tdri logo
tdri logo
16 กรกฎาคม 2013
Read in Minutes

Views

เตือนประชานิยมก่อหนี้เกินตัว ศก.ดิ่งเหว!

bbn20130716

ผ่ามุมมองนักเศรษฐศาสตร์ในงานเสวนา “สุมหัวคิด…Fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย!” เตือนประชานิยมก่อหนี้เกินตัว เศรษฐกิจตกเหว “ไม่รู้ตัว

เสวนา “สุมหัวคิด…Fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย!” จัดโดย ThaiPublica Forum โดยนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชน แสดงความเป็นห่วงแนวโน้มหนี้สาธารณะของไทยที่ปรับสูงขึ้นจากนโยบายประชานิยม อีกทั้งแสดงความสงสัยตัวเลขภาระหนี้ที่แท้จริง ขณะนักเศรษฐศาสตร์จากกระทรวงการคลังไม่เป็นห่วง มั่นใจดูแลในกรอบความมีเสถียรภาพด้านการคลังในอีก 7 ปีข้างหน้า มีประเด็นดังนี้

นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในหัวข้อเสวนา ”สุมหัวคิด…Fiscal cliff หนี้รัฐบาลไทย!” ซึ่งจัดโดย ThaiPublica Forum ครั้งที่ 6 ว่า ภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้น ถือว่า เรายังไม่ได้เผชิญกับ Fiscal cliff หรือ หน้าผาทางการคลังจนถึงขั้นต้องปรับนโยบายการคลังอย่างรุนแรง แต่ในอนาคตนั้น เราอาจจะเผชิญกับปัญหานี้ หากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลยังเป็นไปในลักษณะที่จะพาเราเดินลงเหวไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตต่อปัจจัยที่จะพาเราเข้าสู่หน้าผาการคลังอยู่ 5 ประการ คือ ประการแรก เรากำลังติดกับดักกับนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมีการแข่งขันในการดำเนินนโยบายดังกล่าว แม้แต่การเลือกตั้งของท้องถิ่น ซึ่งเป็นการให้สวัสดิการที่เกินพื้นฐานที่ประชาชนควรได้ เช่น โครงการรถยนต์คันแรก พักหนี้ รวมถึง จำนำข้าว ซึ่งการแข่งขันในลักษณะนี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และยกเลิกยาก สุดท้ายงบประมาณส่วนนี้จะเข้าไปกินงบประมาณประจำ ทำให้งบลงทุนของประเทศลดลง

“ในอดีตงบประมาณประจำอยู่ที่ประมาณ 70% ของงบประมาณทั้งหมด แต่ตอนนี้ อยู่ที่ประมาณ 80% เราจึงได้เห็นว่า ขณะนี้ รัฐบาลต้องออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินมาลงทุน จึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เรากำลังเดินลงเหว”

ประการที่สอง คือ ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยโดยรวมเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งลดลงมากในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา จึงไม่ประหลาดใจที่เห็นเอกชนไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งที่ตั้งของการลงทุนนั้น จะเป็นฐานรายได้หรือภาษีหลักๆให้แก่ประเทศเหล่านั้น ฉะนั้น ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นวาระสำคัญที่เราไม่ค่อยคิด

ขณะเดียวกัน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศยังขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐที่ส่งเสริมด้วย ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า รัฐเองได้มีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจของภาคเอกชน ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งปัจจุบันแบงก์รัฐเองได้เข้ามาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่ได้สิทธิประโยชน์มากกว่าแบงก์เอกชน นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมข้าวที่รัฐเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาด หรือ แม้แต่นโยบายค่าแรง 300 บาทที่กระทบต่อการทำธุรกิจในพื้นที่ห่างไกล

ประการที่สาม การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประชากรไทย ถือเป็นระเบิดเวลาที่รออยู่ข้างหน้า เพราะรายจ่ายภาครัฐจะเพิ่มแน่นอน การที่รัฐบาลมีนโยบายดูแลกลุ่มคนดังกล่าวแบบปลายเปิด ขณะที่ รายจ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเนื่องจากคนวัยทำงานจะต้องดูแลคนแก่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะกระทบฐานะการออมของประเทศ ฉะนั้น ความคาดหวังที่ให้การใช้จ่ายครัวเรือนเพื่อเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะดังกล่าวก็น้อยลง

ประการที่สี่ ความสามารถและประสิทธิภาพของผู้นำทางของเรา กรณีนี้ หมายถึง รัฐ ซึ่งรวมถึง นักการเมืองและข้าราชการ ที่ต้องมองไกลและกล้าบอกในการเปลี่ยนเส้นทาง สำหรับนักการเมืองเองเราทราบดีว่า จะไม่ได้มองไกลมากนัก ขณะที่ การมองไกลของข้าราชการก็น้อยลง โดยให้ความสำคัญกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านโยบายเศรษฐกิจ

ประการที่ห้า เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ การบริหารความเสี่ยงภาครัฐ โดยในท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์สถานการณ์ไว้หลายแนวทางเลือก ซึ่งเป็นการเผื่อไว้หากเกิดปรากฎการณ์ลูกโซ่ที่อาจจะมีผลกระทบจาก senario หนึ่งไปยังอีก senario หนึ่ง แต่ขณะนี้ พบว่า ยังไม่ค่อยมีการดำเนินการในลักษณะนี้มากนัก

“ถ้าดูจากหนี้สาธารณะตอนนี้ไม่น่ากลัว เรายังไม่มีปัญหาหน้าผาการคลัง แต่ยังมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวที่ทำให้อนาคตเราอาจเดินลงจากเขาไปเรื่อยๆ และลงไปสู่เหวโดยไม่รู้ตัว”

แนะคุมหนี้ไม่ให้โตเร็วกว่าจีดีพี

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด(มหาชน)กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันนั้น ถือว่า อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และ หากสามารถคุมหนี้ไม่ให้โตเกินกว่าจีดีพี ก็จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะอยู่ในกรอบ แต่ประเด็นที่ต้องดู คือ ตัวเลขหนี้สาธารณะที่นับนั้น ครบถ้วนหรือไม่ โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการนับหนี้สาธารณะอยู่หลายประการ

ประการแรก คือ การใช้เงินนอกงบประมาณในจำนวนที่มากขึ้น ถือเป็นการผ่อนคลายข้อจำกัดของกรอบความยั่งยืนการคลัง เช่น การใช้เงินของแบงก์รัฐเพื่อนโยบายจำนำข้าว ซึ่งภาระสุดท้ายจะตกอยู่กับงบประมาณ และ เงินก้อนนี้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันแบงก์รัฐหลายแห่งมีการเติบโตจนมีสัดส่วนถึง 30% จาก 10% ของธุรกิจ สะท้อนว่ารัฐบาลมีบทบาทในการระดมเงิน เป็นข้อสังเกตที่น่าระวัง เพราะหากเกิดปัญหาก็จะกระทบต่อแบงก์เอกชน

ประการที่สอง การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐเข้าไปใช้เงินลงทุนด้วย แม้จะปรากฏเป็นหนี้สาธารณะ แต่ก็ไม่ได้นับรวมภาระการอุดหนุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประการที่สาม หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีความสามารถในการกู้ยืมเพิ่มขึ้น ถือเป็นความท้าทายทางการคลังในการพิสูจน์ และประการที่สี่ ภาระที่เกิดขึ้นจากกองทุนนอกงบประมาณต่างๆ เช่น กองทุนน้ำมัน กองทุนประกันสังคม ซึ่งสุดท้ายเมื่อเกิดความเสียหายก็จะตกเป็นภาระที่รัฐต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ สำหรับความเสี่ยงต่อภาระหนี้มีอยู่ 3 ประการ คือ 1.ภาระที่ยังไม่เกิดแต่เกิดแน่ คือ ภาระที่รัฐต้องดูแลสวัสดิการของประชาชน ยกตัวอย่าง กองทุนประกันสังคมที่ถือเป็นระเบิดเวลาสำหรับภาระที่จะเกิดจากการขาดทุน ประการที่สอง คือ ภาระที่ยังไม่เกิด และ ไม่รู้ว่าจะเกิดหรือไม่ ซึ่งก็คือความมีเสถียรภาพของสถาบันการเงิน และ ประการที่สาม คือ ความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ จุดนี้ เรามีทุนรองรับกรณีเศรษฐกิจชะลอหรือไม่ เพราะเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ ลดรายได้และเพิ่มรายจ่ายตลอดเวลา

แนวทางที่ควรจะต้องดำเนินการเพื่อให้เศรษฐกิจไทยไม่เดินไปสู่ภาวะหน้าผาการคลัง คือ การรักษากรอบและวินัยในการกู้เงินอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังการออกโครงการต่างๆ โดยที่ไม่รู้ว่าผลชัดเจนที่จะเกิดในอนาคตเป็นอย่างไร เช่น โครงการรับจำนำข้าว

“โครงการจำนำข้าว ถือเป็นภาระปลายเปิดที่ต้องระมัดระวัง ถ้าทำไปอีก 2-3 ฤดูกาลเราไม่รู้ผลที่จะเกิดขึ้นเลย มันต้องมีโครงการมาเปรียบเทียบ ดังนั้น จึงถือเป็นความเสี่ยงทางการคลัง เพราะไม่รู้ต้นทุนจริง และไม่ถูกต้องในแง่วินัยการคลัง” นายพิพัฒน์กล่าว

หนี้สาธารณะสูงสุดไม่เกิน 50% ต่อจีดีพี

ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2556 อยู่ที่ 5,121 พันล้านบาท คิดเป็น 44.2% ต่อจีดีพี ซึ่งถือว่ายังมีความมั่นคง

นอกจากนี้ โครงสร้างเงินกู้ของหนี้สาธารณะไทยส่วนใหญ่ 97% เป็นหนี้ระยะยาว และเป็นหนี้สกุลเงินบาท ดังนั้น จึงไม่มีความเสี่ยงต่อภาระอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ สศค.คาดว่า ภายในช่วง 7 ปีจากนี้ (2557-63) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2559 โดยอยู่ที่ 50%ต่อจีดีพี และจากนั้นจะเริ่มลดลง โดยในปี 2560 อยู่ที่ 49.8% ต่อจีดีพี ปี 2561 อยู่ที่ 49.2% ต่อจีดีพี, ปี 2562 อยู่ที่ 47.6% ต่อจีดีพี และปี 2563 อยู่ที่ 45.7% ต่อจีดีพี

“ในช่วงเวลานี้ ได้คิดรวมการลงทุนในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐไว้แล้ว ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ”


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ เตือนประชานิยมก่อหนี้เกินตัว ศก.ดิ่งเหว!

นักวิจัย

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด