ผจก.วิทยุจุฬาฯ ชี้ กสทช.ฟ้องหมิ่นสื่อ เท่ากับทำลายระบบการกำกับดูแลตนเองของสื่อ ท้าเดิมพันตำแหน่งของกสทช. หากศาลตัดสินว่าสื่อไม่มีความผิด
จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยื่นฟ้อง นางสาวเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่องไทยพีบีเอส ในข้อหาหมิ่นประมาทในเรื่องการแสดงความคิดเห็นคัดค้านการที่ กสทช.ขยายสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ให้ธุรกิจเอกชนอีก 1 ปี แทนที่จะนำคลื่นที่หมดสัญญาออกประมูล ซึ่งการฟ้องร้องดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กสทช.อาจจะกำลังแทรกแซงเสรีภาพสื่อและนักวิชาการ
17 ก.ย.56 คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ร่วมกับนักศึกษาปริญญาโทรุ่น 31 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโครงการอินเทอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชนชน (iLaw) จัดเวทีเสวนา “เสรีภาพการตรวจสอบกับราคาที่ต้องจ่าย กรณีศึกษา : กทค. ฟ้องนักวิชาการและสื่อ” ที่ มธ.ท่าพระจันทร์
น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้จัดการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์กล่าวว่า กสทช.ถูกสร้างขึ้นมาเพราะต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งต้องการให้สื่อกำกับดูแลกันเอง การฟ้องหมิ่นประมาทเช่นนี้ คล้ายกับกำลังทำลายระบบการกำกับดูแลกันเองของสื่อ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรสื่อสาธารณะ ที่มีระบบการกำกับตัวเอง มีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ชัดเจน แล้วเพราะเหตุใด กสทช. จึงไม่ร้องเรียนไปยังไทยพีบีเอสว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และขอพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูลจากฝ่ายกสทช. และหากไทยพีบีเอสไม่ยินยอมจึงค่อยดำเนินการฟ้องร้อง หากศาลตัดสินว่านางสาวเดือนเด่น และนางสาวณัฏฐา ไม่มีความผิด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ กสทช.จะกล้าเดิมพัน รับผิดชอบความเสียหายนี้ด้วยตำแหน่งและเกียรติยศของตนเองหรือไม่
น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวว่า หลักการทางกฎหมาย กสทช.สามารถฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการและสื่อได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่มีเงื่อนไขว่า การหมิ่นประมาทนั้นอยู่ในข้อยกเว้นหรือไม่ เช่น การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต คือ เข้าใจหรือเชื่อว่าเรื่องที่กล่าวนั้นเป็นความจริง เป็นต้น แต่สถานะของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นจึงควรมีการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส จากทั้งภาคเอกชน ประชาชนและนักวิชาการ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์นั้นก็ถือเป็นการตรวจสอบอีกทางหนึ่ง ดังนั้น กสทช. ควรมีความอดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าประชาชนทั่วไป จึงมีข้อสงสัยว่าแม้จะมีสิทธิ์ฟ้องร้องได้ แต่ควรจะใช้สิทธิหรือไม่
น.ส.กายาทรีย์ เวนกิตสวารัน ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีป้า (SEAPA) กล่าวว่า เป็นเรื่องแปลกที่องค์กรสาธารณะที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อกลับฟ้องสื่อด้วยกันเอง ซึ่งหากสื่อหวาดกลัวการถูกฟ้องร้อง องค์กรสาธารณะก็มีแนวโน้มที่จะใช้การฟ้องร้องเพื่อทำให้ข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรตนเองเงียบลง ดังนั้น ในกรณีนี้ สื่อควรจะรวมตัวกันวิพากษ์วิจารณ์การฟ้องร้องเพื่อปกป้องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
นายรุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำสาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. กล่าวว่า การแทรกแซงสื่อของรัฐบาล มีสาเหตุมาจากรัฐบาลขาดความสามารถในการอธิบายนโยบายแก่ประชาชน เช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการจัดการน้ำ เป็นต้น โดยการแทรกแซงสื่อมีหลายรูปแบบ อาทิ การสร้างบรรยากาศให้เกิดความหวาดกลัวจนเกิดการเซ็นเซอร์สื่อ เช่น การเซ็นเซอร์ละครเหนือเมฆ 2 รายการฮาร์ดคอร์ข่าวทางช่อง 5 ถูกตัดเข้าโฆษณาระหว่างการนำเสนอข่าว เควอร์เตอร์ เป็นต้น หรือการสร้างข่าวเพื่อดึงความสนใจไปจากประเด็นที่รัฐบาลไม่อยากให้ประชาชนสนใจ เช่น กรณีเณรคำ ถูกนำเสนอเป็นข่าวหลักเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นทางการเมือง เป็นต้น หรือร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการ ที่กำหนดว่าการเสนอข่าวขัดแย้งจะต้องมีคู่กรณีครบทุกฝ่าย ซึ่งหากประกาศใช้จริง จะทำให้ไม่สามารถนำเสนอข่าวขัดแย้งหรือการตรวจสอบรัฐบาลได้เลย หากรัฐบาลเลือกที่จะไม่ให้ข้อมูล
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง นักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) กล่าวว่า การทำงานของกสทช.ไม่มีความโปร่งใสในหลายๆ ด้าน เช่น เปิดเผยมติของคณะกรรมการ กสทช.ล่าช้าไม่เปิดเผยรายงานการประชุมของอนุกรรมการ รวมทั้งไม่เปิดเผยข้อมูลที่ใช้ประกอบการกำหนดนโยบายของ กสทช. มีการใช้งบประมาณในด้านต่างๆ เช่น การไปดูงานต่างประเทศ หรือการซื้อสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ แต่ไม่มีการเปิดเผยผลของการใช้งบประมาณ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของ กสทช.ได้ กสทช.จึงควรใช้พื้นที่สาธารณะในการโต้แย้งถกเถียง มากกว่าการไปฟ้องกันในศาล
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาไท วันที่ 17 กันยายน 2556 ในชื่อ ผจก.วิทยุจุฬาฯ ท้า กสทช. เอาตำแหน่งเป็นเดิมพันคดีฟ้องหมิ่นสื่อ