tdri logo
tdri logo
21 สิงหาคม 2013
Read in Minutes

Views

อนาคตข้าวไทย’ติดหล่ม’จี้ชงยุทธศาสตร์เข้าสภาใช้งบปกติ

วานนี้ มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่ อนาคตข้าวไทย” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มี นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ, นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว, นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน มาร่วมเสวนา ในฐานะผู้แทนของนายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าวว่ารัฐบาลควรนำแผนการช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกร เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้มีการกำหนดการดำเนินงานอย่างมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน โดยแผนดังกล่าวต้องใช้งบประมาณปกติ ห้ามใช้เงินกู้ เพื่อลดปัญหาภาระหนี้สิน ที่อาจเกิดจากการบริหารผิดพลาด และเป็นการนำความช่วยเหลือเกษตรกร ต้องเข้าไปแข่งกับการใช้งบประมาณในส่วนอื่น แทนที่จะเป็นการกำหนดแผนช่วยเหลือที่มีอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งแผนที่จะผ่านสภาต้องกำหนดให้ใช้ตลอด 4 ปีที่รัฐบาลอยู่ในอำนาจ และปล่อยให้รัฐบาลใหม่มากำหนดแผนใหม่ในรูปแบบเดียวกัน

จี้ยกเลิกจำนำ
ทั้งนี้ อนาคตข้าวไทยต้องยกเลิกการจำนำ แล้วหาวิธีอื่นมาช่วยเหลือชาวนา เช่น วิธีของสหรัฐ-เกาหลีใต้ “Enhanced Income Policy” มีรูปแบบ รัฐบาลจ่ายชดเชย 70-85% ของส่วนต่างระหว่าง ราคาเป้าหมายกับราคาตลาด โดยราคาเป้าหมายกำหนดจาก ราคาตลาด การชดเชยโดยตรง ความผันผวนของราคาโดยใช้ค่าเฉลี่ย 3-5 ปีในอดีต

“ทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) คิดว่า หากควบคุมกลไกตลาดสัก 2-3 ปี หลังจากนั้นกลไกจะเคลื่อนไปตามธรรมชาติ โดยมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ตลาดโลกมีความผันผวนมากกว่าที่คิด โดยอินเดียมาดับฝันทักษิณ เพราะว่าผลผลิตล้นโกดังต้องขายข้าวราคาถูก จนเวียดนามหั่นราคาแข่งอินเดีย และผลก็คือ ราคาเฉลี่ยโลกลดลง ซึ่งทักษิณคิด เพื่อไทยทำ แต่ในทางปฏิบัติ เพื่อไทยคุยว่าปี 2555 จะส่งออกให้ 6 ประเทศ แบบรัฐต่อรัฐ ได้ 2.76 ล้านตัน แต่ส่งออกได้จริงทั้งรัฐ-เอกชน มีแค่ 0.89 ล้านตัน” นายนิพนธ์ กล่าว

เชื่อรัฐหาทางถอยจำนำข้าว
รูปแบบการดำเนินโครงการรับจำนำที่ผ่านมา มีแนวคิดจากที่ทักษิณประสบความสำเร็จทางธุรกิจเพราะทำธุรกิจผูกขาดจึงใช้วิธีให้บริษัทรายหนึ่งผูกขาดการขายข้าวรัฐบาล ซึ่งเพื่อไทยได้จงใจระบายข้าวผ่านประตูแคบๆ ผ่านไม่กี่บริษัท มีการขายแบบปกปิดราคาขายและปริมาณขาย ทั้งที่ส่วนใหญ่เป็นการขายในประเทศ และผ่านการขายข้าวในราคาต่ำกว่าตลาดให้พ่อค้าพรรคพวก

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำให้นักการเมืองบางส่วนในพรรคเพื่อไทย กำลังคิดหาทางถอยออกจากโครงการรับจำนำจึงเป็นที่มาของข้อเสนอต่างๆ เช่น การลดราคาจำนำ และจำกัดปริมาณจำนำ แต่ผลจะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจากับชาวนา และขั้วอำนาจในพรรคเพื่อไทย ซึ่ง การลดราคาและจำกัดปริมาณจะทำให้เกิด 2 ตลาดสองราคา คือ ข้าวนอกโครงการจะมีราคาต่ำกว่าในโครงการมาก

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ ประกาศเป้าหมายการระบายข้าวเดือนละ 1 ล้านตัน จะมีผลกระทบต่อราคาตลาดมาก เพราะพ่อค้าทราบว่าจะมีข้าวออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้การระบายจริงมีพ่อค้าร่วมประมูลซื้อปริมาณน้อยมาก เพราะพ่อค้าคาดว่าราคาจะลดลงอีก ซึ่ง กระทรวงพาณิชย์ ไม่ควรประกาศจำนวนและราคาที่ต้องการขาย แต่ให้เลือกใช้วิธีขายที่โปร่งใส

