‘ทีดีอาร์ไอ’ อัด พณ.ประกาศตั้งเป้าระบายข้าวเดือนละ 1 ล้านตัน ทำราคาร่วง กระทบหนักกว่าเปิดเผยสต็อก ชี้อำนาจผูกขาดสินค้าเกษตรเหนือตลาดโลกไม่เคยได้ผลจริง บอกให้ยอมรับความจริง เลิกฝืนกลไกตลาด
วันที่ 16 สิงหาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง “คิดใหม่อนาคตข้าวไทย” ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยมี รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผอ.การวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ และนางวิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ที่มาแทนนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ ที่ได้รับเชิญในเบื้องต้น
อัด พณ.ประกาศแผนระบายข้าวเดือนละล้านตันทำราคาร่วง
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงนโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายในแบบที่ ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ซึ่งส่วนหนึ่งทักษิณ เคยให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2555 ว่า หากควบคุมคุมกลไกตลาด สัก 2-3 ปี หลังจากนั้นสิ่งต่างๆ จะขับเคลื่อนไปตามธรรมชาติ ขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกกำลังปรับตัวสูงขึ้น แต่การผันแปรในตลาดโลกดับฝันนั้น
“การผันแปรในตลาดโลก ที่พบ ประเทศอินเดียมีผลผลิตล้นโกดัง ประเทศเวียดนามหั่นราคาแข่งอินเดีย และผลิตข้าวมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มผลิตภาพการผลิต ผลทำให้ราคาเฉลี่ยทั่วโลกลดลง ทั้งนี้ ที่ได้ประกาศว่าปี 2555 จะส่งออกให้ 6 ประเทศ แบบรัฐต่อรัฐได้ 1.76 ล้านตัน แต่ส่งออกทั่งรัฐและเอกชนมีแค่ 0.89 ล้านตัน”
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศเป้าหมายการระบายข้าวเดือนละ 1 ล้านตันนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากมีผลกระทบอย่างยิ่งที่ทำให้ราคาตลาดร่วง ซึ่งเป็นผลกระทบที่หนักกว่าการเปิดเผยสต็อกข้าวที่ส่วนมากคาดการณ์ได้อยู่แล้ว และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การเปิดประมูลข้าวครั้งล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ไม่มีพ่อค้าสนใจนัก มีเอกชนร่วมประมูลเพียง 200,000 ตัน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ไม่ควรประกาศจำนวนและราคาที่ต้องการขาย ประกาศเพียงวิธีขายและดำเนินการอย่างโปร่งใสเท่านั้น
“ทางออกที่รัฐบาลควรทำต้องไม่ขายข้าวเก่า ข้าวเน่าโดยเด็ดขาด แต่ต้องหาทางออกกฎหมาย โดยอาจออกกฎหมายมารองรับการขายข้าว รวมถึงเน้นการขายข้าวที่มีคุณภาพให้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าประมูลขายแบบ “ประมูลส่วนต่าง” จากราคาล่วงหน้าของตลาด ซึ่งวิธีนี้เคยทำในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แล้วขายข้าวได้ราคาดี”
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงอนาคตข้าวไทยด้วยว่า จะต้องยกเลิกการจำนำ แล้วหาวิธีอื่นในการช่วยเหลือชาวนา เพราะหากไม่ยกเลิกก็คงไม่มีอนาคตให้พูดถึง โดยอาจใช้วิธีของสหรัฐอเมริกา หรือเกาหลีใต้ “Enhanced Income Policy” ที่รัฐบาลจ่ายชดเชย อุดหนุนเบี้ยประกันความเสี่ยงบางส่วน รวมถึงประกันดัชนีดินฟ้าอากาศ
อำนาจผูกขาดสินค้าเกษตรเหนือตลาดโลกไม่เคยได้ผลจริง
ขณะที่ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะลดการจำนำโดยการจำกัดจำนวนนั้นก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เนื่องจากยังจะต้องใช้เงินปีละประมาณ 300,000 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลประมาณการ ซึ่งใกล้เคียงกับการจำนำในปีแรก
สำหรับสต็อกข้าวเก่าที่มีอยู่ 17 ล้านตัน ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า หากรับจำนำต่อจะมีข้าวใหม่เข้าสต็อกปีละ 10 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,000,000 ตัน ซึ่งหมายความว่า จากนี้ไปแม้จะระบายข้าวได้เดือนละ 1,000,000 ตันจริง สต็อกข้าวก็จะไม่ลดลง
“สำหรับประเทศที่ต้องพึ่งการส่งออกสินค้าเกษตร มาตรการสร้างอำนาจผูกขาดเหนือตลาดโลกไม่เคยได้ผลจริง ในทางทฤษฎีอาจทำได้ถ้าเป็นสินค้าที่ไม่มีคู่แข่งมาทดแทนได้ แต่ในปัจจุบันไม่มีสินค้าที่ว่าแม้กระทั่งข้าวหอมมะลิ การตั้งราคาสินค้าเกษตรให้สูงกว่าตลาดโลก ไม่ควรพยายามใช้นโยบายนี้กับสินค้าที่ยังมีสถานะเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญ เพราะผลกระทบที่สำคัญคือทำให้เกษตรกรเลิกปรับตัวตามสัญญาณของตลาด แต่หันมาปรับตัวตามสัญญาณจากรัฐบาลแทน ดังนั้น รัฐไม่ควรพยายามฝืนตลาดในระยะยาว ควรล้มเลิกเป้าหมายที่จะยกราคาในประเทศให้สูงกว่าราคาตลาดโลก แต่ควรมีมาตรการช่วยเกษตรกรรับมือกับความเสี่ยงด้านราคาในระยะสั้น ให้เกษตรกรตัดสินใจเองจากสัญญาณที่ได้รับจากแนวโน้มราคาตลาด” ดร.วิโรจน์ กล่าว และว่า การใช้อำนาจรัฐมาสู้ หรือฝืนกลไกตลาดอาจทำได้ในกรณีที่มีผู้เล่นน้อยราย แต่ยากมากในตลาดที่มีคนที่เกี่ยวข้องจำนวนมากอย่างสินค้าเกษตรไทย
“ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา หรือพืชชนิดอื่นก็ไม่สามารถฝืนกลไกได้ เป็นเรื่องที่ต้องการยอมรับความจริง ต้องการความกล้าหาญทางการเมือง และความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ”
กรมการค้าภายใน ยกจำนำข้าวเทียบ 30 บาท
ด้านนางวิบูลย์ลักษณ์ กล่าวถึงผลของนโยบายรับจำนำข้าวที่มีความชัดเจนคือ ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้จะไม่ทัดเทียมกับหลายประเทศ ซึ่งโครงการนี้เป็นการลงทุนในภาคเกษตร เช่นเดียวกับโครงการอื่นๆ ที่รัฐลงทุนอย่างด้านสุขภาพในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค อย่างไรก็ตามกลไกตลาดสินค้าเกษตรทั่วโลกไม่มีกลไกตลาดสมบูรณ์
“ชาวนา พ่อค้าคนกลาง หรือผู้ส่งออกไม่สามารถกำหนดราคาข้าวในตลาดไทยและตลาดโลกได้ เนื่องจากผู้ที่กำหนดจริงคือผู้นำเข้า ในตลาดข้าวต่างประเทศต่างมีภาครัฐดูแล ใช้อำนาจต่อรอง และมีการแทรกแซงทั้งนั้น ฉะนั้น หากไทยต้องการยืนอยู่ได้ในตลาดข้าวอย่างที่เคยมีมาก็ต้องมีนโยบายดังกล่าวต่อไป”
นางวิบูลย์ลักษณ์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่มีนโยบายจำนำข้าวทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น เช่น ในปี 2554 ข้าวหอมมะลิราคาอยู่ที่ 12,000-13,000 บาทต่อตัน แต่ในปี 2555 อยู่ที่ 14,000-16,000 บาทต่อตัน ขณะที่ความคืบหน้าการกำหนดเกณฑ์โครงการจำนำข้าวฤดูกาลต่อไปนั้น อยู่ในระหว่างหารือกับสภาเกษตรกรและชาวนา ทั้งนี้ คาดว่าในต้นเดือนกันยายนนี้ จะสามารถเริ่มต้นการขายแบบตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้
สำหรับข้อมูลตัวเลข และการคาดการณ์ของทีดีอาร์ไอ นางวิบูลย์ลักษณ์ กล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องทางบัญชี การประมาณการ และนำราคามาใส่ตัวเลข ซึ่งยังไม่นิ่ง
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา วันที่ 16 สิงหาคม 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอ อัด พณ.ประกาศระบายข้าวเดือนละล้านตัน กระทบหนักกว่าเผยสต็อก