ทีดีอาร์ไอ ชี้ พลัง “ภาคประชาสังคม-สื่อมวลชน” ลดโกงได้

ปี2013-08-15

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง “บทบาทภาคประชาสังคมกับการต่อต้านคอรัปชัน” ภายใต้โครงการวิจัย “คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชัน” วงเสวนาสะท้อนปัญหาคอร์รัปชั่นเหมือนมะเร็งร้ายเกาะกินสังคมไทย รัฐบาลไม่สนใจแก้ปัญหาจริงจัง แนะภาคประชาสังคม-สื่อมวลชน เป็นทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้ในระยะยาว

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวเปิดการเสวนาสาธารณะเรื่อง “บทบาทภาคประชาสังคมกับการต่อต้านคอรัปชั่น” ภายใต้โครงการวิจัย “คู่มือประชาชนรู้ทันคอร์รัปชั่น” จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยระบุว่า คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาหลักและเรื้อรังของสังคมไทยทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ การเงินหรืองบประมาณเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคือสูญเสียโอกาสของประเทศเพราะการที่ประเทศไทยมีคอร์รัปชั่นทำให้รัฐบาลและประชาชน รวมถึงองค์กรอื่น ๆ ขาดความไว้วางใจ โดยเฉพาะแผนการลงทุนในโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนต้องหยุดชะงักหรือไม่เกิดขึ้น อีกทั้งประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชั่นมากยังสะท้อนถึงความด้อยพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาและแข่งขันกับประเทศอื่นด้วย

หากคอร์รัปชั่นเปรียบเสมือนมะเร็งร้ายของประเทศในฐานะที่ตนเป็นแพทย์ มะเร็งถือว่าเป็นโรคร้ายที่คนส่วนใหญ่เมื่อเป็นแล้วมักไม่รู้ตัว และเมื่อรู้ตัวอีกทีมะเร็งก็กลืนกินอวัยวะภายในหมดแล้ว ขณะที่โรคดังกล่าวมีค่ารักษาที่แพงมากทำให้สูญเสียคุณภาพชีวิต และหากคอร์รัปชั่นคือมะเร็ง ประเทศไทยกำลังจะตายเพราะมะเร็ง ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในมุมมองของแพทย์ คือการป้องกันและหากสามารถตรวจได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ก็จะสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ซึ่งแนวทางที่โครงการวิจัยนี้นำเสนอคือ การดึงภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยในการป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในระยะยาวได้

ทั้งนี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) เปิดเผยถึงดัชนีปลอดคอร์รัปชั่น ในปี 2555 โดยจัดให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 88 จาก 177 ประเทศ ลดลงจากลำดับที่ 80 ในปี 2553-2554 และลดต่ำลงจากเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยคอร์รัปชั่นมากขึ้น ขณะที่ช่วงคะแนนดัชนีการรับรู้เรื่องคอร์รัปชั่น (CPI) ของประเทศไทยอยู่ระหว่าง 3.2-3.5 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งเชื่อว่าเป็นข้อมูลที่ต่ำจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก เนื่องจากธุรกรรมการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกปิด เป็นความลับมีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละสังคมและมีลักษณะที่สลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องที่สื่อมวลชน หรือองค์กรตรวจสอบยากที่จะเข้าถึงความจริงได้ทั้งหมด

ด้าน นายภาส ภาสสัทธา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน สาเหตุที่ทำให้การปราบปรามคอร์รัปชั่นไม่ได้ผล เนื่องจากหาก ป.ป.ช.และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลจะต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบอีกครั้ง ทำให้เกิดความล่าช้า ขณะที่ในแง่ของข้อกฎหมายที่ถูกออกแบบมาทำให้ไม่ค่อยเอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสวนทางกับงานปราบปรามทุจริตที่มีจำนวนมาก การทำงานภาคประชาสังคมของป.ป.ช.มีเครือข่ายกว่า 2 แสนคนในลักษณะของการให้องค์ความรู้ และมีแกนนำเครือข่าย ป.ป.ช.ภาคประชาชน อำเภอละ 2 คน กระจายทั่วประเทศประมาณ 1,800 คน ซึ่งในปี 2553 ได้มีการจัดตั้งฐานข้อมูลขึ้นมาอีกชุด เพื่อรวบรวมปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในพื้นที่ของตัวเองสู่สาธารณะ ซึ่งในหลายจังหวัดมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันในการทำงานของ ป.ป.ช.พยายามสนับสนุนในกลไกการศึกษาที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเห็นว่าคอร์รัปชั่นเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงไม่แพ้ปัญหายาเสพติด

