tdri logo
tdri logo
30 สิงหาคม 2013
Read in Minutes

Views

นักวิจัยทีดีอาร์ไอชี้ราคายางไม่ถือว่าตกต่ำ แนะรัฐบาลทบทวนนโยบายอุ้มภาคเกษตร

วิโรจน์ ณ ระนอง ชี้ราคายางไม่ได้ตกต่ำเมื่อเทียบกับอดีต แต่เกษตรกรรู้สึกราคาตกมากเนื่องจากที่ผ่านมาราคาถีบตัวสูงมากเพราะความผันผวนของราคาน้ำมัน แนะรัฐบาลทบทวนนโยบายแทรกแซงสินค้าเกษตร เพราะสู้กลไกราคาตลาดโลกไม่ได้

29 ส.ค.56 สถานีทีดีอาร์ไอ สัมภาษณ์วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถึงแนวทางการจัดการปัญหาราคายาง หลังจากที่เกิดกรณีชาวสวนยางในภาคใต้ออกมาประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนนสายหลัก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคารับซื้อยางในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด โดยรัฐบาลเสนอรับซื้อยางแผ่นดิบที่ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 76 บาท นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเตรียมอนุมัติเงินกู้แก่เกษตรกรสวนยางเป็นวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท และใช้ 50,000 ล้านบาทช่วยลงทุนในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณค่า และอีก 15,000 ล้านบาทลงทุนในการอัพเกรดอุปกรณ์

วิโรจน์ กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปจะพบว่าราคายางพาราในปี 2554 นั้นอยู่ที่ 132 บาท ก่อนจะตกไปที่ 94 บาท และ 76 บาทในช่วง ส.ค.นี้

วิโรจน์ กล่าวว่า ตัวแปรหลักที่กำหนดราคายางมี 2 ตัว ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ราคาน้ำมัน เพราะยางรถยนต์ที่เราผลิตกันนั้นมีส่วนประกอบของยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมัน ไม่สามารถใช้อย่างใดอย่างหนึ่งล้วนๆ ได้ เมื่อราคาน้ำมันขึ้นสูงในช่วงปี 2552-2554 ราคายางก็วิ่งขึ้นไปด้วย เมื่อราคาน้ำมันลง ราคายางก็ตกลง ปัจจัยที่สองคือเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งสะท้อนผ่านความต้องการใช้ยางในประเทศจีนและอินเดีย

ตัวแปรที่ 3 คือ ราคายางที่เพิ่มสูงขึ้นผลักดันให้หลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศรอบประเทศไทยก็ขยายการปลูกยางเป็นจำนวนมาก ในอดีตจะมีประเทศหลักที่ปลูกยางเพียง 3 ประเทศคือ ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ระยะหลังไม่ว่าลาว กัมพูชา จีน ปากีสถานก็หันมาปลูกยางกันมากขึ้น ต้นยางใช้เวลาประมาณ 5-6 ปีจึงเริ่มกรีด พอราคายางเริ่มสูงขึ้นก็ปลูกกันมากขึ้น บางส่วนก็เริ่มออกมาในตลาดแล้ว ส่วนที่ยังไม่ออกก็ยังมี

“นี่เป็นอีกตัวแปรที่บอกว่าราคายางของเราอยู่ในช่วงขาลงและกำลังจะลงต่อ ส่วนการแทรกแซงราคายางไม่ได้เป็นปัจจัยแต่อย่างใด” วิโรจน์กล่าว

สำหรับสถานการณ์การประท้วงของเกษตรกรสวนยางที่เกิดขึ้นนั้น เขามองว่า รัฐบาลอาจมีส่วนช่วยเกษตรกรที่ยากจนหรือช่วยเกษตรกรรับมือกับราคาที่ตกต่ำกระทันหัน แต่รัฐบาลไม่ควรตั้งเป้าที่จะยกราคาในประเทศให้สูงกว่าตลาดโลก ยางพาราเป็นอีกตัวอย่างที่รัฐบาลมีมาตรการออกมาหลายอัน เช่น การที่รัฐบาลร่วมมือกับประเทศอื่นเพื่อพยายามจะกำหนดราคาสินค้าผ่านรัฐมนตรีสภาไตรภาคียางพารา หรือ International Tripartite Rubber Council: ITRC ของบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด หรือ IRCo (เออโก้) เป็นความร่วมมือระหว่างไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ผลปรากฏว่า ปีที่แล้วที่ราคายางต่ำลง เออโก้ประชุมกันหาทางออกไม่ได้จึงตกลงกันว่าให้แต่ละประเทศกลับไปลดการส่งออกลงร้อยละ 10 แต่แล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจริง

ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าเลือกปฏิบัติอุ้มชาวนามากกว่าชาวสวนยางพารานั้น วิโรจน์กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่เกษตรกรจำนวนหนึ่งจะรู้สึกอย่างนั้น แต่หากจำกันได้ ปีที่แล้วรัฐบาลนี้มีมาตรการแทรกแซงตลาดยาง โดยการซื้อยางเข้ามาจนตอนนี้เรามีสต๊อกยางอยู่ที่ 200,000 กว่าตัน โดยซื้อกันที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท อย่างไรก็ตาม 200,000 ตันอาจฟังดูน้อยเมื่อเทียบกับสต๊อกข้าว แต่อย่าลืมว่าราคายาง 1 กก.เท่ากับเกือบ 10 กก.ของข้าว ปีที่แล้วรัฐบาลใส่เงินเข้าไป 15,000-20,000 ล้านบาทก็หายวับไปชั่วพริบตา ตอนหลังใส่เข้าไปอีกรอบหนึ่งแต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลไม่กล้าเอามาขาย เพราะกลัวว่าเอามาขายแล้วราคายางจะตกลงไป

“ฉะนั้นรัฐบาลก็ได้พยายามทำ และเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองสู้กับตลาดไม่ได้ทั้งเรื่องข้าวและเรื่องยาง แต่เรื่องข้าว ผมว่ารัฐบาลก็พยายามหาทางลง ส่วนหนึ่งก็พยายามเจรจากับชาวนาอยู่ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องเห็นใจชาวนาด้วยว่า เมื่อมีโครงการของชาวนามันดึงให้ต้นทุนของชาวนาสูงขึ้นจริง ดังนั้น เวลาลง การปรับตัวก็ยากพอสมควร และเชื่อว่าเมื่อมีเรื่องข้าวที่กำลังหาทางลงแล้วมามีเรื่องยางขึ้นมาอีกทำให้รัฐบาลลังเลมากขึ้นในการที่จะเข้าไปทำแบบเดียวกับข้าว” วิโรจน์กล่าว

เขากล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ยางพารานั้นต่างจากข้าวอย่างหนึ่ง คือ สำหรับข้าว เราพูดว่าเราเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก แต่ผลผลิตเราคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 7 ของผลผลิตโลก แต่ยางพาราเราเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 แล้วเรายังเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ด้วย จึงทำให้เห็นว่าแม้เราจะเป็นอันดับ 1 แต่เราไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาตลาดโลกได้จริง ผลผลิตยางของ 3 ประเทศรวมกันมีผลผลิตปริมาณถึงร้อยละ 70 แต่เวลามีประเทศอื่นผลิตออกมาก็มีผลกระทบ 3 ประเทศหลักเองก็ไม่สามารถคุมราคาในตลาดโลกได้

“ตัวอย่างของยางที่ดีอีกอันหนึ่งคือ การที่เราผลิตมาก มีผลว่าส่วนที่ใช้ภายในประเทศเพียงร้อยละ 15 ที่เหลือเราส่งออกหมด คนชอบพูดกันว่าเราควรหันมาใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น ในเมื่อเราส่งออกถึงร้อยละ 85 ถ้าเราใช้ยางเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหรือแม้กระทั่ง 4 เท่า โจทย์ของเราก็ยังไม่เปลี่ยน เพราะยางจำนวนมากยังคงต้องส่งออก และราคาของเราก็ยังต้องโยงกับราคาตลาดโลกเหมือนเดิม เรียกว่าแทบจะไม่ได้เปลี่ยนโจทย์เลยด้วยซ้ำ อันนั้นก็ไม่ใช่ทางออก” วิโรจน์กล่าว

นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอกล่าวต่อว่า คำถามต่อมาคือ รัฐบาลควรจะทำอย่างไร แล้วเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อนจะทำอย่างไร คำตอบคือ ต่างฝ่ายต่างควรพยายามถอยแล้วยึดหลักการที่จะไม่ไปสู้กับตลาด สิ่งที่รัฐบาลทำได้คือ ทำอย่างไรให้ราคาในประเทศผันผวนน้อยกว่าราคาตลาดโลก วิธีการหนึ่งที่ทำได้คือ รัฐบาลอาจจะมีมาตรการเก็บภาษีเวลาราคายางในตลาดโลกสูง แล้วเวลาที่ราคาตกต่ำก็เอามาอุดหนุนการส่งออกแทน วิธีนี้เป็นการแทรกแซงเมื่อจำเป็น ถามว่าแค่ไหนจึงเรียกว่า จำเป็น จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้มาก หลายคนพูดเรื่องต้นทุน แต่อยากชี้ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า ยางที่มีการกรีดกัน ณ วันนี้ ถอยหลังไป 5 ปีครึ่ง หรือนานกว่านั้นสำหรับภาคอีสาน ณ เวลาที่ปลูกกันตอนนั้น เชื่อว่าเกษตรกรแทบจะไม่มีใครเลยที่คิดว่าจะได้ราคาสูงเกิน 50 บาทต่อกิโลกรัม การตัดสินใจปลูกของเกษตรกรขณะนั้นคงคิดต้นทุนของตัวเองไว้แล้วแล้วจึงตัดสินใจ

“จริงๆ เกษตรกรไม่ได้คาดหวังราคาที่สูงมาก และต้นทุนเองก็คงพูดได้ว่าต่ำกว่า 50 บาท แต่หลังจากปลูกมาแล้วเกิดสถานการณ์ที่ยางขึ้นมาเป็น 70 บาท ถึงร้อยกว่าบาท แล้วก็ถึงร้อยปลายๆ ก่อนจะตกลงมา การที่ยางขึ้นไปเป็นร้อยปลายๆ ทำให้เกษตรกรฐานะดีขึ้นมาก ถ้าไปดูยอดขายรถปิคอัพในภาคใต้นั้นก็จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในแง่หนึ่งอาจพูดได้ว่าช่วงนั้นเป็นลาภลอย เพราะมันไม่ใช่ฝีมือแต่เป็นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วงนั้น สิ่งนี้ทำให้เกษตรกรคาดหวังว่าราคาจะยืนอยู่ตรงนั้น แต่พอราคาตกลงมาก็อาจจะรู้สึกแย่ ถ้าจะทำระบบในการรักษาเสถียรภาพราคายางก็ต้องคำนึงด้วยว่า ราคาที่เกิน 100 บาทหรือใกล้ๆ 100 บาท เป็นราคาที่ไม่สามารถคาดหวังได้ในระยะยาว แม้มีระบบที่รัฐจะช่วยในเวลาราคาตกต่ำก็ต้องพิจารณาให้ดี ผมถือว่าราคา ณ วันนี้ไม่ถือว่าเป็นราคาตกต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา” วิโรจน์กล่าว

เมื่อถามว่ารัฐบาลได้บทเรียนอะไรจากการแทรกแซงสินค้าเกษตร วิโรจน์ตอบว่า รัฐบาลอาจไม่ยอมรับเต็มปาก แต่จะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลเองไม่สามารถไปสู้กับราคาตลาดโลกได้จริง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร ปัญหาที่รัฐบาลสร้างและอาจจะต้องพยายามหาทางลงคือจำนำข้าว ตอนนี้ก็พยายามจะแก้ปัญหาโดยการปรับนิดปรับหน่อย ปรับยอดจำนำลง ปรับราคาลง หวังว่าจะทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายลดลง ชักชวนชาวนาไปปลูกพืชอื่นบ้าง

“แต่ผมคิดว่าจะเอาตัวรอดจากตรงนี้ได้ต่อเมื่อไม่มีปัญหาอื่นแทรกเข้ามา และเราเห็นว่าอันนั้นมันไม่จริง ยางก็เริ่มเป็นปัญหาขึ้นมาแล้ว อันที่จริงตัวที่คิดว่าจะเป็นปัญหาก่อนคือ มันสำปะหลัง เพราะรัฐบาลทำเหมือนกับข้าวเป๊ะเลย แต่ขนาดเล็กกว่า ข้าวโพดก็เริ่มมีเกษตรกรออกมาร้องเรียนแล้วว่าไม่รับจำนำบ้างหรือเพราะราคาตกต่ำ ถ้ารัฐบาลสรุปบทเรียนยังมีโอกาสที่ดีที่จะทบทวนนโยบายสินค้าเกษตรโดยรวม แล้วจะไม่ถูกข้อกล่าวหาด้วยว่าทำไมช่วยชาวนาอย่างเดียว น่าจะใช้โอกาสนี้ในการทบทวนกับนโยบายเกษตรโดยรวมเลย ในเมื่อลองแล้ว แล้วสู้กับตลาดไม่ไหวก็ควรเปลี่ยนแนวทางไปเลย” วิโรจน์กล่าว


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาไท วันที่ 30 สิงหาคม 2556 ในชื่อ นักวิจัยทีดีอาร์ไอชี้ราคายางไม่ถือว่าตกต่ำ แนะรัฐบาลทบทวนนโยบายอุ้มภาคเกษตร

นักวิจัย

ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด