ข่าวดีและข่าวร้ายของชีวิตคนไทยในกระแสแห่งการพัฒนา

ในช่วง 2 ทศวรรษแห่งการพัฒนาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ก้าวข้ามจากประเทศยากจนไปเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นช่วยเหลือคนยากจนให้มีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระดับรายได้ประชากร ระดับหนี้ครัวเรือนมักจะเน้นถึงความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นและไม่ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของการพัฒนาในระยะยาวมากนัก

งานวิจัย “ชีวิตคนไทยในสองทศวรรษของการพัฒนา” โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกรและคณะ ได้ทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ด้านต่าง ๆ ของครัวเรือนประเภทต่าง ๆ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายเรื่องการดูแลเด็ก การศึกษา ชีวิตการทำงาน รายได้และรายจ่ายครัวเรือน การออมและการสะสมทรัพย์สิน สุขภาพ ไปจนถึงความเป็นอยู่ในวัยชราของคนไทยในสองทศวรรษของการพัฒนาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2529 – 2552) โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้กล่าวถึง ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย ดังนี้

1)      การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครัวเรือนไทย

ทีมวิจัยได้แบ่งโครงสร้างครัวเรือนไทยออกเป็น 6 ประเภทในระหว่างปี 2529 – 2552 ได้แก่

  • ครัวเรือนอยู่คนเดียว มี 2.4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
  • ครัวเรือนอยู่กับเพื่อนหรือญาติ มี 0.7 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
  • ครัวเรือน 1 รุ่น (มีสามี-ภรรยาอยู่ด้วยกัน) มี 3.3 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
  • ครัวเรือน 2 รุ่น (มีพ่อ แม่ ลูกอยู่ด้วยกัน) มี 8 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
  • ครัวเรือน 3 รุ่น (มีพ่อ แม่ ลูก หลานอยู่ด้วยกัน) มี 4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
  • ครัวเรือนแหว่งกลาง (มีปู่ ย่า ตา ยาย หลานอยู่ด้วยกัน) มี 1.4 ล้านครัวเรือน

ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างครัวเรือนไทยมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ครัวเรือนอยู่คนเดียว ครัวเรือน 1 รุ่น ครัวเรือน 3 รุ่นและครัวเรือนแหว่งกลางมีสัดส่วนมากขึ้น ในขณะที่ครัวเรือน 2 รุ่นมีสัดส่วนลดลง โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของครัวเรือน 3 รุ่นหมายความว่า ผู้สูงอายุ (ปู่ ย่า ตา ยาย) อยู่กับลูกหลานมากขึ้นและสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ ซึ่งถือเป็นการพึ่งพิงกันในสังคมไทยและเป็นข่าวดีสำหรับความเป็นอยู่ของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างดังกล่าวก็ไม่ได้มีแต่ข่าวดีเพียงอย่างเดียว การเพิ่มสูงขึ้นของครัวเรือนแหว่งกลางถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งมีจำนวนรวมกันถึง 1.02 ล้านครัวเรือน พ่อ-แม่ที่เป็นประชากรในวัยแรงงานต้องไปทำงานในพื้นที่อื่น (โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เมือง) และไม่สามารถนำลูกไปอาศัยด้วยในเมืองได้ ลูกจึงต้องอยู่กับคนชราที่บ้าน นอกจากนี้ ครัวเรือนอยู่คนเดียว ยังสูงขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 34 โดยงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า ครอบครัวอยู่คนเดียวส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงอยู่เพียงลำพังคนเดียว

