20 ปีวิถีคนไทยรู้จักออมเงินและมีเงินออมเพิ่มขึ้น แนะรัฐลดช่องว่าง“รวยสุด-จนสุด”ยังเหลื่อมล้ำสูง

ปี2013-07-01

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ วิถีชีวิตคนไทย 20 ปีที่ผ่านมา พบสัญญาณดีครัวเรือนไทยที่มีเงินออมมีจำนวนมากขึ้น มีเงินออมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว แต่ความเหลื่อมล้ำด้านเงินออมระหว่างคนรวยและคนจนก็สูงขึ้นเช่นกัน คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้การบริหารจัดการทางการเงิน ผลพวงจากระดับการศึกษา แนะรัฐเพิ่มการดูแล หวังลดช่องว่าง โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจนและผู้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม


จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น กอปรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สนับสนุนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยหลักที่อาจส่งผลให้ตัวเลขการออมของคนไทยลดน้อยลงเนื่องจากประชาชนมีกำลังการออมที่จำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร. ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลศึกษาภาพรวมเกี่ยวกับเงินออม การสะสมทุน และการถือครองทรัพย์สินของครัวเรือนไทย ในช่วง 2 ทศวรรษ (โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยในช่วง พ.ศ.2531-2552) โดยกล่าวว่า สถานะการออมของคนไทยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยสัดส่วนครัวเรือนที่มีการออมเงินหรือมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้น  จากสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2531 พบว่าสัดส่วนครัวเรือนที่ไม่มีเงินออมอยู่ที่ร้อยละ 48 แต่ในปี พ.ศ. 2552 สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด โดยที่ครัวเรือนมีเงินออมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า จากที่ในปี 2531 ครัวเรือนไทยมีเงินออมเฉลี่ยเพียง 507 บาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ในปี 2552 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 5,145 บาท คิดเป็นอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 12 ต่อปี  โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ ขณะที่รายจ่ายไม่ได้ขยายตัวในอัตราที่สูงเทียบเท่ากับรายได้

อย่างไรก็ดี นักวิชาการทีดีอาร์ไอได้ตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านเงินออมระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างชัดเจน จากการแบ่งประชากรไทยออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละเท่าๆ กัน โดยใช้ข้อมูลข้างต้น พบว่าในปี 2552 กลุ่มคนที่ร่ำรวยสุดมีเงินออมเฉลี่ยสูงมากถึงราวๆ 6,300 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่กลุ่มคนที่จนสุดโดยเฉลี่ยไม่มีเงินออม ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเนื่องจากไม่มีเงินออมที่สามารถใช้เป็นหลักประกันทางการเงินสำหรับตนเองและครอบครัวในยามที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องใช้เงิน  ข้อเท็จจริงประการหนึ่งจากผลสำรวจดังกล่าวชี้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านการออมดังกล่าวน่าจะเป็นผลพวงจากความไม่เท่าเทียมกันของระดับการศึกษาของคนในสังคมไทย โดยผู้ที่มีการศึกษาสูงมีรายได้ดีและสามารถจัดสรรเงินออมไปลงทุนในทางเลือกต่างๆ ได้ดีกว่าผู้ที่มีการศึกษาน้อยกว่า ทั้งนี้ หากพิจารณาผลการศึกษา“ภาวะหนี้ครัวเรือนไทย:ความเสี่ยงและนัยเชิงนโยบาย” โดยยรรยง ไทยเจริญและคณะ (2547) ประกอบ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ด้านการจัดการทางการเงิน โดยผู้ที่มีความรู้ทางการเงินน้อยมักจะเป็นคนในกลุ่มรายได้ต่ำและมีการศึกษาน้อย

นอกจากนั้น เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างด้านการออมจากโครงสร้างครัวเรือน 6 ประเภท ได้แก่ 1.ครัวเรือนแบบ 1 รุ่น 2.ครัวเรือนแบบ 2 รุ่น 3. ครัวเรือนแบบ 3 รุ่น 4.ครัวเรือนแบบอยู่คนเดียว 5.ครัวเรือนแบบอยู่กับญาติหรือเพื่อน และ 6.ครัวเรือนแบบแหว่งกลาง พบว่า ครัวเรือนที่อยู่กัน 2 รุ่น หรืออยู่กับญาติมีแนวโน้นสะสมทุนได้มากกว่าครัวเรือนแบบอื่นๆ เนื่องจากครัวเรือนเหล่านี้มีสมาชิกอยู่ในวัยทำงาน จึงมีโอกาสในการสะสมทรัพย์สินทางการเงินได้ง่ายและมากกว่าครัวเรือนประเภทอื่น แต่ในทางกลับกัน ครัวเรือนแบบแหว่งกลาง (เช่น ครัวเรือนที่ปู่-ย่า-ตา-ยายและหลานอาศัยอยู่ร่วมกัน) เป็นกลุ่มที่จนสุดและมีการออมเงินในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับครัวเรือนประเภทอื่น เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวประเภทนี้คือผู้สูงอายุเลยวัยเกษียณ(อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ โดยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเงินโอนในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งมีเงินออมน้อยและน่าจะมีข้อจำกัดในการวางแผนรองรับในระยะยาวเพื่อลดผลกระทบของความไม่แน่นอนในอนาคต

เช่นเดียวกับการสะสมทุนหรือการถือครองทรัพย์สินทางการเงินของครัวเรือน เป็นผลสืบเนื่องมาจากครัวเรือนที่มีการบริหารจัดการระหว่างรายได้กับรายจ่าย โดยจะนำเงินออมส่วนหนึ่งไปแปรเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ต่างๆ  จากข้อมูลในปี 2552 พบว่า ครัวเรือนกลุ่มที่จนสุดร้อยละ 94 มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนครัวเรือนกลุ่มที่รวยสุดกว่าร้อยละ30 ถือครองทรัพย์สินทางการเงินมากกว่า 100,000 บาท   ในภาพรวมความสามารถในการสะสมทุนของครัวเรือนนอกจากจะมีความแตกต่างกันในด้านมิติของรายได้แล้ว ยังมีแนวโน้มผันแปรตามระดับการศึกษาอีกด้วย เนื่องจากสมาชิกในครัวเรือนที่มีการศึกษาสูงมักมีโอกาสในการสร้างรายได้และสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินต่างๆ ได้ดีกว่าครัวเรือนที่สมาชิกมีการศึกษาน้อย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ได้เสนอแนะให้ภาครัฐเร่งยกระดับมาตรฐานการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ผู้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากคุณภาพการศึกษานับว่าเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กำหนดรายได้ของแต่ละบุคคล  อย่างไรก็ดี ความรู้จากการศึกษาขั้นพื้นฐานและรูปแบบการออมแบบดั้งเดิม เช่น การฝากเงินกับธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ย เป็นต้น คงไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีพลวัตรและแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ดังนั้นในส่วนของประชาชน ควรเพิ่มความรอบรู้ทางการเงิน และมองถึงการลงทุนระยะยาว รวมทั้งควรดำเนินชีวิตโดยใช้หลักความพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านการเงิน และรักษาระดับการใช้จ่ายของตนไม่ให้เกินตัว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ  นอกจากนั้น ภาครัฐควรพยายามขยายฐานภาษีไปสู่ผู้ที่มีรายได้สูงที่ยังไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีได้ไม่เต็มความสามารถ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลที่จะนำไปใช้จ่ายเป็นสวัสดิการได้มากขึ้นสำหรับคนยากจนและผู้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม.