‘ปชช.’85%เชื่อ รัฐรับจำนำข้าว โกง-ไม่โปร่งใส

ปี2013-06-30

นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้ต้นเหตุโครงการรับจำนำข้าวของรัฐเจ๊ง แนะให้แก้การทุจริตจะลดการขาดทุนได้มากกว่าหั่นราคาจำนำเหลือ 12,000 บาท ห่วงราคาข้าวเปลือกลดรวดเร็วกระทบชาวนานอกโครงการ ให้ประชาชนจำเป็นบทเรียนในการหาเสียงของนักการเมือง ขณะที่ชาวนาเร่งเก็บเกี่ยวข้าวขายให้ทันตันละ 15,000 บาท เอแบคโพลสำรวจประชาชนเชื่อโครงการรับนำจำข้าวของรัฐไม่โปร่งใส “ปู” ยันพร้อมผลักดันโซนนิ่งเกษตร อ้างจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการปรับลดราคาจำนำข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ในโครงการรับจำนำข้าวจาก 15,000 บาทต่อตัน เหลือ 12,000 บาทต่อตัน ผ่านบทความเรื่อง “ปัญหาจากการล่มสลายของโครงการรับจำนำข้าว” โดยระบุว่า การตัดสินใจปรับลดราคาจำนำลงอย่างรวดเร็วไม่ใช่แก้ปัญหาการขาดทุน เพราะการขาดทุนไม่ได้เกิดจากการตั้งราคาจำนำที่สูงเกินไปอย่างเดียว ยังมาจากค่าใช้จ่ายโครงการ และการระบายข้าวที่ไม่โปร่งใส รวมทั้งการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว ที่พบว่าโรงสีลักลอบนำข้าวไปขายเอกชนจนสต็อกข้าวหายไปจากบัญชี

นายนิพนธ์กล่าวว่า จากการคำนวณปริมาณการระบายข้าวและราคาที่รัฐขาย พบว่าที่ผ่านมาระบายข้าว 4.99 ล้านตัน ราคาเฉลี่ย 10.21 บาทต่อ กก. ขณะที่ต้นทุนข้าวสารในโครงการราคาสูงถึง 33.62 บาทต่อ กก. เท่ากับรัฐขาดทุน 23.41 บาทต่อ กก. แบ่งเป็นขาดทุนจากการตั้งราคารับจำนำสูงกว่าตลาด 14.52 บาทต่อ กก. ขาดทุนจากค่าดำเนินการ เช่น ค่าแรงงาน ค่าโรงสี ค่าเช่าโกดัง 0.74 บาทต่อ กก. ที่เหลือคือขาดทุนจากการระบายข้าวในราคาต่ำกว่าตลาดอีก 8.15 บาทต่อ กก. ถือเป็นบทเรียนให้ประชาชนพิจารณาทบทวนนโยบายที่พรรคการเมืองนำมาใช้ในการหาเสียงว่ามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร อย่ามองเพียงผลประโยชน์อย่างเดียว ขณะที่พรรคการเมืองก็ควรมีความรับผิดชอบวิเคราะห์กลั่นกรองก่อนจะนำมาใช้หาเสียงด้วย ผู้บริหารพรรคการเมืองต่างก็เป็นผู้ใหญ่แล้วไม่ใช่เด็ก

ทั้งนี้ การลดราคาจำนำข้าวอย่างกะทันหันอาจทำให้ราคาข้าวเปลือกลดฮวบฮาบ ชาวนาที่อยู่นอกโครงการอาจได้รับผลกระทบ คณะกรรมการนโยบายข้าวควรพิจารณาอย่างเร่งด่วน หากรัฐบาลจะลดการขาดทุนจากโครงการรับจำนำก็ควรต้องลดภาระการขาดทุนจากการระบายข้าวและการอุดหนุนผู้บริโภคด้วย

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตรวจสอบโกดังเก็บข้าวในโครงการรับจำนำภายในวันเดียวว่า รัฐบาลไม่สามารถตรวจได้ทั้งหมดตามที่อ้าง ทำได้เพียงปลาซิวปลาสร้อย ไม่สามารถลากคอรายใหญ่ที่หนุนหลังการทุจริตได้ และรัฐไม่สามารถสร้างความกระจ่างได้หลายเรื่อง โดยเฉพาะข้าวล่องหน แม้จะมีการสร้างภาพออกไปตรวจแล้วก็ตาม เพราะกระทรวงพาณิชย์อ้างว่าทำข้าวถุงขาย 2.5 ล้านตัน แต่ในตลาดมีเพียง 5 แสนตัน และการที่ รมว.พาณิชย์ อ้างว่าขายข้าวจีทูจีไป 7 ล้านตัน แต่ตรวจสอบแล้วไม่มีการขาย ต้องตอบคำถามว่าขายไปให้ใคร และขอให้เลิกสร้างภาพ เพราะสังคมเคลือบแคลง ไม่เป็นผลดีต่อโครงการรับจำนำข้าวด้วย

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า ชาวนาทั้งประเทศยังคงยืนกรานตามข้อเรียกร้องเดิม คือให้รัฐบาลรับจำนำข้าวที่ตันละ 15,000 บาท ถึงวันที่ 30 ก.ย.56 หากไม่สามารถดำเนินการตามที่เรียกร้องได้ ชาวนาทั้งประเทศจะชุมนุมกดดันต่อไป ขณะที่นายนิเวศน์ ศรีตงกิม เจ้าของโรงสีเพชรบุรีอินเตอร์ไรซ์ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันกับราคาตันละ 15,000 บาท
ด้านสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัด รวม 1,507 ตัวอย่าง ในหัวข้อ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความโปร่งใสในนโยบายของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 25-18 มิถุนายน พบว่า 5 อันดับแรกข่าวที่ประชาชนอยากติดตามคือ อันดับแรก ร้อยละ 90.2 อยากได้ยินข่าวผู้นำเสียสละ ฝ่ายการเมืองจัดทำโครงการต่างๆ แแบบโปร่งใส, ร้อยละ 88.1 อยากได้ยินข่าวความสงบสุขในภาคใต้ และร้อยละ 85.4 ข่าวความสงบสุขของประเทศ ร้อยละ 83 ข่าวเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่ดีขึ้น และร้อยละ 82.4 ข่าวการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ
เมื่อสอบถามถึงความไม่เชื่อมั่น ความโปร่งใสในการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ร้อยละ 85 คิดว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่โปร่งใส ตามด้วยโครงการบัตรเครดิตเกษตรกรร้อยละ 71.6 โครงการเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท ร้อยละ 68.6 โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการร้อยละ 67.1 โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 94.8 เห็นด้วยที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมประเมินผลการทำงานของรัฐบาลทุกโครงการ มีเพียงร้อยละ 5.2 ไม่เห็นด้วย
วันที่ 29 มิถุนายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้บันทึกเทปในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน โดยกล่าวถึงแนวทางเกษตรโซนนิ่งว่า เพื่อให้มีการแก้ปัญหาระยะยาว อยากเห็นการพัฒนาระบบเกษตรครบวงจร ทำอย่างไรให้พื้นที่เหมาะกับการเพาะปลูก สภาวะน้ำ อากาศ การคมนาคม และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร หลักการจะพิจารณาดูว่าแต่ละจังหวัดเหมาะสมจะเพาะปลูกอะไรเหรือเหมาะกับประมง ปศุสัตว์ โดยให้เจ้าหน้าที่สำรวจร่วมกับกระทรวงมหาดไทย
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงการเพิ่มช่องทางจำหน่ายว่าระยะสั้นทำได้ทันทีคือส่งเสริมให้แปรรูปมากขึ้น การแก้ราคาตกต่ำแนะนำให้ปลูกพืชพลังงาน พร้อมดูพืชผักผลไม้ตามฤดูกาลเพื่อหาช่องทางจำหน่ายให้เป็นที่มาของการจัดเทศกาลอาหารโอท็อประหว่าง 28 มิ.ย.-4 ก.ค. ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จึงอยากเชิญชวนประชาชนไปช่วยกันอุดหนุนผลไม้ไทย และมีการประสานห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต มาร่วมอุดหนุน ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย ในการสั่งซื้อล่วงหน้า และการจัดส่งผลไม้ให้ถึงบ้าน


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยโพสต์ วันที่ 30 มิถุนายน 2556 ในชื่อ ‘ปชช.’85%เชื่อ รัฐรับจำนำข้าว โกง-ไม่โปร่งใส