วันนี้ (24 ก.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา ที่มีนายบุญชัย โชควัฒนา ส.ว.สรรหา ประธาน กมธ.ทำหน้าที่เป็นประธาน ได้พิจารณาเรื่องนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล โดยเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล โดยนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้แจงการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ว่า จากการทำการวิจัยของทีดีอาร์ไอนั้นพบความผิดปกติ และมีหลักฐานใน 8 ประเด็น คือ 1.ในรายงานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีการปิดบัญชีครั้งล่าสุดไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.56 มีข้าวสารที่ไม่ลงบัญชีจำนวน 2.9 ล้านตัน ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการของทีดีอาร์ไอ 2.มีการจำนำทั้งข้าวสารและข้าวเปลือก โดยนำข้าวมานึ่งก่อนที่จะนำไปสีเพื่อที่จะให้ยางในข้าวมีความเหนียว และมีราคาสูงขึ้น 3.มีการนำข้าวคุณภาพดีไปขาย และมีการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งคุณภาพต่ำกว่าจำนวน 9 แสนตันมาใส่ไว้ในโกดังแทน 4. จากการตรวจสอบข้อมูลผู้ส่งออกไม่พบมีการขายข้าวแบบจีทูจีจำนวน 1.46 ล้านตัน โดยมีการทำสัญญากับต่างประเทศจำนวน 6 ประเทศ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ระบุตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค.55 แต่พบว่าไทยได้มีการขายข้าวไปเพียง 8.8 แสนตันเท่านั้น ถามว่าแล้วส่วนที่เหลือหายไปไหน
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า 5.กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้เกิดการขาดทุน แต่ไม่เคยเปิดเผยรายละเอียด อีกทั้งยังพบว่าการขายข้าวในฤดูนาปรังที่มีการขายข้าวต่ำกว่าราคาท้องตลาดถึง 53 % นั้น มีการขายข้าวให้พ่อค้าเพื่อกินส่วนต่างอีกด้วย 6. การขายข้าวถุงราคาถูกตามโครงการร้านถูกใจรัฐบาล ไม่ได้มีการตรวจสอบเอกชนที่ดำเนินการว่าเป็นไปตามสัญญาจ้างหรือไม่ 7.มีการขายข้าวใหม่ในราคาข้าวเก่า โดยการสลับบัญชีข้าวในโกดัง และ 8. มีรายงานว่า มีบริษัทเอกชนซึ่งมีต่างชาติมาลงทุนส่งออกข้าวไทย ชนะการประมูลขายข้าวให้อิรัก 6 ครั้ง คิดเป็นจำนวน 3 แสนตัน โดยประมูลชนะบริษัทของไทย น่าตั้งข้อสังเกตุว่าเหตุใดบริษัทดังกล่าวจึงขายข้าวได้ในราคาถูกกว่าบริษัทของไทย
นายนิพนธ์ ยังกล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องจำนำข้าวนั้น ไม่มีผู้ชำนาญการในเรื่องข้าว ซึ่งตนเห็นว่าเป็นการบริการจัดการที่ขาดอำนาจ อีกทั้งในคณะกรรมการนโยบายข้าวก็ไม่มีตัวแทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ทั้งที่เป็นเจ้าของเงินกู้แต่กลับไม่ได้รับรายงานและข้อมูลการประชุมใด ๆ เลย โดยรัฐบาลอ้างว่ามีหน้าที่แค่จ่ายเงินเท่านั้น นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการปิดบังข้อมูลการจำนำข้าวซึ่งถือว่าผิดกฎหมายการให้ข้อมูลข่าวสารทางราชการ รวมทั้งไม่มีการประกาศคำสั่งการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ชัดเจนจึงทำให้สังคมไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ ดังนั้นตนจึงมองว่ารัฐบาลมีเจตนาวางระบบการบริหารจัดการอนุมัติและระบบข้อมูลแบบแยกส่วน ขาดการรวมศูนย์ข้อมูล ไม่มีใครมองเห็นภาพรวม และแนะแนวต่าง ๆ ของการบริหาร
ด้านพ.ต.อ.ทินกร ณัฏฐมั่งคั่ง รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (รองผบ.ก.ปปป.) ชี้แจงว่า การตรวจสอบโรงสี เป็นหน้าที่หลักเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ส่วน ปปป.นั้นมีหน้าที่เพียงแค่สนับสนุน และเป็นกำลังเสริมในการตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งเราก็ต้องรอหน่วยงานท้องถิ่นร้องเรียนเข้ามา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชี้แจงของ พ.ต.อ.ทินกร ทำให้นายมหรรณพ เดชพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้ท้วงติงว่าเจ้าหน้าที่ควรให้ข้อมูลให้มากกว่านี้ เรื่องทุจริตประพฤติมิชอบไม่ใช่คิดว่าเป็นประเด็นเรื่องนโยบายหรือไม่ ซึ่ง พ.ต.อ.ทินกร ได้ยืนยันว่า ทาง ปปป.มีการดำเนินการทุกเรื่องทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในเรื่องใด เราดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ส่วนเรื่องข้าวนั้นเรามีหน้าที่รับผิดชอบแต่ในเรื่องรับจำนำข้าว แต่ไม่มีหน้าที่ในการระบายข้าว อีกทั้งทางเราไม่มีอำนาจในการชี้มูลความผิด ขณะที่ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร และ กมธ.ได้ซักถามถึงประเด็นการทำวิจัยของทีดีอาร์ไอว่า ได้มีการเปรียบเทียบหรือไม่ว่าระหว่างนโยบายจำนำกับนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นโยบายใดที่มีประโยชน์กับเกษตรกรมากกว่ากัน ซึ่งนายนิพนธ์ กล่าวว่า ผลประโยชน์จากนโยบายประกันรายได้นั้นจะตกถึงมือเกษตรกรถึง 90 % ส่วนนโยบายจำนำนั้นถึงมือเกษตรกรเพียง 60-70% ส่วนการทุจริตนั้นเราต้องยอมรับว่ามีทั้งสองนโยบาย
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 24 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ นักวิชาการทีดีอาร์ไอแฉพิรุธจำนำข้าว 8 ประเด็น