“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ “กสทช.” ต่ออายุคลื่น 1800 ชาติเสียหาย 1.6 แสนล้าน

ปี2013-07-31
ทีดีอาร์ไอ ซัด กสทช. ต่ออายุคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ อีก 1 ปี ทำประเทศชาติและประชาชน เสียหาย 1.6 แสนล้านบาท เตือนผลักดันร่างประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ เสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องสูง เหตุร่างประกาศฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ
ทีดีอาร์ไอ ซัด กสทช. ต่ออายุคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ อีก 1 ปี ทำประเทศชาติและประชาชน เสียหาย 1.6 แสนล้านบาท เตือนผลักดันร่างประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ เสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องสูง เหตุร่างประกาศฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (30 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเสวนาสาธารณะ “ทางเลือกการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อสัญญาสัมปทานบริการมือถือสิ้นสุด” โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ให้บริการคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ควรทำคือ ให้ความเข้าใจกับผู้ใช้บริการว่าเมื่อสัญญาสัมปทานหมดลงผู้ใช้บริการจะอยู่ในสถานะใด และควรทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการด้วย

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการ ควรที่จะรายงานตัวเลขผู้ใช้บริการที่มีการใช้งานจริงในคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวให้ชัดเจนว่าปัจจุบันมียอดผู้ใช้บริการที่เหลืออยู่จริงเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่านับรวมยอดซิมที่แจกฟรีอยู่ตามท้องตลาดและอาจจะเป็นซิมที่ไม่ได้ใช้งานและบวกรวมล่าวอ้างว่าเกือบ 20 ล้านเลขหมาย และนับรวมซิมที่ไม่ใช้งานเป็นตัวประกัน ทั้งนี้ กสทช.จะทำหนังสือส่งถึงผู้ให้บริการเพื่อขอให้นำตัวเลขผู้ใช้งานจริงย้อนหลัง 3 เดือน เพื่อดูว่าจำนวนที่แท้จริงของผู้ใช้งาน 1800 เมกะเฮิรตซ์ นั้นมีเท่าไหร่กันแน่ และเมื่อต้องโอนย้ายเลขหมายจริงๆ ทั้งหมดต้องใช้เวลาเท่าไหร่

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การที่ กสทช. จะขยายระยะเวลาให้เอกชนมีสิทธิ์ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปอีก 1 ปี จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศและประชาชนเบื้องต้นเป็นมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท หากไม่สามารถเปิดประมูลได้ในปีนี้ โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามผลการวิจัยของสถาบันอนาคตประเทศไทยที่เคยประเมินความเสียหายจากความล่าช้าในการประมูลใบอนุญาตให้บริการ (ไลเซนส์) 3 จี คลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ รวมถึงตัวอย่างผลการศึกษาของประเทศอังกฤษที่ประมูลคลื่น 3 จี ล่าช้าเช่นเดียวกัน และทำให้ประเทศต้องเสียโอกาสทางธุรกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ กสทช.ไม่สามารถชดเชยโอกาสของประชาชน ซึ่งควรจะได้ใช้ 4 จี และมูลค่าทางเทคโนโลยีที่ไม่เกิดขึ้นของคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในปีนี้ ทั้งที่กสทช. รู้ล่วงหน้าว่าคลื่นดังกล่าวจะสิ้นสุดสัมปทาน เดือน ก.ย.นี้ ทั้งนี้ หาก กสทช. ยังพยายามผลักดันให้ร่างประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ…. มีผลบังคับใช้เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องสูงมาก เพราะ นักวิชาการด้านกฎหมายได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ร่างประกาศฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ กสทช. ไม่มีอำนาจที่จะให้เอกชนเข้ามา มีสิทธิ์ในคลื่นที่หมดสัมปทานแล้ว

นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการ และการบริหารงานของ กสทช. (ซูเปอร์บอร์ด) กล่าวว่า สิ่งที่ซูเปอร์บอร์ดเข้าไปตรวจสอบได้ คือ แผนการบริหารจัดการเรื่องการโอนย้ายลูกค้าผ่านระบบคงสิทธิเลขหมาย ((นัมเบอร์พอร์ทิบิลิตี้) ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยโอนย้ายลูกค้าที่หมดสัมปทานให้ทันเวลาที่กำหนดได้ โดยสามารถเพิ่มปริมาณได้สูงสุดมากกว่า 1 ล้านเลขหมายต่อวัน แต่ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ ทำให้การโอนย้ายเปิดปัญหา ดังนั้น สิ่งที่อยากจะฝากสำนักงาน กสทช. คือติดตามผลการคงสิทธิเลขหมายจากผู้ให้บริการอย่างเคร่งครัด


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 30 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ “ทีดีอาร์ไอ”ชี้“กสทช.”ต่ออายุคลื่น1800 ชาติเสียหาย 1.6 แสนล้าน