อย่ารังแกคนแก่

ปี2013-08-22

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ขณะนี้ฝ่ายรัฐกำลังพยายามยุบเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 โดยโอนย้ายการออมของประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมดให้ไปอยู่กับกองทุนประกันสังคม

พระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ เป็นผลผลิตร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่อำนวยการเรื่องวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และประชาชนอีกจำนวนมาก และพรรคเพื่อไทยเองเมื่อเป็นพรรคฝ่ายค้านก็เป็นผู้เสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติเพื่อไปแข่งกับฉบับของรัฐบาลในอดีต

เหตุผลหลักของการยุบเลิกพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ คือ เรื่องความซ้ำซ้อนกับการสนับสนุนการออมผ่านมาตรา 40 ในกฎหมายประกันสังคม และเพื่อการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของสำนักงานประกันสังคมในการจัดเก็บเงินออม

แม้ว่าหลักการยุบเลิกจะเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน แต่ก็รัฐต้องคำนึงถึงหลักการของความเสมอภาค ความเป็นธรรม และแนวนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานของรัฐ มีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนมาจากรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ในปัจจุบัน การได้มาของตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างก็มีปัญหาว่าเป็นตัวแทนที่แท้จริงของนายจ้างและลูกจ้างส่วนใหญ่หรือไม่

ในขณะที่เราจะรวมประชาชนอีกประมาณ 30 ล้านคนเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบเดียวกันและเรียกว่าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ของกฏหมายประกันสังคม คนเหล่านี้ไม่มีตัวแทนของตนที่จะไปมีส่วนร่วมในการตัดสินเพื่อประโยชน์ของตนในระบบประกันสังคมเลย คณะกรรมการประกันสังคมที่มีคนเพียง 15 คนเท่านั้นที่จะตัดสินประโยชน์ที่จะเกิดกับคน 30 ล้านคนนี้

การที่สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานของรัฐ สินทรัพย์ทั้งหมดก็เป็นของรัฐด้วย การลงทุนต่างๆ ก็ถือว่าเป็นรัฐลงทุน ประชาชนที่รับเงินจากสำนักงานประกันสังคมก็ถือว่ารับเงินจากรัฐทั้งๆ ที่รัฐมีส่วนลงขันไม่ถึงหนึ่งในสามด้วยซ้ำ

การที่ประชาชนรับเงินสิทธิประโยชน์จากรัฐ จะทำให้หมดสิทธิการได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องด้วย ในระเบียบของการรับเงินเบี้ยยังชีพกล่าวไว้ว่าผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพต้องไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ด้วยเหตุนี้ประชาชนย่อมขาดแรงจูงใจในการออม เพราะออมแล้วก็จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ แถมเงินที่จะออมได้ยังอาจจะทำให้ได้รับบำนาญน้อยกว่าเงินที่จะได้รับจากเบี้ยยังชีพอีกด้วย

สิ่งที่รัฐควรทำโดยที่ยังสามารถยึดหลักของการส่งเสริมการออมเพื่อการชราภาพ หลักความเสมอภาค ความเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้วยน่าจะเป็นดังนี้

หนึ่ง แก้ไขพระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ และพระราชบัญญัติประกันสังคม ในบางมาตรา โดยให้เรื่องการออมเพื่อการชราภาพของประชาชนทั้งหมด อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันคือ พระราชบัญญัติการออมแห่งชาติ ให้ประชาชนทุกคนได้รับการสนับสนุนการออมเพื่อการชราภาพอย่างเสมอภาพ และรัฐสมทบอย่างเสมอภาค ถ้าผู้ประกันตน หรือข้าราชการอยากออมด้วยก็ไม่ควรไปกีดกัน และให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานของสำนักงานประกันสังคมในการเก็บและจ่ายเงิน โดยคิดค่าธรรมเนียมการให้บริการที่เหมาะสม

สอง ให้มีหน่วยงานดูแลการออมนี้เป็นนิติบุคคล ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ตามที่พระราชบัญญัติการออมแห่งชาติได้บัญญัติไว้แล้ว แต่ควรเพิ่มให้มีคณะกรรมการนโยบายบำนาญแห่งชาติเพื่อกำกับนโยบายที่สำคัญนี้อย่างเสมอภาคและมีประสิทธิภาพ

สาม ให้ผู้ประกันตนสามารถโอนย้ายเงินออมของตนจากกองทุนประกันสังคมมาไว้ในกองทุนการออมแห่งชาตินี้ได้เมื่อเห็นว่ากองทุนประกันสังคมบริหารจัดการได้ไม่ดีเท่ากองทุนการออมแห่งชาติ หรือเมื่อต้องการลาออกจากงานลูกจ้างไปทำงานอย่างอื่นและต้องการออมเงินต่อไปเพื่อให้เพียงพอกับการใช้ยามแก่ชรา หรือในทางกลับกัน ถ้าคนทำอาชีพอิสระอยากไปเป็นลูกจ้างและออมกับระบบประกันสังคมก็ให้สามารถโอนย้ายเงินที่เคยออมไปสู่ระบบประกันสังคมได้

ทั้งสามข้อนี้เป็นหลักการที่อยากเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องและรัฐช่วยกันถกอย่างสร้างสรรค์และสานสนทนาอย่างมีเหตุมีผล ความสำเร็จที่เกิดจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐได้เลย

อย่าลืมว่าเราทุกคน (ถ้าไม่ตายซะก่อน) จะต้องเข้าสู่วัยชรา เราและรัฐควรเตรียมการ เพื่อให้เราสามารถแก่ชราได้อย่างไม่แร้นแค้น ในขณะเดียวกันเราก็อยากเห็นคนชราที่อยู่ข้างบ้านเราอยู่อย่างไม่แร้นแค้นเช่นกัน