ทีดีอาร์ไอ ชี้ กสทช.ต่ออายุคลื่น 1800 MHz ทำประเทศชาติและประชาชน เสียผลประโยชน์ 1.6 แสนล้านบาท
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะขยายระยะเวลาให้เอกชนมีสิทธิ์ใช้คลื่น 1800 MHz ออกไปอีก 1 ปี จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศและประชาชนเบื้องต้น 1.6 แสนล้านบาท จากการที่คลื่น 1800 ไม่สามารถเปิดประมูลได้ในปีนี้
สำหรับตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามผลการวิจัยของสถาบันอนาคตประเทศไทย ที่เคยประเมินความเสียหายจากความล่าช้าในการประมูลใบอนุญาตให้บริการ (ไลเซนส์) 3G 2100 MHz รวมถึงตัวอย่างผลการศึกษาของประเทศอังกฤษที่ประมูลคลื่น 3G ล่าช้าเช่นเดียวกัน และทำให้ประเทศต้องเสียโอกาสทางธุรกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาท
“กสทช.ไม่สามารถชดเชยโอกาสของประชาชน ซึ่งควรจะได้ใช้ 4G และมูลค่าทางเทคโนโลยีที่ไม่เกิดขึ้นจากการที่ไม่สามารถเปิดประมูลคลื่น 1800 ในปีนี้ได้ทัน ทั้งที่ กสทช. รู้ล่วงหน้าว่าคลื่น 1800 จะสิ้นสุดสัมปทาน เดือน ก.ย.อยู่แล้ว” นางเดือนเด่น กล่าว
ทั้งนี้ หาก กสทช. ยังพยายามผลักดันให้ร่างประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. …. มีผลบังคับใช้เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องสูงมาก เพราะนักวิชาการด้านกฎหมายได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ร่างประกาศฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ กสทช. ไม่มีอำนาจที่จะให้เอกชนเข้ามามีสิทธิ์ในคลื่นที่หมดสัมปทานแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นางเดือนเด่นเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการ เรื่อง แนวทางการบริหารคลื่นความถี่ 1800 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทานที่ กสทช. ตั้งขึ้น แต่ กสทช. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการชุดนี้ และได้ตั้งคณะทำงานชุดใหม่ขึ้นมาทดแทน คือ คณะทำงานการมีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่มีนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นประธาน
ด้าน นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการ และการบริหารงานของ กสทช. (ซูเปอร์บอร์ด) กล่าวว่า สิ่งที่ซูเปอร์บอร์ดเข้าไปตรวจสอบได้ในขณะนี้ คือ แผนการบริหารจัดการเรื่องการโอนย้ายลูกค้าผ่านระบบคงสิทธิเลขหมาย (นัมเบอร์พอร์ทบิลิตี้) ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยโอนย้ายลูกค้าที่หมดสัมปทานให้ทันเวลาที่กำหนดได้ โดยสามารถเพิ่มปริมาณได้สูงสุดมากกว่า 1 ล้านเลขหมายต่อวัน แต่ที่ผ่านมา กสทช.ยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ ทำให้การโอนย้ายเป็นปัญหา
ก่อนหน้านี้ นางจันท์จิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อมารองรับร่างประกาศ เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้ คลื่นความถี่ไม่อาจกลับไปเป็นของบริษัท กสท จำกัด (มหาชน) และ กสทช. ก็ไม่อาจใช้มาตรการที่เรียกว่า มาตรการคุ้มครองชั่วคราว อนุญาตให้บริษัท ทรูมูฟ และดีพีซี ได้สิทธิ์ใช้คลื่นความถี่นั้นต่อไปภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง โดยไม่ผ่านกระบวนการจัดสรรคลื่น เพราะจะเป็นการทำลายหลักการของรัฐธรรมนูญและกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม และจะส่งผลให้เป็นการทำลายระบบใบอนุญาต.
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยโพสต์ วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ จวกต่ออายุคลื่น1800MHZ TDRIชี้ทำชาติเสียหาย1.6แสนล.