คิดใหม่! อนาคตข้าวไทย

ปี2013-08-28

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ความผิดพลาดจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลในโครงการจำนำข้าวที่ตั้งเป้าส่งออกให้ 6 ประเทศแบบรัฐต่อรัฐ 1.76 ล้านตัน แต่ค่าเฉลี่ยการส่งออกทั้งภาครัฐและเอกชนมีเพียงแค่ 0.89 ล้านตันเท่านั้น ทำให้ไทยต้องเสียแชมป์ตลาดค้าข้าวจากที่เคยส่งออกมากที่สุด ร่วงลงมาอยู่ในอันดับ 3 รองจากอินเดีย และเวียดนาม หลังจากมีความผันผวนในตลาดโลกสูงและการแข่งขันในที่ค่อนข้างรุนแรง โดยประเทศผู้นำเข้าข้าวไทยรายใหญ่ต่างลดการนำเข้าข้าวลงบวกกับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกข้าวไทย นั่นคือ สต๊อกข้าวของอินเดียมีมากเพียงพอต่อการส่งออกได้ทั้งปี ขณะที่พม่ากำลังเปิดประเทศและเตรียมขายข้าวแข่งกับไทย ส่งผลให้ข้าวไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติและมีแนวโน้มตกลงไปเรื่อยๆ

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวในงานเสวนาสาธารณะ “คิดใหม่ อนาคตข้าวไทย” จัดโดยทีดีอาร์ไอ ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ไทยขาดทุนกว่า 136,000 ล้านบาท จากข้าวนาปีและนาปรังในช่วงฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา โดยตัวเลขดังกล่าวสูงกว่ากรอบที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ว่าจะขาดทุน 60,000 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตหากรัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวได้คาดว่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้นจาก 2 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว

นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวเตือนว่า หากรัฐบาลยังไม่ยกเลิกโครงการจำนำข้าวอนาคตข้าวไทยต้องดับวูบ พร้อมแนะนำว่ารัฐบาลควรหามาตรการอื่นเพื่อช่วยเหลือชาวนาแทน อาทิ การนำวิธีของสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้มาใช้ โดยรัฐบาลจ่ายชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาตลาด 70-85% แล้วกำหนดราคาเป้าหมายจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ราคาตลาด การชดเชยโดยตรง และความผันผวนของราคา โดยใช้ค่าเฉลี่ย 3-5 ปีในอดีต หรือการนำวิธีของประเทศญี่ปุ่นที่ใช้การประกันความเสี่ยงราคาลดต่ำกว่าต้นทุน โดยให้รัฐอุดหนุนเบี้ยประกันบางส่วน และค่าใช้จ่ายดำเนินการบางส่วนของบริษัทประกัน รวมทั้งการนำนโยบายคูปองซื้อสินค้าเข้ามาใช้ จะทำให้แบ่งเบาภาระได้บ้าง

ทั้งนี้ นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ แนะนำทางออกของการระบายข้าวคงค้างในสต๊อกว่ารัฐบาลควรนำระบบตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (AFET) อย่างที่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เคยทำมาแล้ว ซึ่งเป็นการประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาข้าวได้เช่นเดียวกับการจำนำข้าว แต่มีประสิทธิภาพมากกว่าระบบรับจำนำข้าว เนื่องจากเป็นการกำหนดราคาซื้อขายข้าวด้วยกลไกตลาด พร้อมระบุว่าปัญหาที่น่าเป็นห่วงของอนาคตข้าวไทยคือ ความสามารถในการแข่งขันยังทรงตัวและมีแนวโน้มแย่ลง อันเนื่องมาจากต้นทุนสูงขึ้นและการปรับปรุงคุณภาพข้าวของคู่แข่ง ขณะที่ประชากรโลกกินข้าวน้อยลงและแอฟริกาผู้นำเข้ารายใหญ่ใช้นโยบายเลี้ยงตัวเอง รวมถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเข้าสู่วัฏจักร EL Nino ซึ่งโจทย์สำคัญที่ชาวนาไทย นักวิจัยและรัฐต้องปรับปรุง คือ การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor productivity) ไม่ใช่ผลผลิตต่อไร่ (Yield) เนื่องจากไทยมีที่ดินแปลงนาใหญ่แต่ขาดแรงงาน การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ข้าวด้วยการวิจัยตลาดควบคู่กับการปรับปรุงพันธุ์ ในการการรับมือกับสภาพภูมิอากาศและศัตรูพืช รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศด้วย

สอดคล้องกับ นายวิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ที่ระบุว่า แม้การแก้ปัญหาจำนำข้าวจะดีขึ้นกว่าเดิมบ้าง แต่ปัญหาใหญ่ๆยังย้อนรอยเดิม นั่นคือกรอบวงเงินยังอยู่ในระดับสูงโดยรัฐบาลต้องใช้เงินปีละประมาณ 300,000 ล้านบาท รวมถึงการตั้งราคาที่สูงกว่าตลาดโลกที่จะสร้างปัญหาต่อไปในระยะยาว ที่ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในการปลูกข้าวเพิ่ม แรงจูงใจในการสวมสิทธิ์ และการนำข้าวข้ามแดน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นไทยต้องตามมาปิดกั้นไม่ให้นำข้าวข้ามแดนเพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของ AEC โดยมาตรการที่รัฐบาลคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้นั่นคือ การใช้โซนนิ่ง(Zoning) แต่คาดว่าในทางปฏิบัติไม่ได้ผลมากนัก และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสินค้าเกษตร เนื่องจากจำกัดพื้นที่และพื้นที่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่นอกเขตชลประทาน รวมถึงราคาสินค้าเกษตรขึ้นอยู่กับผลผลิตของทั้งโลกซึ่งไทยไม่สามารถกำหนดราคาในตลาดโลกได้

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวอีกว่า การกำหนดนโยบายเกษตรในอนาคตรัฐไม่ควรฝืนตลาดในระยะยาว แต่ควรมีมาตรการช่วยเกษตรกรรับมือกับความเสี่ยงด้านราคาในระยะสั้นและให้เกษตรกรร่วมรับภาระอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การเก็บภาษีส่งออกในช่วงที่พืชมีมูลค่าสูงกว่าแนวโน้นและนำเงินมาอุดหนุนเมื่อมีราคาต่ำ ขณะที่ในระยะยาวโครงการช่วยเหลือเกษตรกรรัฐควรล้มเลิกเป้าหมายที่จะยกราคาในประเทศให้สูงกว่าราคาตลาดโลก รวมถึงให้เกษตรกรตัดสินใจเองจากสัญญาณที่ได้รับจากแนวโน้มราคาตลาด นอกจากนี้หากรัฐต้องการลดปัญหาชาวนาปลอมจะต้องทำโครงการในรูปแบบประกันภัยโดยเรียกเก็บเบี้ยประกันต่อไร่ในอัตราต่ำในอัตราไม่เกิน 20-50 %

นอกจากนี้ นักวิชาการทีดีอาร์ไอยังเห็นว่ารัฐบาลควรยกเลิกนโยบายหรือมาตรการจูงใจให้เกษตรกรอยู่กับภาคเกษตร เนื่องจากการปรับตัวไปทำอาชีพอื่นมีรายได้ดีกว่าการทำเกษตรอยู่กับที่ ซึ่งตัวเกษตรกรเองเข้าใจสภาพปัญหาดีจึงโหวตให้ตัวเองและลูกหลานค่อยๆออกจากภาคเกษตร ทั้งนี้เชื่อว่า จำนวนเกษตรกรที่ลดลงไม่ก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารทั้งของไทยและของโลก

ขณะที่ น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลังมีนโยบายจำนำข้าวทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น โดยปี 2554 ข้าวหอมมะลิราคาอยู่ที่ 12,000-13,000 บาทต่อตัน ปี 2555 ขึ้นมาอยู่ที่ 14,000-15,000 บาทต่อตัน ส่วนโครงการรับจำนำหากไม่เน้นเรื่องกำไรและขาดทุน ถือว่าเป็นการยกระดับเกษตรกรไทยให้มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งในขณะนี้เกษตรกรมีผลกำไรจากการปลูกข้าวและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะที่การระบายผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า หรือ เอเฟท คาดว่าต้นเดือนตุลาคมนี้จะสามารถระบายได้ 1.5 แสนตัน ส่วนผลการหารือกับกลุ่มเกษตรกรในการปรับเกณฑ์จำนำข้าวใหม่ ทั้งเพดานราคาและปริมาณข้าว กำลังอยู่ในระหว่างการทำความเข้าใจ ซึ่งคาดว่าจะหาข้อสรุปได้ก่อนวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ที่จะเปิดรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลผลิต ปี 56/57

ด้าน นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แนวทางการเพิ่มศักยภาพข้าวไทยที่สำคัญคือ นโยบายการผลิตและการตลาดรวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐที่จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ ฐานข้อมูล และระบบสารสนเทศ โดยมีการเชื่อมโยงกัน 3 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนของต้นน้ำคือการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและชาวนา 2.ส่วนของกลางน้ำ คือการเพิ่มศักยภาพการแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มและผลิตภัณฑ์ และ 3.ส่วนปลายน้ำ คือการเพิ่มศักยภาพการค้าและตลาดข้าว โดยเห็นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของไทยสามารถทำได้ โดยการลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ เกษตรกรต้องปลูกข้าวไม่เกินปีละ 2 ครั้ง และต้องทำบัญชีฟาร์ม ขณะเดียวกันต้องลดอัตราการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีด้วย

โดย อธิบดีกรมการข้าว ได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาการผลิตข้าว ด้วยโครงการวิจัยและพัฒนาพัฒนาข้าวหอมและข้าวคุณสมบัติพิเศษ ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสนับสนุนให้ชาวนาทั่วประเทศใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี รวมถึงการสนับสนุนโครงการหมู่บ้านต้นแบบเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวและการยกระดับการผลิตข้าวคุณภาพ ตามความเหมาะสมของการโซนนิ่งข้าว โดยมี 3 ภาคส่วนที่เข้ามาร่วมมือ ได้แก่ ภาคการวิจัยพัฒนา ภาคชาวนา และภาคการตลาด ที่ต้องเชื่อมโยงกันเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาข้าว และเพิ่มศักยภาพการขับเคลื่อนข้าวไทยให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก