นักวิชาการ ‘ทีดีอาร์ไอ’ อัดซ้ำนโยบายรัฐ เย้ย ‘คิดผิด’ รับจำนำข้าวเจ๊ง

ปี2013-08-17

naewna20130817

นักวิชาการ “ทีดีอาร์ไอ” เย้ยนโยบาย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ผิดพลาดดันราคาข้าวไม่ขึ้น ขณะที่ “พาณิชย์” ยกเหตุเดิมเป็นโครงการช่วยเกษตรกร ไม่เน้นเรื่องกำไร-ขาดทุน ด้าน “โต้ง” ยันรัฐเดินถูกทาง สวน “แบงก์ชาติ” ให้คำนิยามของคำว่า “หนี้ครัวเรือน” ผิด

ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ทีดีอาร์ไอ จัดเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่อนาคตข้าวไทย”

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า นโยบายรับจำนำข้าวส่งผลให้รัฐบาลขาดทุนใน 2 ฤดูกาลผลิตไปแล้ว 136,000 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าขาดทุนปีละ 60,000 ล้านบาท ทำให้ไทยเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าว รัฐเป็นผู้ผูกขาดรับซื้อข้าวจากชาวนาแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นรัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวแล้วหาวิธีอื่นช่วยเหลือเกษตรแทน เช่น ในสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ รัฐบาลจ่ายชดเชยร้อยละ 70-80 ของส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาตลาดโดยใช้วิธีการกำหนดราคาเป้าหมายจากราคาตลาด การชดเชยโดยตรง และความผันผวนของราคา โดยใช้ค่าเฉลี่ย 3-5 ปี ในอดีต

“ทักษิณคิดว่าหากควบคุมกลไก (ตลาด) สัก 2-3 ปี หลังจากนั้นกลไกจะเคลื่อนไปตามธรรมชาติ โดยมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ตลาดโลกมีความผันผวนมากกว่าที่คิด โดยอินเดียมาดับฝันเพราะผลผลิตล้นโกดังต้องขายข้าวราคาถูก จนเวียดนามหั่นราคาแข่งอินเดีย และผลก็คือ ราคาเฉลี่ยโลกลดลง ซึ่งทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ในทางปฏิบัติ เพื่อไทยคุยว่าปี 2555 จะส่งออกให้ 6 ประเทศ แบบรัฐต่อรัฐ ได้ 2.76 ล้านตัน แต่ส่งออกได้จริงทั้งรัฐ-เอกชน มีแค่ 0.89 ล้านตัน” นายนิพนธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำให้นักการเมืองบางส่วนในพรรคเพื่อไทยกำลังคิดหาทางถอยออกจากโครงการรับจำนำ จึงเป็นที่มาของข้อเสนอต่างๆ เช่น การลดราคาจำนำ และจำกัดปริมาณจำนำ แต่ผลจะเป็นอย่างไร ต้องขึ้นกับการเจรจากับชาวนา และขั้วอำนาจในพรรคเพื่อไทย ซึ่งการลดราคาและจำกัดปริมาณจะทำให้เกิด 2 ตลาดสองราคา คือ ข้าวนอกโครงการจะมีราคาต่ำกว่าในโครงการมาก

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขณะที่โจทย์สำคัญสำหรับชาวนาไทยคือ การเพิ่มผลิตภาพแรงงานไม่ใช่ผลผลิตต่อไร่ การเพิ่มมูลค่าข้าว/ผลิตภัณฑ์ข้าว การย้ายคนออก จากเกษตร สร้างงานในชนบท ที่ดินเกษตรจะทำอย่างไร การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ/ศัตรูพืช ชาวนาที่เกษียณจะมีชีวิตอยู่อย่างไร

ขณะที่ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เครื่องมือที่รัฐบาลนำมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไทยผ่านโครงการจำนำ หรือโครงการประกันรายได้ ถือเป็นมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรเห็นได้ชัดโครงการรับจำนำ หากไม่เน้นเรื่องกำไรและขาดทุน ถือว่าเป็นการยกระดับเกษตรกรไทยให้มีรายได้สูงขึ้น ขณะนี้เกษตรมีผลกำไรจากการปลูกข้าวและมีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่เกษตรกรมีความต้องการด้านการจำนำ หากมองเรื่องราคาข้าวทั้งในและต่างประเทศขณะนี้โดยเฉลี่ยมีอัตราสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งราคาข้าวไทยมีราคาใกล้เคียงกับตลาดสหรัฐ และมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย และเวียดนาม เฉลี่ยตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การระบาย โดยเฉลี่ยตลาดการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า คาดว่าต้นเดือนตุลาคมนี้จะสามารถระบายได้ 150,000 ตัน

ในวันเดียวกัน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แสดงความเห็นกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า นโยบายรัฐบาลที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่ม ว่า ตนมองว่าคำนิยามของคำว่าหนี้ครัวเรือนที่ธปท.ใช้ ก็ผิดมาตั้งแต่แรกแล้ว หนี้ครัวเรือนที่สากลใช้กันหมายถึงหนี้ที่เกิดจากบุคคลธรรมดาที่ต้องมีหนี้การลงทุนในทรัพย์สินที่จำเป็นและมีประโยชน์ในระยะยาว เช่น มีหนี้เพื่อซื้อบ้านผ่อนบ้าน หรือมีหนี้เพื่อที่จะซื้อทรัพย์สินสำคัญ เช่น การซื้อรถผ่อนรถ เพื่อที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับตนและครอบครัว

ทั้งนี้ การมีหนี้เพื่อไปประกอบธุรกิจของตนเอง ดังนั้นควรจะถูกนิยามว่า สินเชื่อเพื่อธุรกิจ ไม่ใช่การเพิ่มหนี้ครัวเรือนจากการที่ไปทำอย่างอื่นที่ไม่จำเป็นและเกิดประโยชน์ ซึ่งนโยบายของภาครัฐทุกโครงการ ล้วนแต่เกิดประโยชน์และเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์แนวหน้า วันที่ 17 สิงหาคม 2556 ในชื่อ