2)      ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครัวเรือนไทย

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ครัวเรือนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คนไทยที่มีอายุน้อยสามารถศึกษาเล่าเรียนได้สูงขึ้นและการเข้าถึงการศึกษาเป็นไปอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยคนยากจนในสังคมสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาภาคบังคับได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น นอกจากนี้ ระบบประกันสุขภาพและสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลได้รับการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก ตัวอย่างเช่น นโยบายสุขภาพถ้วนหน้าทำให้คนจนลดลงกว่า 7.5 แสนคนในระหว่างปี 2533 – 2550 เด็กและผู้สูงอายุได้รับการดูแลด้านสวัสดิการที่ดีขึ้น โดยงานวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ในปี พ.ศ. 2545 มีจำนวนเด็กที่ไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลอยู่ร้อยละ 18 แต่ตัวเลขนี้ลดลงไปเหลือเพียงร้อยละ 3 ในปี พ.ศ. 2552

นอกจากนี้ รายได้ของครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คนไทยบริโภคใช้เครื่องอำนวยความสะดวกในครัวเรือน เช่น โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และน้ำ มากขึ้นตามไปด้วย รายได้ของครัวเรือนไทยเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ารายจ่ายครัวเรือน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการออมของคนไทย โดยงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า ตัวเลขคนไทยที่ไม่มีเงินออมตกลงจากร้อยละ 48 เหลือเพียงร้อยละ 25

3)      ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สิน

ต้องยอมรับว่า ความเปลี่ยนแปลงของครัวเรือนไทยในกระแสแห่งการพัฒนาใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้มีเฉพาะข่าวดีเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครัวเรือนและด้านรายได้ต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคมจากภายนอก ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สินของไทยอยู่ในระดับที่สูงขึ้น โดยช่องว่างระหว่างคนจนกับคนชั้นกลางลดลงเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมีแนวโน้มสูงมากขึ้น

กล่าวได้ว่า คนรวยมีแนวโน้มที่จะรวยขึ้นเร็วกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม ส่วนกลุ่มคนชั้นกลางในสังคมไทยถูกทิ้งห่างจากคนรวยเร็วที่สุดละในขณะเดียวกันถูกไล่ตามติดโดยคนจน

ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่า ร้อยละ 20 ของครัวเรือนที่มีฐานะรวยที่สุดมีรายได้รวมคิดเป็นร้อยละ 54 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศในปี พ.ศ. 2552 ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่มีฐานะรวยดังกล่าว ยังมีออมโดยเฉลี่ยเดือนละ 6,300 บาทในขณะที่กลุ่มบุคคลที่ยากจนที่สุดไม่มีเงินออมเลย

จากตัวเลขความเหลื่อมล้ำดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า ความสามารถในการหารายได้และการออมของกลุ่มคนมีฐานะสูงกว่ากลุ่มคนจนเป็นอย่างมาก คนรวยสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและโอกาสในการทำงานได้ดีกว่าคนฐานะปานกลางและฐานะยากจน ซึ่งส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้น

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวขัดกับความคาดหวังของการพัฒนาประเทศ เนื่องจาก 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งควรจะส่งผลให้คนไทยมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม รายได้ของแรงงานไทยอยู่ในระดับที่ต่ำและไม่เพียงพอที่จะทำให้กลุ่มแรงงานสามารถที่จะเข้าถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มโอกาสในการออมและมีทรัพย์สินสูงขึ้น

จากกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า กระแสการพัฒนาไม่ได้นำมาซึ่ง ‘ข่าวดี’ แก่สังคมไทยเพียงอย่างเดียว จริงอยู่ ความยากจนได้ถูกลดทอนลงไป คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะในเรื่องการศึกษาและเรื่องการรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สินในสังคมก็เป็นปัญหาใหม่ของการพัฒนาที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างสูง

เมืองไทยได้เดินออกมาจากสถานะประเทศยากจน แต่อาจกำลังมุ่งหน้าไปสู่กับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งเจอปัญหาค่าแรงต่ำ ความสามารถในการผลิตต่ำและความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมและการเมืองต่าง ๆ ตามมา รัฐบาลจึงควรพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาแบบใหม่ที่จะทำให้การพัฒนาต่อไปในทศวรรษหน้าเป็นไปอย่างทั่วถึง ยั่งยืนและมีพลวัตมากขึ้น