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านการทุจริตของภาคประชาสังคมทำได้ลำบากเนื่องจากคนที่เข้ามาทำงานมักสวมหมวกหลายใบ หรือมาจากคนที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐอยู่แล้ว ทำให้จำกัดบทบาทและศักยภาพของคนที่เข้ามาทำงาน ส่งผลให้การสานต่องานไม่ต่อเนื่องและเกิดความไม่ยั่งยืนในเครือข่าย เสนอแนะให้เพิ่มบทบาทภาคประชาสังคมด้วยการทำงานที่ไม่ยึดติดกับหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงมีมาตรการคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลหรือชี้เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่น และการสนับสนุนงบประมาณที่ใช้ในการทำงานด้วย

รองเลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า การจะเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่ว่า “โกงกินได้ไม่เป็นไร ขอให้มีผลงาน” เป็นงานยากและใช้เวลานาน แต่หากเสริมบทบาทภาคประชาสังคมให้ชัดเจนและมีเครือข่ายจะสามารถโน้มน้าวจิตใจคนไทยให้เปลี่ยนแปลงได้ สังคมไทยยังมีจิตใจที่อยากจะต่อสู้ อยากมีทิศทางในการที่จะร่วมมือกันต่อต้านการทุจริต และเชื่อมั่นว่าในอนาคตเราจะเห็นกลุ่มภาคประชาสังคมหรือภาคส่วนต่าง ๆ มีบทบาทในการต่อต้านคอร์รัปชั่นมากขึ้น

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ข้าราชการไทย ที่ทำงานดีไม่ข้องเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นยังมีอยู่มาก และเต็มใจในการปราบปรามคอร์รัปชั่น แม้บางครั้งอาจทำงานได้ไม่เต็มที่จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำงานพอจะเห็นผลก็มักถูกย้าย สมัยตนดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ท. ตั้งเป้าหมายการทำงาน 3 เรื่องหลัก คือ การทุจริตภาษีศุลกากร ทุจริตงบประมาณ ทุจริตทรัพยากรธรรมชาติ เพราะคนที่จะทุจริตมีแผนล่วงหน้ามาแล้วว่าจะทุจริตจากอะไร การทุจริตคอร์รัปชั่นไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ ส่วนใหญ่จะมีข้าราชการที่มีส่วนรู้เห็นเข้าไปร่วมมือ ทุกครั้งทุกคดีที่เข้าไปตรวจสอบจะพบว่ามีข้าราชการไม่ว่าระดับล่างหรือระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งสิ้น คดีเหล่านี้เป็นคดีที่ทุจริตต่อหน้าที่ เป็นมูลฐานความผิดของคดีฟอกเงิน จะต้องมีโทษจำ ถูกตรวจสอบทรัพย์สิน และยึดทรัพย์ แต่ที่ผ่านกฎหมายยังอ่อน และผู้มีอำนาจไม่สั่งการหรือยังไม่มีการดำเนินการอย่างถอนรากถอนโคน

ข้อเสนอ ต้องทำให้เห็นว่าเมื่อภาคประชาสังคมตรวจสอบเจอการทุจริตแล้วส่งขึ้นมาให้ผู้มีอำนาจ/ผู้บริหารประเทศทราบ ผู้มีอำนาจก็ต้องเรียกผู้บริหารหน่วยราชการนั้น ๆ มาแสดงวิสัยทัศน์ว่าจะแก้ไขอย่างไรและประกาศให้สังคมได้รู้เลยว่าตอนนี้ กระทรวง ทบวง กรมนี้กำลังแก้ไขอยู่และมีเวลากำหนดว่าจะทำให้เสร็จเมื่อไหร่ เช่น ภายใน 3 เดือน 6 เดือน ถ้าเงื่อนเวลาหมดไปยังทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนผู้บริหาร ดีกว่าว่าพอมีเรื่องทุจริตพอแจ้งขึ้นไปก็ให้ต้นสังกัดตรวจสอบ ซึ่งมักกลายเป็นว่าคนที่เปิดเผยข้อมูลการทุจริตจะถูกตรวจสอบเสียเอง ว่าเอาข้อมูลมาเปิดเผยและถูกเอาผิดทางวินัย ทางคดีอาญา ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วหลายคดี

