลิตด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำและมีนโยบายผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ผู้ประกอบการจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับกลไกการผลิต

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ภายใต้โครงการสำรวจความคิดเห็นและทัศนคติทางสังคมรายไตรมาส: การศึกษาคุณภาพชีวิตแรงงานไทย เสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ผลการศึกษาระบุว่า หนทางหนึ่งที่จะหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ที่เกิดจากการไม่สามารถสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้ และเป็นหนทางนำไปสู่การยกระดับค่าจ้างหรือรายได้ของแรงงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในประเทศคือ การหันเหทิศทางการจ้างงานที่เน้นการแข่งขันเรื่องค่าจ้างไปสู่การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน พร้อมกับยกระดับรายได้แรงงานให้กินดีอยู่ดี จนหลุดพ้นการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยการสร้างระบบที่มีกลไกสร้างทั้งแรงจูงใจและแรงกดดัน นำไปสู่การใช้ปัจจัยการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น และต้องการจ้างแรงงานที่มีฝีมือสูงขึ้น สร้างกลไกกดดันผ่านกลไกราคาปัจจัยการผลิตซึ่งในส่วนของแรงงานก็คือค่าจ้างที่สูงขึ้น เป็นการบังคับให้นายจ้างต้องดิ้นรนหาหนทางปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กลไกดังกล่าวคือ

1. การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เช่น ลดหย่อนภาษีเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อปรับเปลี่ยนราคาเปรียบเทียบ (relative prices) ของปัจจัยการผลิต ในการจูงใจ (incentive) และสร้างแรงกดดัน (pressure) บังคับให้ผู้ประกอบการปรับโครงสร้างการผลิตสู่ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี และผลิตสินค้ามูลค่าสูง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพ และมีค่าตอบแทนสูง

2. การให้สิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยเน้นการให้สิทธิพิเศษกรณีลงทุนด้านเทคโนโลยีในระยะเริ่มต้น และใช้เกณฑ์ด้าน performance based incentive ในการให้สิทธิดังกล่าวในระยะติดตามผล

3. การทยอยปรับความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานบางด้าน เพื่อทำให้ต้นทุนในการจ้างงานสูงขึ้น เช่น การตั้งเป้าหมายว่าจะบังคับกฎหมายโดยอาจเริ่มจากการตรวจแรงงานเพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าจ้างวันหยุดประเพณีอย่างน้อยปีละ 5-7 วัน ส่วนลูกจ้างที่ทำงานในภาคบริการเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ต้องได้ค่าล่วงเวลา (OT) หรือค่ารถกลับบ้านดึก เป็นต้น กำหนดพื้นที่เป้าหมายว่าจะเริ่มในพื้นที่ไหน สาขาอะไร ค่อยๆ ทำให้กฎหมายตึงขึ้นทีละน้อย เพื่อไม่ให้เป็นช็อคต่อระบบการผลิตและเศรษฐกิจ และให้เวลานายจ้างปรับตัว นอกจากนี้ ควรสร้างกลไกในการให้แรงจูงใจ (incentive) แก่นายจ้างที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ให้นายจ้างที่มีโครงสร้างการปรับค่าจ้างประจำปี มีการจัดสวัสดิการที่ดี สามารถนำหลักฐานมาประกอบเพื่อยื่นลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น

4. การเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน (labour productivity) ซึ่งเป็นบทบาทของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีสมรรถนะสูงโดยจัดฝึกอบรมทักษะที่จำเป็น และสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (best practice) ตั้ง “มาตรฐานฝีมือแรงงาน” ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมว่าต้องการความสามารถเฉพาะทาง (competencies) เพียงใด เพื่อนำไปสู่กรอบการฝึกอบรมและทดสอบสมรรถนะที่สามารถควบคุมคุณภาพและรับประกันคุณภาพของแรงงาน เน้นพัฒนาคุณลักษณะใฝ่เรียนรู้ให้แก่บุคลากร รวมทั้งภาครัฐควรสนับสนุนการพัฒนาแรงงานในธุรกิจ SMEs ด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากข้อจำกัดสำคัญของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมคือต้องทำงานล่วงเวลา (OT) เพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการใช้จ่ายหรือดูแลครอบครัว จึงเหนื่อยล้าและไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้ในการสะสมความรู้ความชำนาญ ดังนั้นการเพิ่มบทบาทขององค์กรลูกจ้าง/สหภาพแรงงานในฐานะที่มีความใกล้ชิด รู้จักและเข้าใจความต้องการของแรงงานได้ดี ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของแรงงาน เช่น การค้นคว้าข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น จึงเป็นเรื่องสำคัญ

5. การเปิดโอกาสให้องค์กรลูกจ้าง/สหภาพแรงงานเข้ามามีบทบาทเป็นกลไกในเกิดการมีโครงสร้างค่าจ้างในสถานประกอบการด้วยการเป็นองค์กรเพื่อการเจรจาต่อรองภายในสถานประกอบการ หากไม่สัมฤทธิ์ผล องค์กรลูกจ้างก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้ทำหน้าที่เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการเพื่อให้ดำเนินการปรับค่าจ้างตามโครงสร้างค่าจ้าง หากแต่ละองค์กร (นายจ้าง ลูกจ้าง รัฐ) สามารถประสานความร่วมมือและดำเนินการปรับค่าจ้างในระดับสถานประกอบการให้อยู่ในระดับยอมรับกันได้แล้ว ก็จะทำให้แรงงานไม่ต้องมาพึ่งองค์กรแรงงานระดับชาติในการเจรจาต่อรองเรื่องการค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนที่ผ่านมา

6. การทบทวนนโยบายแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ในระยะสั้นควรพิจารณาว่าหากมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวแล้วจะดำเนินนโยบายหรือมีมาตรการอย่างไรให้ได้แรงงานต่างชาติระดับแรงงานฝีมือมากกว่าแรงงานกรรมกร เพราะนอกจากเหตุผลด้านประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานฝีมือที่สูงกว่าแล้ว ยังมีเหตุผลด้านอื่นๆ เช่น ภาระในการดูแลและปัญหาสังคม

7. การยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยสถาบันการศึกษาจัดการเรียนการสอนแบบ work-basedมีการประเมินการสอนแบบ competency based และเรียนพื้นฐานวิชาเพื่อให้สามารถปรับตัวเปลี่ยนงานได้เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ วันที่ 18 มิถุนายน 2556 ในชื่อ 7กลไกยกระดับค่าจ้างแรงงานเพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย :ทีดีอาร์ไอ

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด