การที่รัฐบาลของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้พยายามทำคลอด พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนลุล่วงเป็นผลสำเร็จผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวาระแรกไปแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นการเติมเชื้อให้ “ไฟการเมือง” เริ่มโหมปะทุรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนอาจทำให้ใครหลายคนตั้งคำถามขึ้นว่า จากนี้ไป… ประเทศไทยจะลงเอยอย่างไร? จากนี้ไป…ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยจนทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องจมดิ่งลงไปอีกหรือไม่?
ขณะเดียวกัน ใครหลายคนก็อาจไม่สนใจกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น เพราะในใจเวลานี้ คิดแค่เพียงว่าจะหารายได้มาจุนเจือครอบครัวได้อย่างไร? เพื่อให้การดำรงชีวิตในแต่ละวันพบกับความสุข!! เพราะทุกวันนี้แม้มีรายได้เพิ่มขึ้นบ้างกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท หรือมีอัตราเงินเดือนใหม่ขั้นต่ำ 15,000 บาท
แต่…รายได้ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับข้าวของเครื่องใช้อาหารการกินและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ตามมาสารพัดแล้ว เรียกได้ว่าไม่สามารถชดเชยกันได้ด้วยซ้ำไป แม้รัฐบาลได้พยายามอัดฉีดเพิ่มแรงกระตุ้น ด้วยการประกาศแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้มาตรการที่ออกมาแทบไม่ได้ทำให้เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเลยสักนิด เพราะรัฐบาลได้บอกอยู่ชัดเจนแล้วว่าเป็นมาตรการที่เน้นเพิ่มความแข็งแรงให้กับเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว ทั้ง ๆ ที่ ณ เวลานี้ สิ่งที่คนไทยโดยเฉพาะ “รากหญ้า” ต้องการและถวิลหามากที่สุด คือ “การลดภาระค่าครองชีพ”!! เช่นเดียวกับบรรดาผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ขาย ที่ต้องการลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจของตัวเองให้ได้มากที่สุด รวมทั้งต้องการให้ข้าวของที่ผลิตออกมานั้นขายออกให้ได้มากที่สุดด้วยเช่นกัน
จึงไม่แปลกใจที่ใครต่อใครหลายคนต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะในเรื่องของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่แม้รัฐบาลได้หวังดีต้องการให้นำค่าใช้จ่าย ค่าห้องพัก ค่าจัดสัมมนาลูกจ้าง ที่จัดในประเทศมาหักภาษีได้ 2 เท่า ในปีภาษี 56-57 รวมไปถึงการเร่งรัดให้ส่วนราชการเบิกจ่ายงบสัมมนาในประเทศให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% หรือการนำค่าใช้จ่ายที่ลงทุนซ่อมแซมทรัพย์สิน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้มาหักค่าเสื่อมได้ 50% ของมูลค่าทรัพย์สินในปีแรก
แต่ในมุมมองของภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกลับเห็นว่าไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้มากนัก เพราะเวลานี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศด้วยตัวเองกันทั้งนั้น โดยมีไม่ถึง 10% ที่ใช้บริการจากบริษัทนำเที่ยว จึงทำให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวในประเทศต่าง “ผันตัวเอง” ไปทำทัวร์ต่างประเทศกันมากขึ้น
ส่วนในแง่ของการจัดทำวีซ่าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทเข้าออกหลายครั้ง หรือมัลติเพิล เอ็นทรี วีซ่า ที่มีระยะเวลาหลายปี ให้กับนักท่องเที่ยว 4-5 ประเทศ รวมไปถึงการยกเว้นอากรขาเข้าให้กับสินค้าที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว 4-5 รายการ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอยในประเทศนั้น แม้ว่าจะเป็นมาตรการที่ดูแล้วเหมือนกับว่าจะช่วยกระตุ้นรายได้จากนักท่องเที่ยวได้ทันที…ก็ตาม
เรื่องนี้ ไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นมาตรการที่สนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น แต่ ณ เวลานี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยเวลานี้ขยายตัวจนติดลมบนประเทศไทย และคาดกันว่าเมื่อถึงสิ้นปีรายได้จากการท่องเที่ยวจะเกือบเข้าใกล้ 2 ล้านล้านบาทตามความต้องการของ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ที่กำหนดไว้ให้ดำเนินการให้ได้ในปี 58 จนถึงขนาดที่ว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านล้านบาทกันทีเดียว
ความพยายามของการติดลมบนให้กับการท่องเที่ยวครั้งนี้ต้องถามกลับไปว่า รายได้ที่เข้ามาคุ้มกับสิ่งที่สูญเสียไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถามคนในพื้นที่ของแหล่งท่องเที่ยวในเวลานี้ต่างขยาดกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวบางประเทศไปเสียแล้ว ขณะที่บางประเทศก็อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเข้ามาครอบครองพื้นที่ ครอบครองธุรกิจของไทยไปอีกต่างหาก
ส่วนมาตรการลงทุนภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเร่งรัดโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานอีโคคาร์เฟส 2 การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นทั้งอาหารและพลังงาน รวมไปถึงการส่งเสริมให้เอสเอ็มอี โอทอป หรือวิสาหกิจชุมชน เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยผ่านกระบวนการทำงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น… ก็เชื่อได้ว่าคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ที่มาตรการเหล่านี้จะเห็นผล และแน่นอนว่าคงไม่สามารถเห็นผลลัพธ์ได้ภายในปีนี้แน่นอน
ที่แน่ ๆ รัฐบาลมีบทเรียนในเรื่องของ “โครงการรถยนต์คันแรก” มาแล้ว ว่าเต็มไปด้วยสารพัดปัญหาเพียงใด แม้จะถกเถียงกันว่าไม่ได้ใช้เงินของประเทศแต่เป็นเงินของผู้ใช้รถเอง ก็ตาม แต่ปัญหาที่ตามมากลับมากมายทั้งปัญหากับดีลเลอร์ขายรถ ทั้งกับบริษัทประกัน ที่สำคัญปัญหาของคนใช้รถใช้ถนน แม้จะมีคนที่ได้ประโยชน์กว่า 1 ล้านคน
เรื่องนี้…นักวิชาการหลายคนเองต่างมองว่า การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในครั้งนี้คงไม่สามารถบู๊ตเศรษฐกิจขึ้นมาได้แน่นอน เพราะปัญหาใหญ่คือเรื่องของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลควรเข้ามาให้ความสำคัญและทำการปฏิรูปให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แม้ต้องใช้เวลาบ้างแต่หากรัฐบาลจริงใจและแสดงให้เห็น “เงินลงทุน” จะหลั่งไหลเข้ามาเองทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการเงินกู้ทั้งการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อลงทุนในระบบสาธารณูปโภคด้านขนส่งใหม่ก็ตาม แต่โครงการเหล่านี้ถามว่าหลายโครงการมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด หลายโครงการสามารถทำได้จริงมากน้อยเพียงใด?
ขณะที่มาตรการการใช้จ่ายภาครัฐทั้งเงินในงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ หรือการเบิกจ่ายเงินรางวัลให้ราชการ โดยเฉพาะเรื่องของเงินในงบประมาณ ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นมาตรการที่อัดเงินเข้าสู่ระบบได้อย่างแท้จริง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าตามธรรมชาติของส่วนราชการแล้ว การกระตุ้นการเบิกจ่ายงบประมาณนั้นทำได้จริงแต่ไม่คุ้มค่ากับงานที่ได้ เพราะทุกคนรู้ดีถึงระบบการเบิกจ่ายของรัฐบาลอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ดูง่าย ๆ อย่างการจัดซื้อแท็บเล็ตให้กับบางหน่วยงาน ใช้เงินมากมายกลับได้ของที่ไม่ครบแถมมีราคาแพงเว่อร์เกือบ 2 เท่า หากมาซื้อในตลาดโดยไม่ต้องผ่านการเสนอราคาของบางบริษัท ที่ต้องยอมว่า “การจ่ายใต้โต๊ะ” ยังมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลาในระบบราชการไทย
ที่สำคัญในเรื่องของการใช้จ่ายภาครัฐนี้เป็นงานที่ส่วนราชการต้องทำตามปกติอยู่แล้วจึงเป็นเรื่องของ “งานรูทีน” และเป็นหนึ่งในแนวทางการบริหารเศรษฐกิจที่คลังสมองของประเทศอย่าง “สภาพัฒน์” ได้ใส่ไว้ในคำแนะนำทุกครั้งที่มีการแถลงข่าวจีดีพีของประเทศ แต่ก็ยังมีการรวบรวมนำมาไว้เป็นหนึ่งในแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ…แม้แต่ในเรื่องของการส่งออก ที่ ณ เวลานี้ รัฐบาลได้คาดหวังเรื่องของการค้าชายแดนให้ช่วยเข้ามาสนับสนุนการส่งออกของประเทศ แม้อัตราเติบโตของการค้าชายแดนจะเติบโตแบบทวีคูณเพราะอีกไม่กี่ปีไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี แต่มูลค่าของการค้าชายแดนก็ยังไม่ใช่รายได้ส่วนใหญ่ที่จะเข้ามาทดแทนรายได้หลักจากการส่งออกที่มีกว่า 60-70% ของจีดีพีได้
ดังนั้นทั้งหมดจึงอยู่ที่ว่า ..เมื่อถึงเวลาที่สภาพัฒน์แจกแจงตัวเลขจริงของเศรษฐกิจในปี 56 แล้วพิสูจน์ได้ว่าเศรษฐกิจกระเตื้องเพิ่มขึ้นได้แน่อีก 1% ตามที่รองนายกฯและรมว.คลัง “กิตติรัตน์” ได้วาดความฝันเอาไว้!.
…………………………………………………………………………………………………………………….
***ย้ำจีดีพีโตเพิ่มอีก1%***
“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกฯและรมว.คลัง ย้ำว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 4 ด้านที่ออกมา มาจากกลไกทางเศรษฐกิจ 4 ด้าน คือการใช้จ่าย การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออก โดยไม่มีการใช้งบประมาณเพิ่มเติม แต่เป็นการกระตุ้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนวณแล้วว่าหากทำได้ทั้งหมดจะกระตุ้นจีดีพีได้ถึง 1% หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาททีเดียว และในการดำเนินการจะดูว่ามาตรการใดพร้อมก่อนก็ดำเนินการไปก่อน ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะผลักดันให้มีการใช้มาตรการทุกอย่างให้ครบถ้วนเพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ
“มาตรการที่ออกมาครั้งนี้เป็นมาตรการที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อหวังให้จีดีพีขยายตัวเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น โดยมาตรการทั้งหมดจะเร่งให้มีผลต่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 57”
***ทีดีอาร์ไอจี้ปฏิรูปศก.***
“นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ มองว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือปฏิรูประบบเศรษฐกิจ ลดหรือเลิกมาตรการประชานิยมจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า โดยเฉพาะมาตรการจำนำข้าว รวมไปถึงการเร่งศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตามโครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทใหม่ โดยดูว่ามีโครงการใดบ้างที่พร้อมและมีประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร
“มาตรการที่ออกมาล่าสุดทั้ง 20 มาตรการนั้น แทบไม่มีอะไรที่ใหม่ ที่สำคัญยังขาดสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจมหภาค ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากไทยสามารถปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งได้แล้ว ในที่สุดก็จะมีเงินจากภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนเอง ซึ่งสำคัญมากกว่าสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ตอนนี้”
***เอกชนชี้แก้ไม่ตรงจุด***
“ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) บอกว่า มาตรการที่ออกมาแทบจะช่วยกระตุ้นไม่ได้ ไม่ทั่วถึง และไม่ตรงจุด ที่ผ่านมา สทน. เคยเสนอมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวโดยให้ลดภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา ที่ท่องเที่ยวด้วยการใช้บริการทัวร์ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมาหักลดหย่อนภาษีได้ โดยในส่วนของบุคคลธรรมดา เสนอให้หักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท เพื่อจูงใจ รวมทั้งได้เสนอให้แจกโบนัสเป็นคูปองเงินสด มูลค่า 10,000 บาท ให้แก่ข้าราชการใกล้เกษียณอายุ เพื่อนำมาใช้ท่องเที่ยว เพราะมองว่าจะทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินหมุนไปอีก 2 วงรอบ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะได้ผลที่ชัดเจนกว่า แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรมองถึงเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการ หากมาตรการทำให้ต้นทุนต่ำลงได้ ก็สามารถลดราคาทัวร์ได้
ทีมเศรษฐกิจ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 12 สิงหาคม 2556 ในชื่อ เข็น20มาตรการอุ้มเศรษฐกิจเซ็งแซ่…แก้ปัญหาไม่ตรงจุด