เรียกร้องพัฒนาคุณภาพระบบหลักประกันสุขภาพคนไทย

ปี2013-07-07

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

นักวิจัยทีดีอาร์ไอเรียกร้องการพัฒนาคุณภาพที่ไม่เหลื่อมล้ำของระบบหลักประกันสุขภาพคนไทย โดยในการเสวนาสาธารณะเรื่อง  “คิดใหม่ระบบหลักประกันสุขภาพของไทย” ซึ่งทีดีอาร์ไอจัดขึ้น  เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา นักวิจัยทีดีอาร์ไอได้เสนอบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพ  ที่ยังมีความไม่สอดคล้องกันของเงินที่ใส่ลงไปในแต่ละระบบ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ คุณภาพบริการ  และแนวทางลดความเหลื่อมล้ำที่จะไม่ทำให้สถานะสุขภาพของคนไทยแตกต่างกัน  โดย

ดร.วิโรจน์  ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอนำเสนอบทวิเคราะห์ เหลียวหลังแลหน้า เส้นทางเดินของระบบหลักประกันสุขภาพของไทย ระบุว่า มีมายาคติหรือตรรกที่ผิดพลาดในวงการสุขภาพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคือความเชื่อที่ว่าต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจนนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายและนโยบายที่สร้างปัญหามาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า ประเทศจะอยู่ไม่ได้หรือแข่งขันไม่ได้ถ้าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มเร็วกว่าหรือสูงกว่ารายได้(GDP) และต่อมาถูกย้ำว่าประเทศอยู่ใน “วิกฤติสุขภาพ” ทำให้จำเป็นต้องปฎิรูป และเมื่อเกิดโครงการ 30 บาทซึ่งเป็นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  แต่เป้าหมายสำคัญกลับอยู่ที่การควบคุมค่าใช้จ่าย   ความเชื่อนี้มีผลกระทบมากตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน และยังมีผลมากในปัจจุบัน โดยการกดค่าหัวของโครงการ 30 บาทให้ต่ำตั้งแต่ต้น นำไปสู่การเพิ่มค่าหัวในอัตราที่สูงขึ้นในปีต่อ ๆ มาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อ โรงพยาบาลติดลบมาก  ปัจจุบันรัฐบาลนี้ก็มีนโยบายแช่แข็งค่าหัวของโครงการ 30 บาท  การเกิดโครงการ P4Pที่พยายามรีดประสิทธิภาพโดยไม่ใช้เงินเพิ่ม

viroj
ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง, ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร

หากต้องการระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืนเป็นที่พึ่งพิงที่ประชาชน ฝากชีวิตได้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้เสื่อมถอยไปเป็นแค่โครงการสำหรับคนจนที่ไม่มีทางเลือกการแก้ปัญหาในอนาคตควรมุ่งไปสู่การปรับปรุงคุณภาพให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประชาชนเชื่อมั่น  ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายและบุคลากรต้องเพิ่มขึ้นอีกมากส่วนระบบบริหารหรือการอภิบาลระบบนั้น ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ระบบสาธารณสุขเป็นระบบที่มีความพยายามปฏิรูปมากที่สุด  แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการสร้างนโยบายที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้จริง ทางออกที่เป็นไปได้อยู่ที่การประนีประนอมและหาทางออกหรือจุดร่วมที่สมเหตุสมผล โดยฝ่ายการเมืองควรเดินออกจากหล่มตรรกวิบัติที่ว่าประเทศจะไปไม่ได้ถ้าไม่แช่แข็งรายจ่ายด้านสุขภาพ แล้วหันไปเน้นการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งจะต้องการทั้งคนและเงินเพิ่มในระยะยาว  ผู้บริหารฝ่ายการเมือง(รมต.)ต้องทำหน้าที่ทำความเข้าใจและต่อรองเรื่องงบกับรัฐบาล ซึ่งถ้ามองการณ์ไกล การรักษาและพัฒนาให้โครงการและระบบบริการมีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือของประชาชนจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายการเมืองเองในระยะยาว    ระบบจะมีคุณภาพได้ต้องสามารถถ่วงดุลย์หรือแยกบทบาทของผู้คุมกฎ ผู้ซื้อ และผู้ใช้บริการ  ขณะที่ฝ่ายที่ต้องการปฎิรูปควรให้ความสำคัญกับการปฎิรูประบบ เน้นการพัฒนาระบบที่สามารถเดินไปได้ในระยะยาวโดยไม่ต้องยึดติดกับตัวบุคคล และไม่หลงคิดว่าการเดินหน้าชนแบบเดิมหรือแรงขึ้นโดยมีผู้สนับสนุนเพียงบางส่วนจะสามารถทำให้คนที่เหลือมาเห็นด้วยหรือจะทำให้ได้มาซึ่งชัยชนะอย่างเด็ดขาดนั้น นอกจากทำได้ยากแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้สูญเสียทุนทางสังคมที่พอมีอยู่เปล่าประโยชน์

