นักวิชาการ ไม่เห็นด้วยการขยายระยะเวลาใช้คลื่นความถี่โทรศัพท์ 1800 เมกกะเฮิร์ซอีก 1 ปี ขณะที่ภาคประชาชนยังขาดการประชาสัมพันธ์คลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ซ หมดสัมปทาน

ปี2013-07-30

นักวิชาการ ไม่เห็นด้วยการขยายเวลาใช้คลื่นความถี่โทรศัพท์ 1800 เมกกะเฮิร์ซอีก 1 ปี จะเป็นการสูญเสียโอกาสของประเทศในการประมูลคลื่นความถี่ ขณะที่ภาคประชาชนยังขาดการประชาสัมพันธ์คลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ซหมดสัมปทาน

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)เปิดเผย ในเวทีเสวนาสาธารณะ NBTC Public Forum ประจำปี 2556 ครั้งที่ 3 ทางเลือกการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อสัญญาสัมปทานบริการมือถือสิ้นสุด จัดโดยสำนักงาน กสทช.ว่า หาก กสทช.ให้ขยายการใช้คลื่นความถี่ออกไปอีก 1 ปี ในการรองรับคลื่นความถี่ 1800 เมกกะเฮิร์ซ ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัททรูฯ และดีพีซีในเครือเอไอเอส ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดือนกันยายนนี้ จะสร้างความเสียหายต่อประเทศ ในการสูญเสียโอกาสที่จะประมูลคลื่นความถี่ ประชาชนเสียโอกาสใช้เทคโนโลยีใหม่จากการประมูล และหากให้ร่างประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. … ที่ขยายการใช้คลื่นออกไปอีก 1 ปี มีผลบังคับใช้ จะเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เนื่องจากร่างประกาศดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ กรณีที่ กสทช.ไม่มีอำนาจให้เอกชนเข้ามามีสิทธิ์ในคลื่นที่หมดสัมปทานแล้ว

ด้านนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า การสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่ ยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ทราบรายละเอียดและแนวทางรองรับ ส่วนร่างประกาศเยียวยาการใช้คลื่นออกไปอีก 1 ปี บางส่วนยังมีเนื้อหาที่ไม่ชัดเจน ในวิธีการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภค หรือจะเป็นธรรมจริง แก่ผู้บริโภคหรือไม่ แผนการโอนย้ายเลขหมาย ตลอดจนกรอบการเปิดประมูลคลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ซใหม่ ที่ยังไม่ชัดเจน

ขณะที่นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการ และการบริหารงานของ กสทช. (ซูเปอร์บอร์ด)กล่าวว่า สิ่งที่ตรวจสอบได้ขณะนี้ คือ การขยายการใช้คลื่นออกไปอีก 1 ปี ขัดต่อกฏหมายหรือไม่ แผนการโอนย้ายเลขหมายโทรศัพท์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการโอนย้ายเลขหมายโทรศัพท์ที่หมดสัมปทาน ให้ทันเวลาที่กำหนดได้สูงสุดมากกว่า 1 ล้านเลขหมายต่อวัน แต่ กสทช.ยังไม่ได้ขยายการโอนย้ายเต็มที่ ทำให้การโอนย้ายเกิดปัญหา


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติ วันที่ 30 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ นักวิชาการ ไม่เห็นด้วยการขยายระยะเวลาใช้คลื่นความถี่โทรศัพท์ 1800 เมกกะเฮิร์ซอีก 1 ปี ขณะที่ภาคประชาชนยังขาดการประชาสัมพันธ์คลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ซ หมดสัมปทาน