‘TDRI’ แจงยิบ 2 ปี รัฐขาดทุนจำนำข้าวแล้ว 1.36 แสนลบ.

ปี2013-08-16

“ทีดีอาร์ไอ” ฟันธง หากจำนำข้าวครบ 4 ปี รัฐขาดทุนถึง 2 ใน 3 ของวงเงินทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ ย้ำจำนำข้าว 2 รอบขาดทุนแล้ว 136,000 ล้านบาท แนะใช้มาตรการอื่นยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนา ชี้การกำหนดราคาข้าวสูงกว่าราคาตลาด เปิดช่องว่างทุจริต…เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 56 ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวระหว่างการเสวนาสาธารณะ เรื่อง “คิดใหม่ อนาคตข้าวไทย” ว่า นโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาของพรรคเพื่อไทย ภายใต้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ผ่านโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐบาลขาดทุนจากโครงการดังกล่าวแล้ว ประมาณ 136,000 ล้านบาท จากการรับจำนำข้าว 2 ฤดูกาลผลิตในช่วงที่ผ่านมา สูงกว่าที่รัฐบาลกำหนดกรอบการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว 60,000 บาท/ปี และหากรัฐบาลยังคงยืนยันเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไปจนครบ 4 ปี คาดว่ารัฐบาลจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว

นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า แม้ว่าจะประสบปัญหาขาดทุนจากโครงการดังกล่าวจำนวนมหาศาล แต่รัฐบาลยังคงยืนยันเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ท่ามกลางข้อจำกัดด้านวงเงินงบประมาณที่เหลือน้อย และไม่สามารถกู้เงินมาลงทุนเพิ่มได้อีก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งระบายข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ถึง 17 ล้านตัน เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำหรับนำมาหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ และเพื่อรักษาฐานะการคลังของรัฐบาล ขณะเดียวกัน ยังมีความพยายามในการปรับเกณฑ์จำนำข้าวใหม่ ทั้งเพดานราคาและปริมาณข้าว ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้ ในขณะที่โครงการรับจำนำข้าวนาปีฤดูกาลผลิต ปี 56/57 มีกำหนดเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้

“กระทรวงพาณิชย์ประกาศเป้าหมายระบายข้าวที่ 1 ล้านตันต่อเดือน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะทำให้ราคาข้าวลดลง และลดลงมากกว่าการประกาศสต๊อกข้าวคงเหลือ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้กระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวจากการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลได้เพียง 200,000 ตัน เพราะเอกชนห่วงว่าจะได้ข้าวที่ไม่มีคุณภาพ และประเมินว่าในการประมูลข้าวรอบหน้า กระทรวงพาณิชย์จะลดราคาลงมาอีก” นายนิพนธ์ กล่าว

นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว แล้วหามาตรการอื่นๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรแทน โดยนำรูปแบบจากต่างประเทศมาปรับใช้ เช่น ในสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ที่รัฐบาลจ่ายชดเชยให้เกษตรกร 70-80% ของส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาตลาด โดยใช้วิธีการกำหนดราคาเป้าหมายจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย ราคาตลาด การชดเชยโดยตรง และความผันผวนของราคา ภายใต้ค่าเฉลี่ย 3-5 ปีในอดีต อีกทั้งการทำประกันภัยพืขผลทางการเกษตร โดยรัฐช่วยเหลือด้านเบี้ยประกันส่วนหนึ่งให้กับเกษตรกร และออกค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับบริษัทประกัน

“ส่วนการระบายข้าวคงค้างในสต๊อกรัฐ ควรเน้นการขายข้าวคุณภาพดี ผ่านช่องทางตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ เอเฟท ที่เคยนำวิธีการดังกล่าวมาใช้และได้ผลดีมาแล้วในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงพาณิชย์ไม่ควรนำสต๊อกข้าวที่เหลืออยู่ในขณะนี้มาขายอย่างเด็ดขาด หากต้องการรักษาภาพลักษณ์ข้าวไทยคุณภาพดี อนาคตเกษตรเรื่องใหญ่ที่สุดคือ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เพื่อรักษาคุณภาพข้าวและผลผลิตทางการเกษตรให้ดีที่สุด” นายนิพนธ์ กล่าว

ด้าน นายวิโรจน์ ณ ระนอง นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาจำนำข้าวตอนนี้ยังย้อนรอยเดิมคือ วงเงินงบประมาณที่ใช้ค่อนข้างสูง แม้การแก้ปัญหาในโครงการรับจำนำข้าวจะดีขึ้น มีรูปแบบการระบายข้าวที่ชัดเจน แต่กรอบวงเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวรอบใหม่ (ข้าวนาปี ฤดูกาลผลิตปี 56/57) ยังอยู่ในระดับสูงถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัญหาเดิมที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไข โดยการปรับลดลงวงเงินให้ต่ำลงได้ เช่นเดียวกับการระบายข้าวคงค้างในสต๊อกรัฐ ที่ทั้งในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลข้าวในสต๊อกรัฐ ซึ่งจากการเปิดประมูลข้าวสต๊อกรัฐ 2 รอบ สามารถระบายข้าวได้เพียง 200,000 ตันเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าว ทำให้การเสนอราคาประมูลต่ำลงตามไปด้วย

ในขณะที่การตั้งราคารับจำนำที่สูงถึง 15,000 บาท/ตัน สร้างปัญหาการขนข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ เปิดช่องว่างให้มีการทุจริต และในระยะยาวจะส่งผลต่อคุณภาพข้าวไทยที่ขาดการพัฒนา เพราะเกษตรกรเน้นการปลูกข้าวให้ได้ปริมาณเยอะๆ มากกว่าพัฒนาคุณภาพข้าว เพิ่อสร้างมูลค่าเพิ่มและจุดแข็ง แม้การกำหนดราคารับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาด จะทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น โดยในระยะยาวราคารับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาด จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่น หันมาปลูกข้าวมากขึ้น


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยรัฐ วันที่ 16 สิงหาคม 2556 ในชื่อ ‘TDRI’แจงยิบ 2ปีรัฐขาดทุนจำนำข้าวแล้ว1.36แสนลบ.