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอนำเสนอบทวิเคราะห์ กลไกอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยกล่าวว่า   แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้คนไทยทุกคนต้องได้รับบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันแต่ในความเป็นจริง ระบบได้สร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำทำให้คนบางกลุ่มได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นเพราะระบบประกันสุขภาพของไทยเกิดมาทีละชิ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เริ่มจากสวัสดิการข้าราชการ เป็นกลุ่มแรก ต่อมาคือประกันสังคม และต่อมาคือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งก็ทำให้ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มแต่เกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ

ระบบประกันสุขภาพของไทยมีลักษณะที่แปลกกว่าประเทศอื่นคืออยู่ภายใต้หลายกระทรวง  ทำให้บริหารจัดการได้ยาก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนในปัจจุบัน จะเห็นได้จากอัตราเหมาจ่ายรายหัวของแต่ละกองทุน  โดยข้อมูลในปี 2554 พบว่า หลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลคนกว่า 48.12 ล้านคน ใช้เงินปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อหัว 2,091 บาท/คน  ประกันสังคมดูแลคน 9.9 ล้านคน ใช้เงินปีละประมาณ 25,361 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อหัว 2,562 บาท/คน ขณะที่สวัสดิการข้าราชการดูแลคน 4.4 ล้านคน ใช้เงินปีละประมาณ 61,844 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายต่อหัว 14,056 บาท/คน

ความเหลื่อมล้ำมีอยู่ในทุกรูปแบบและแตกต่างกันทั้งสิทธิประโยชน์ คุณภาพในการรักษาพยาบาล และค่าเบี้ยประกัน ตัวอย่างเช่น กรณีสิทธิประโยชน์ทั้ง 3 กองทุนก็ได้รับไม่เท่าเทียมกัน เป็นโรคเดียวกันเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลก็จะแตกต่างกันตามสิทธิที่ติดตัวมา ทั้งที่ความจริงไม่ว่าจะมาจากระบบประกันแบบไหนก็ควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน  การแยกระบบแยกการบริหารดังที่เป็นอยู่ทำให้เกิดต้นทุนที่แตกต่างกันจึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการการลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องมีระบบประกันสุขภาพระบบเดียว โดยอาจไม่ต้องรวม 3 กองทุนแต่อยู่ภายใต้ระบบเดียว  ต้องมีชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานชุดเดียว สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมจากชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐาน ผู้ประกันตนหรือนายจ้าง มิใช่รัฐจะต้องเป็นผู้จ่าย เพื่อที่จะให้ประชาชนทุกคนได้รับการอุดหนุนด้านบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกัน

duenden
ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์, ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ

ข้อเสนอ คือ ประเทศไทยควรพัฒนาระบบประกันสุขภาพโดยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นแกนหลัก  โดยให้ สปสช.ดูแลสิทธิประโยชน์มาตรการที่เท่าเทียมกัน ส่วนกองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคมอยากให้สิทธิประโยชน์ใดเพิ่มเติมก็ต้องเป็นผู้จ่ายเงินเติมเข้ามา    แต่ทั้งนี้สิ่งที่ต้องระวังคือการได้สิทธิพิเศษนั้นต้องไม่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำ  จึงต้องมีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นสิทธิประโยชน์ด้านสังคม เช่น การชดเชยรายได้ในกรณีลางานเพื่อคลอดบุตรหรือเจ็บป่วย  สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพเพิ่มเติม เช่น การใช้บริการในสถานพยาบาลเอกชน การเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ บริการทันตกรรม การรักษาพยาบาลจากแพทย์ทางเลือก เป็นต้น  และเป็นสิทธิที่ไม่ใช่การเบียดเบียนใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด

ที่สำคัญ ระบบประกันสุขภาพในอนาคตควรเป็นระบบที่มีการตรวจสอบคุณภาพมากขึ้นและมีกลในการส่งเสริมความรับผิดชอบ.