สำรวจ 3 เสาหลัก ระดับรัฐถึงชาวอาเซียน

ปี2013-08-12

ข่าวสดอาเซียน

ณ ปัจจุบันการเปิดประชาคมอาเซียน พ.ศ.2558 ถือเป็นประเด็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญ และพยายามเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับประชาชนอีกราว 540 ล้านคนจากทั่วภูมิภาค

“ประชาคมอาเซียน” ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง เสาหลักด้านเศรษฐกิจ และเสาหลักด้านสังคมวัฒนธรรม ซึ่งจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดภายใต้กฎบัตรอาเซียน

ระหว่างการปรับตัวเข้าสู่สังคมใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงมีเวทีระดมความเห็นและข้อมูลสำหรับสร้างความตื่นตัวอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนา “TU Forum ครั้งที่ 6” ขึ้น ภายใต้หัวข้อ “นับถอยหลังสู่ประชาคมอาเซียน 2015” โดยมี รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา ดร.วิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความเห็น

รศ.ดร.ประภัสสร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน คือระบบสาธารณูปโภค เช่น ด้านการขนส่ง และปัญหาในเชิงนโยบาย

ปัญหาสำคัญคือ “การขาดแผนแม่บท” ในการเข้าเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างคนละทิศละทาง รวมถึงขาดการประสานงาน ทั้งในระหว่างหน่วยงานภาครัฐกันเอง และหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน

แม้ในปัจจุบันสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะจัดทำยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของชาติออกมา 8 ข้อก็ตาม ซึ่งเป็นแผนที่ดี แต่ยังไม่ครบถ้วน โดยแผนดังกล่าวเป็นการมองจากมุมของประเทศไทย แต่ยังขาดมิติด้านความเชื่อมโยงกับภูมิภาค

“ก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยนั้นจำเป็นต้อง เตรียมความพร้อมภายในประเทศให้ดี โดยเสนอให้วิเคราะห์ผล กระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบของทั้ง 3 เสาที่มีต่อประเทศไทย และเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรภายในประเทศ ทั้งในแง่วิสัยทัศน์และภาษา” รศ.ดร.ประภัสสร์กล่าว

ในส่วนของเสาหลักที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด คือ เสาหลักด้านเศรษฐกิจ ที่หลายคนรู้จักในชื่อ “เออีซี” ดร.วิศาล จาก TDRI ชี้ให้เห็นถึงข้อดี และอุปสรรคทางเศรษฐกิจของการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า การรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวของประเทศในภูมิภาคนั้นไม่ใช่การมุ่งเน้นเพียงแค่การค้าขาย แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ การปฏิรูปตนเอง และการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องส่งเสริมให้ธุรกิจ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงประชาชนช่วยตนเองและมีอิสระ โดยปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน และเข้ามาควบคุมทางเศรษฐกิจเท่าที่จำเป็น

นอกจากเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง และเสาหลักทางเศรษฐกิจแล้ว อีกหนึ่งเสาหลักที่มีความสำคัญ แต่หลายฝ่ายกลับละเลยนั้น คือเสาหลักทางสังคมและวัฒนธรรม

ด้าน ผอ.ชลิดาระบุถึงปัญหาและอุปสรรคของการทำงานในภาคประชาชนว่า ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาของภาคประชาชนนั้นขับเคลื่อนได้ยาก เนื่องจากขาดความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนในแต่ละประเทศรวมถึง ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐขาดนโยบายที่ชัดเจนและไม่ใส่ใจเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังขาดงบประมาณสนับสนุนอีกด้วย

ในส่วนของประเทศไทย ชลิดากล่าวว่า ภาคประชาชนทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีความก้าวหน้ามาก โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนภาคประชาชนแล้ว

สําหรับความพร้อมในการเข้าเป็นประชาคมอาเซียนของประเทศไทยนั้น ชลิดามีข้อสังเกตว่า การจะพัฒนาเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องเข้าใจความหมายของ “ประชาคม” อาเซียนอย่างถ่องแท้ คือจะต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นของทุกประเทศ รวมถึงขยายไปถึงผู้ที่อาศัยในแต่ละประเทศในระยะยาวด้วย

นอกจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่า ในปัจจุบันทุกประเทศจำเป็นต้องส่งเสริม “การมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” หรือ People Centre คือ รัฐบาล ต้องสนับสนุนให้ประชาชนเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในทุกระดับ ไม่ใช่มองประชาชนเป็นเพียงผู้รับประโยชน์เท่านั้น

“หากประชาชนในทุกประเทศมีความเข้มแข็ง จะส่งผลให้เกิดสำนึกในความเท่าเทียม ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในแต่ละประเทศ ซึ่งจะเอื้อต่อการสร้างสำนึกความเป็นอาเซียนในที่สุด” ชลิดากล่าว

อย่างไรก็ตาม หากเปิดประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและภัยต่อความมั่นคงด้านต่างๆ เช่น ภัยคุกคามด้านความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยในประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมกันพัฒนาต่อไป ก่อนจะชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่ง ณ ตอนนี้ประเทศไทยยังมีเวลาที่จะปรับตัว

สุดท้าย สิ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับการเป็นสังคมที่หลากหลายนั้น คงต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติของคนที่มีต่อประเทศอย่างรอบด้านเสียก่อน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ข่าวสด วันที่ 12 สิงหาคม 2556 ในชื่อ สำรวจ3เสาหลัก ระดับรัฐถึงชาวอาเซียน