ยกตัวอย่าง แค่อาชีพชาวนาอาชีพเดียว หากนักการเมือง ข้าราชการบางคนและนักวิชาการบางส่วนที่ไม่เคารพอุดมการณ์ของตัวเองมาร่วมมือกัน เขาจะเห็นจุดอ่อนและพบว่ามีช่องทางหาผลประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะภัยแล้ง อุทกภัย งบเยียวยา การจัดหาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ไปจนถึงราคาพืชผล เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย ที่ชาวนาก็ต้องตกอยู่ในวงจรนี้มาตลอด ถ้าภาคประชาสังคมรู้ทันคอร์รัปชั่นแล้วลงไปจี้จุดก่อน ก็จะเป็นการป้องกันที่ดีกว่าเอาคนผิดมาเข้าคุกทีหลังซึ่งใช้เวลานานมาก

“ไม่ว่าคอร์รัปชั่นจะอยู่กับประเทศไทยมานานแค่ไหน แต่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมมือกัน ยังมีข้าราชการที่ดีอีกมากพร้อมจะทำงานต่อต้านการคอร์รัปชั่น อะไรก็ตามภาคประชาสังคมตรวจสอบพบขอให้แจ้งไปที่ ป.ป.ช.หรือ ป.ป.ท. เพื่อแจ้งไปที่ผู้บริหารผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเข้าไปจัดการโดยเร็ว ถ้าภาคประชาสังคมแข็งแรงพอผู้บริหารประเทศยอมรับฟัง”

ขณะที่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฎิรูปกฎหมาย กล่าวว่า หากต้องการให้ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยต่อต้านคอร์รัปชั่น กระบวนการยุติธรรมต้องสร้างศรัทธาให้กับสังคมก่อน ซึ่งค่อนข้างเป็นปัญหามากเนื่องจากไม่สามารถตอบสนองศรัทธาของภาคประชาสังคมได้ เพราะการดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดหรือทุจริตใช้เวลานาน เช่นเดียวกับการไต่สวนคดีอาญาต้องมีหลักฐานที่สมบูรณ์ ส่งผลให้หลายฝ่ายคิดว่าการรณรงค์การป้องกันการคอร์รัปชั่นน่าจะทำได้ดีกว่า ทั้งที่การป้องกันที่ดีที่สุดคือ กระบวนการตัดสินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดของกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการทุจริตได้ดีที่สุด ในส่วนของสื่อมวลชนในภาพรวมต้องสร้างนักข่าวที่มีศักยภาพและคุณภาพ ทำงานโดยไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของทุนและรัฐและที่สำคัญต้องมีนักวิชาการหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมทำงานเพื่อแปลงข้อมูลยากๆให้ง่ายและเข้าถึงประชาชนมากที่สุด และสิ่งที่จะช่วยได้มากคือภาครัฐควรจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณะอย่างเป็นระบบและโปร่งใส

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น เชื่อว่า ภาคประชาสังคมเสียงดังและมีพลังมากพอที่จะร่วมต่อต้านการคอร์รัปชั่น แม้บางครั้งการเคลื่อนไหวจะมีอุปสรรคจากภาครัฐและนักการเมืองที่ไม่ไว้วางใจและขัดขวาง แต่การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นเป็นการต่อสู้ระยะยาว ปัจจุบันองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นวางยุทธศาสตร์เคลื่อนไหว 5 กลุ่มคือ กลุ่มนักการเมือง กลุ่มข้าราชการ ภาคประชาชน ภาคนักธุรกิจและภาคสถาบัน บทเรียนจากการเคลื่อนไหวขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นในช่วง 2 ปี มีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ทำให้รู้ว่า ถ้าไม่มี political view ไม่มีอำนาจสั่งการระดับสูง การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นเรื่องสำคัญ ๆ จะทำไม่ได้ และจะไม่เกิดความพยายามที่แท้จริงเลยถ้าพวกเราเสียงดังไม่พอ ซึ่งพลังของภาคประชาสังคม คืออำนาจและพลังที่แท้จริงในการต่อต้านคอร์รัปชั่น

ในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่น พฤติกรรมที่เห็นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ฉะนั้นการเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชั่น ต้องดูว่าสิ่งที่ทำไปส่งผลหรือแรงกระเพื่อมอย่างไรบ้าง เป็นการต่อสู้ระยะยาวเพื่ออนาคตของลูกหลาน คอร์รัปชั่นไม่สามารถแก้ให้หมดไปได้ เพียงแต่เราต้องหาทางควบคุมให้มันน้อยที่สุดได้ สำหรับบทบาทภาคประชาสังคม การทำงานของภาคประชาสังคมจะไปได้ดีนั้น เราต้องพยายามเปิดให้ภาคประชาสังคมเห็นว่าการต่อสู้ต่อต้านคอร์รัปชั่นนั้นเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร สร้างบทเรียนการมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชั่น เปิดพื้นที่ในการแสดงออกร่วมกัน ปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ คือการให้ความสำคัญของเสรีภาพของข่าวสารและบทบาทของสื่อ รวมทั้งสร้างกลไกกฎหมายและการบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพขึ้นมาเรื่อย ๆ และปัจจุบันพบว่านักธุรกิจถึง 95% ที่พร้อมจะให้ความร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชั่น

ดร.กนกกาญจน์ อนุแก่นทราย ผู้อำนวยการศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์คอรัปชั่นในประเทศไทยยังทรงตัว หากมองในแง่เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้และมาเลเซีย จากประสบการณ์ในต่างประเทศ เกาหลีใต้กับสิงคโปร์ ถือเป็นประเทศที่ได้อันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นดีทั้งคู่ เกาหลีใต้มีความเจ็บปวดทางประวัติศาสตร์มายาวนาน คนเกาหลีใต้พบว่า ผู้นำมาแล้วก็ไป แต่พลังประชาชนจะอยู่อย่างยั่งยืน เราจึงเห็นพลังประชาชนเกาหลีใต้ตื่นตัวเรื่องการต่อสู้คอร์รัปชั่น และมีกฎหมายสั่งให้ทำได้ ขณะที่กรณีสิงคโปร์ ขึ้นอยู่กับผู้นำ ถ้าผู้นำไม่เอาด้วยก็ทำไม่ได้ คนสิงคโปร์ไม่ทำผิดเลย คอร์รัปชั่นไม่มีเลย (หรือมีก็ไม่ทราบ)

ภาคประชาสังคมมีความหลากหลายมาก การทำงานขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าอยู่ในบริบทหรือสภาพแวดล้อมแบบใด แต่อย่างไรก็ตามการมีภาคประชาสังคมก็ยังดีกว่าไม่มี การทำงานในแง่ประชาสังคมไม่ได้หมายความว่าจะตามจับอย่างเดียว แต่มีจุดหมายร่วมกันในแง่การต่อต้านการคอร์รัปชั่น ในรัฐที่เข้มแข็ง องค์กรภาคประชาสังคมอาจอ่อนแอ อย่างในสิงคโปร์ หรือในรัฐที่อ่อนแอ ภาคประชาสังคมกลับเป็นความหวังเป็นทางออกของสังคม

“เวลาพูดถึงทุจริตคอร์รัปชั่นมักคิดว่าเป็นปัญหาการจัดการ แต่เราจะไม่ได้เกลียดมันจริง ๆ ต้องทำให้การต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นความรู้สึกจากใจ กระบวนการที่ทำได้คือการเปิดพื้นที่ให้เขาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตัวชี้วัดที่ทำให้ภาคประชาสังคมทำงานได้ดี คือ 1.สังคมมีพื้นฐานเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต 2.ความเชื่อในความสัมพันธ์แนวราบ-แนวดิ่ง 3.การสร้างเครือข่าย 4.การมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ”

อย่างไรก็ตาม นายอิสร์กุล อุณหเกตุ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวสรุปในวงเสวนาว่า ภาพรวมทั้งหมดที่นักวิชาการแต่ละคนกล่าวมาเป็นเสียงสะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมยังมีอุปสรรคหลายอย่าง บางอย่างมีการต่อยอด และบางอย่างกลับหยุดชะงัก ทั้งนี้ ประเทศไทยควรนำวิธีการปฏิบัติขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติในการปราบปรามคอร์รัปชั่น มาปรับให้เข้ากับบริบทของกฎหมายไทย และทุกคนเห็นด้วยเป็นเสียงเดียวกันว่า ตัวแปรสำคัญของการทุจริตคอรัปชั่นส่วนหนึ่งมาจากการไม่มีคุณธรรม และการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สามารถรับมือกับปัญหาคอร์รัปชั่นได้ดีที่สุดคือ พลังของภาคประชาสังคมที่จะต้องมีส่วนร่วมในการจับตาสอดส่องการทำงานของภาครัฐและมีหน่วยงานของรัฐ ขณะที่สื่อมวลชนเองควรมีจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชน ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้คอร์รัปชั่นหมดไปจากสังคมไทยได้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 15 สิงหาคม 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอ ชี้ พลัง “ภาคประชาสังคม-สื่อมวลชน” ลดโกงได้