พ่อค้าไม่มั่นใจคุณภาพ
นอกจาก คาดการณ์ด้านราคาแล้ว สาเหตุที่มีการซื้อข้าวรัฐจำนวนน้อย เพราะความไม่มั่นใจคุณภาพ โดยพ่อค้าเชื่อว่าข้าวในโกดังมีคุณภาพต่ำ เพราะการตรวจรับ วิธีบำรุงรักษา อาจไม่ได้มาตรฐาน โดยทางออกการจัดการสต็อกข้าวรัฐ คือ ประเทศต้องไม่ขายข้าวเก่า ข้าวเน่าเด็ดขาด แต่ต้องหาทางออกด้วยการออกกฎหมายเรื่อง “write off” ให้ถูกกฎหมาย เพื่อเปิดช่องให้นำข้าวในสต็อกไปทิ้งทำลาย จากนั้นให้เน้นขายข้าวคุณภาพ และขายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแบบประมูลส่วนต่าง basis จากราคาล่วงหน้าของตลาด

ชี้ข้าวไทยอยู่ในภาวะติดหล่ม
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัญหาการผลิตข้าวไทยในอนาคต คือ กำลังอยู่ในภาวะต้นทุนการผลิตสูงจากการใช้ปัจจัยการผลิตฟุ่มเฟือย รวมถึงปัญหาการขาดความร่วมมือ ระหว่าง 3 ภาคส่วน คือ ภาคการวิจัยพัฒนา ที่ปัจจุบันยังไร้ทิศทางทั้งที่เป็นปัจจัยหลักการแข่งขันในอนาคต

ข้าวไทยอยู่ในภาวะติดหล่ม ซึ่งอนาคตไม่ใช่เรื่องของราคา แต่ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ภาคชาวนาที่ต้องให้ความรู้มากขึ้น และภาคการตลาด ซึ่งต้องส่งสัญญาณกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนา เพื่อสนองความต้องการตลาดอย่างตรงจุด

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เครื่องมือที่รัฐบาลได้นำมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไทย ผ่านโครงการจำนำหรือโครงการประกันรายรายได้ ถือเป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรเห็นได้ชัด

ยันจำนำยกระดับรายได้
โครงการรับจำนำหากไม่เน้นเรื่องกำไร-ขาดทุน ก็ถือว่าเป็นการยกระดับเกษตรกรไทยให้มีรายได้สูงขึ้น ขณะนี้เกษตรสามารถมีผลกำไรจากการปลูกข้าว และมีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่เกษตรกรมีความต้องการด้านการจำนำหากมองในเรื่องราคาข้าวทั้งในและต่างประเทศขณะนี้ โดยเฉลี่ยมีอัตราสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ราคาข้าวไทยใกล้เคียงกับตลาดสหรัฐ และมีราคาที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดียและเวียดนาม เฉลี่ยตันละ 100 ดอลลาร์ ขณะที่การระบาย โดยเฉลี่ยตลาดการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า คาดว่าในต้นเดือนต.ค. นี้ จะสามารถระบายได้ 1.5 แสนตัน

ส่วนความชัดเจนการดำเนินโครงการรับจำนำรอบใหม่ ได้รายงานหลักการและวิธีการหารือกับกลุ่มเกษตรกรให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้รับทราบแล้ว ซึ่งภาพรวมการหารือแต่ละสมาคมเกษตรกร ไม่ได้ขัดข้องในตัวเลข แต่อยู่ในระหว่างการทำความเข้าใจในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศ ยอมรับอัตราการรับจำนำข้าวรอบใหม่ โดยคาดว่าน่าจะสรุปตัวเลขรับจำนำข้าว ก่อนวันที่ 1 ต.ค. นี้ ที่จะเปิดรับจำนำข้าวรอบใหม่

มั่นใจคุมใช้เงิน4-5แสนล.
ทั้งนี้ จากตัวเลขที่หลายฝ่ายออกมาระบุ ที่รัฐบาลได้ใช้เงินงบประมาณในการรับจำนำเกินกว่าที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้ ปีละไม่เกิน 4-5 แสนล้านบาท ซึ่งหากนับการใช้เงินในการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปี 2554/55 รัฐบาลใช้เงินไปแล้ว 373,000 ล้านบาท

ขณะที่กรอบวงเงินที่จะใช้ในข้าวรอบใหม่ กว่า 340,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลมีการใช้เงินทั้งสิ้น 6-7 แสนล้านบาท โดยข้อเท็จจริงจากตัวเลขดังกล่าว หากคิดคำนวณนำกรอบวงเงินจำนวน 340,000 ล้านบาทในกรอบใหม่ ก็เท่ากับตัวเลขรับจำนำมีวงเงินที่เกินกว่าเพดานที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้อยู่ที่ 4-5 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นหากทอนตัวเลขในละปี ระดับการใช้เงินจะอยู่ที่ 3-4 แสนล้านบาท ก็ถือว่าเป็นไปตามกรอบที่ใช้เงินในการรับจำนำ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายสต็อกข้าวของรัฐบาลทุกช่องทาง เพื่อให้ได้เงินจากการระบายข้าว เข้ามาสู่ในบัญชีรายรับรายจ่าย จึงเชื่อว่าจะไม่ใช่เป็นตัวเลขการขายข้าวขาดทุนเพียงด้านเดียว เพราะว่ารัฐบาลเร่งระบายข้าวเพื่อให้จำนวนเงินกลับมาสู่ในระบบ

‘ทักษิณคิดว่าหากควบคุมกลไกตลาดสัก 2-3 ปี หลังจากนั้นกลไกจะเคลื่อนไปตามธรรมชาติ โดยราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่ตลาดโลกมีความผันผวนมากกว่าที่คิด’


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 17 สิงหาคม 2556

นักวิจัย

ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร
นักวิชาการเกียรติคุณ

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด