ทีดีอาร์ไอ ชี้รัฐควรพิจารณาก่อสร้างโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่าที่จำเป็นก่อน ห่วงไม่คุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ด้านนักวิชาการแนะให้เอกชนลงทุนแทน หวั่นกระทบงบประมาณรายจ่ายระยะยาว ทำขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “เงินกู้ 2 ล้านล้าน วิกฤติหรือโอกาสประเทศไทย” โดยมีวิทยากรเข้าร่วม อาทิ นายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ,นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
โดยนายสุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ แต่รัฐบาลไม่ควรนำทุกโครงการมาบรรจุไว้เป็นโครงการเพื่อการลงทุนที่ต้องใช้เม็ดเงินก่อสร้างรวมกันถึง 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลควรเลือกดำเนินการในโครงการที่มีความจำเป็นกับขีดความสามารถในการแข่งขัน และใช้วงเงินการก่อสร้างเพียง 1 ล้านล้านบาทก่อน อาทิ โครงการรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพมหานคร ,รถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงบางเส้นทาง เพื่อเป็นการบริหารจัดการการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยไม่ต้องมีหนี้สินมากเกินไป ขณะเดียวกันความพร้อมในการก่อสร้างแต่ละโครงการมีน้อยเกินไป โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้ ,แนวทางการบริหารหนี้ และการปฎิรูปโครงสร้างรัฐวิสาหกิจที่จะรับผิดชอบแต่ละโครงการ เพราะหากไม่มีความชัดเจนจะมีผลต่อความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจของประเทศได้
ขณะที่นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในเชิงเศรษฐกิจ ถือว่ามีความจำเป็นในการดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างแน่นอน เพราะเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดีขึ้น แต่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงการกำหนดทิศทางของประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะแนวทางการพัฒนาประโยชน์ตามพื้นที่ที่โครงสร้างพื้นฐานไปถึง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่ิองนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตภาคการเกษตรของไทยได้ ขณะเดียวกัน การดำเนินการกู้เงินในครั้งนี้ แม้จะเป็นการกู้นอกงบประมาณ ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อกรอบวินัยทางการเงินการคลังที่กำหนดให้หนี้สาธารณะต้องไม่เกิน ร้อยละ 60 แต่ในทางกลับกันจะส่งผลต่อรายจ่ายประจำของประเทศในอนาคตให้สูงขึ้นกว่าในปัจจุบันที่มีถึงร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโครงการประชานิยมต่างๆ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่ง คือการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนในโครงการต่างๆแทน เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาล และลดการพึ่งพากลไกภาครัฐ ผ่านการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้น แต่รัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนในการติดตามประเมินผลอย่างจริงจังด้วย
ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า มองว่า การดำเนินการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในมุมของกฎหมาย เมื่อเป็นการประกาศใช้ตามพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.การกู้เงิน การพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วยเช่นกัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าการดำเนินการครั้งน้ีไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการจัดสรรเงินกู้นอกงบประมาณ ที่ตามหลักจะต้องดำเนินการกู้เงินผ่านระเบียบการจัดสรรงบประมาณทั่วไป รวมทั้งการกู้เงินดังกล่าวมีผลกระทบต่อภาระหนี้ต่อหัวของประชาชนจำนวนมาก โดยรัฐบาลไม่ได้หาแนวเลือกทางอื่นการลดภาระให้กับประชาชน ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังขัดต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ระบุการวางแผนการพัฒนาประเทศที่มีผลกระทบกับประชาชนต้องมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ จึงเป็นข้อกังวลว่าในอนาคตจะเกิดปัญหาเดียวกับความล่าช้าของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้กลับไปทำประชาพิจารณ์ก่อน
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ครอบครัวข่าว 3 วันที่ 28 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ สมาคมสื่อจัดเสวนาเงินกู้ 2 ล้านล้าน