ทีดีอาร์ไอชำแหละ 8 ปมทุจริตข้าว

ปี2013-07-24

posttoday20130724

ทีดีอาร์ไอชำแหละ 8 ปมทุจริตจำนำข้าว พบจีทูจีเก๊ระบายแค่ 8 แสนตัน ไม่ใช้1ล้านตันตามที่พาณิชย์อ้าง

ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)เศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรมวุฒิสภา ที่มีนายบุญชัย โชควัฒนา สว.สรรหา ประธานกมธ.ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล โดยได้เชิญนายนิพนธ์ พัวพงศธร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) มาให้ข้อมูล

นายนิพนธ์ ชี้แจงในประเด็นการระบายข้าวว่า จากการทำการวิจัยของทีดีอาร์ไอนั้นพบความผิดปกติ และหลักฐานในการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวใน 8 ประเด็นคือ

1.ในรายงานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวซึ่งมีการปิดบัญชีครั้งล่าสุดไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.56 มีข้าวสารที่ไม่ลงบัญชีจำนวน 2.9 ล้านตันซึ่งตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการประมาณการของทีดีอาร์ไอ และเป็นที่มาของการตรวจโรงสีทั่วประเทศ

2.มีการนำข้าวทั้งข้าวสารและข้าวเปลือกมาทำเป็นข้าวนึ่ง คือการเอาข้าวมานึ่งก่อนที่จะนำไปสีเพื่อที่จะให้ยางในข้าวมีความเหนียว และมีราคาสูงขึ้น

3.มีการนำข้าวคุณภาพดีไปขาย และมีการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อบ้านจำนวน 9 แสนตันซี่งมีคุณภาพต่ำกว่ามาใส่ไว้ในโกดังแทน

4.การที่กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค.55 รัฐบาลได้มีการขายข้าวแบบจีทูจีจำนวน 1.46 ล้านตันโดยมีการทำสัญญากับต่างประเทศจำนวน 6 ประเทศ แต่จากข้อมูลของผู้ส่งออกพบว่าไม่มีการขายขายตามที่กระทรวงพาณิชย์กล่าวอ้าง อีกทั้งทีดีอาร์ไอได้มีการตรวจสอบพบว่าไทยได้มีการขายข้าวไปเพียง 8.8

5.กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาดทำให้เกิดการขาดทุน แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่เคยเปิดเผยราคาและจำนวนที่มีการขาดทุน อีกทั้งจากข้อมูลยังพบว่าการขายข้าวในฤดูนาปรังที่มีการขายข้าวต่ำกว่าราคาท้องตลาดถึง 53% นั้น มีการขายข้าวให้พ่อค้าเพื่อกินส่วนต่างอีกด้วย

6.เรื่องการขายข้าวถุงราคาถูกนั้นรัฐบาลไม่ได้มีการตรวจสอบเอกชนที่ทำข้าวถุงตามโครงการร้านถูกใจว่าเป็นไปตามสัญญาว่าจ้างหรือไม่

7.มีการขายข้าวใหม่ในราคาข้าวเก่าโดยการสลับบัญชีข้าวในโกดัง

8.มีรายงานว่า มีบริษัทเอกชนซึ่งเป็นบริษัทที่มีต่างชาติมาลงทุนส่งออกข้าวไทย ชนะการประมูลขายข้าวให้อิรัก 6 ครั้งคิดเป็นจำนวน 3 แสนตันโดยประมูลชนะบริษัทของไทย ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดบริษัทดังกล่าวจึงขายข้าวได้ในราคาถูกกว่าบริษัทของไทย

นายนิพนธ์ ยังกล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องจำนำข้าวนั้น ก็ไม่ได้มีการตั้งผู้ชำนาญการในเรื่องข้าวเข้ามาอยู่ในกรรมการชุดนี้ ซึ่งมองว่าเป็นการบริการจัดการที่ขาดอำนาจ อีกทั้งในคณะกรรมการนโยบายข้าวก็ไม่มีตัวแทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ทั้งที่เป็นเจ้าของเงินกู้แต่กลับไม่ได้รับรายงานและข้อมูลการประชุมใดๆเลย โดยรัฐบาลอ้างว่ามีหน้าที่แค่จ่ายเงินเท่านั้น

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการปิดบังข้อมูลการจำนำข้าวที่ผิดกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการรวมทั้งไม่มีการประกาศคำสั่งการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจนจึงทำให้สังคมไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ดังนั้นจึงมองว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะรัฐบาลมีเจตนาวางระบบการบริหารจัดการอนุมัติและระบบข้อมูลแบบแยกส่วน ขาดการรวมศูนย์ข้อมูล ไม่มีใครมองเห็นภาพรวม และแนะแนวต่างๆของการบริหาร

“ผลประโยชน์จากนโยบายประกันรายได้นั้นจะตกถึงมือเกษตรกรถึง 90% ส่วนนโบยายจำนำนั้นผลประโยชน์จะตกถึงมือเกษตรกรเพียง 60-70% อย่างไรก็ตามในเรื่องการทุจริตนั้นเราต้องยอมรับว่ามีการทุจริตทั้งสองนโยบายซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีรัฐบาลไหนที่สนใจในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้” นายนิพนธ์ กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอชำแหละ8ปมทุจริตข้าว