เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556 ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง “คดีฟ้องร้องนักวิชาการกับบทบาทหน้าที่สาธารณะ” หลังจาก กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) 4 คน และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยเลขาธิการ กสทช. ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ ‘ที่นี่ Thai PBS’ จากการให้สัมภาษณ์และนำเสนอเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz
ในงานเสวนาดังกล่าว นักวิชาการจากหลากหลายสาขาได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าหน่วยงานของรัฐควรยอมรับเสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการ ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ และหากเห็นว่าข้อมูลของนักวิชาการไม่ถูกต้อง สิ่งที่หน่วยงานของรัฐควรทำเป็นลำดับแรกคือการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณะ ขณะที่การฟ้องร้องควรเป็นทางออกสุดท้าย
“การเปิดศึกกับนักวิชาการหรือประชาชน ผมคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ที่ถูกต้องก็คือตั้งโต๊ะเจรจากัน เชิญมาทั้งสองฝ่าย โต้กันต่อสาธารณะ การบอกว่านักวิชาการไม่เข้าใจข้อมูล แล้วพูดบนฐานของข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องยาก ก็เอาข้อมูลไปให้เขา แล้วบอกว่าข้อมูลที่ถูกเป็นอย่างนี้ ที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์นั้นผิด ก็จบกัน” ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็น
ขณะที่ ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่าการทำหน้าที่ของนักวิชาการและสื่อมวลชนเป็นกลไกสำคัญของการตรวจสอบผู้ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งหากสังคมเพิกเฉยกับกรณีการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น นักวิชาการและสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่นี้ก็จะมีน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ ผศ.ดร.พิรงรองยังตั้งคำถามว่า แม้ กทค. มีสิทธิ์ที่จะฟ้อง แต่ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลผลประโยชน์ของสาธารณะ การฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อนักวิชาการและสื่อมวลชนที่ท้วงติงการทำงานขององค์กรในประเด็นเกี่ยวกับสาธารณะนั้นเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่
สำหรับมุมมองทางรัฐศาสตร์ ผศ.ดร.วีระ สมบูรณ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นว่า ในทศวรรษ 1960 มีคำว่า SLAPP เกิดขึ้นในวงวิชาการตะวันตก ซึ่งหมายถึงการใช้คดีความหรือการฟ้องร้องเป็นกลยุทธ์คุกคามการมีส่วนร่วมสาธารณะ (strategic lawsuit against public participation) โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะใช้การเสียชื่อเสียง การหมิ่นประมาท หรือการนำเสนอข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ เป็นข้ออ้างในการฟ้อง “แต่วัตถุประสงค์จริงๆ คือการเซ็นเซอร์ การคุกคาม การขู่ หรือการทำให้เงียบ … ถ้าการ SLAPP เกิดขึ้นและขยายออกไป มันจะเกิดวัฒนธรรมสองด้าน คือถ้ามันสำเร็จ ด้านหนึ่งก็คือกลยุทธ์ SLAPP ถูกใช้ต่อแน่นอน ส่วนอีกด้านหนึ่งก็คือ ผลลัพธ์ของมัน ภาษาอังกฤษเรียกว่ามัน chill พูดง่ายๆ ก็คือทำให้รู้สึกหนาวเมื่อจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะ”
ขณะที่อาจารย์วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง จากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ชี้ให้เห็นว่า กสทช. ยังไม่มีธรรมาภิบาลที่ดีเพียงพอ การตรวจสอบการทำงานโดยนักวิชาการและสื่อมวลชนจึงมีความจำเป็น โดยอาจารย์วรพจน์ระบุว่า กสทช. ไม่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในหลายประเด็น เช่น ไม่เปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่เปิดเผยการศึกษาที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการ ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ กสทช. เปิดเผยรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการด้วย
นอกจากนี้ อาจารย์วรพจน์ยังระบุว่า ในปี 2555 กสทช. มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานประมาณ 1,400 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดคือเงินบริจาคและการกุศล ส่วนที่เหลือคือค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ (มากกว่าร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน) และค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งบางกรณีอาจกล่าวได้ว่าเป็นการซื้อสื่อ เนื่องจากมีการระบุว่าประชาสัมพันธ์ผ่านรายการใดบ้าง อาจารย์วรพจน์จึงเรียกร้องให้ กสทช. ชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อความโปร่งใส และในฐานะองค์กรที่กำกับดูแลผลประโยชน์ของสาธารณะ ควรถูกตั้งคำถามว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่
ทางด้าน ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการ Media Monitor กล่าวว่า จากประสบการณ์ของตน อาจสรุปได้ว่า กสทช. ชุดนี้ไม่ชอบการสื่อสารแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกันก็แนะนำว่าหาก กสทช. คิดว่ารายการ ‘ที่นี่ Thai PBS’ นำเสนอข้อมูลด้านเดียว ก็สามารถให้เจ้าหน้าที่แจ้งไปที่กรรมการนโยบายของสถานี ซึ่งมีกลไกรับเรื่องร้องเรียน จากนั้นก็จะมีการตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติแบบมีวุฒิภาวะ “แต่เมื่อ กสทช. เลือกใช้กลไกการฟ้องร้อง ดิฉันก็เลยคิดว่าหรือสถานีนี้เป็นสถานีที่จะต้องเขียนเสือให้วัวกลัว แต่ดิฉันไม่แน่ใจว่าเสือที่ท่านเขียน กลายเป็นวัวหรือเปล่า จึงทำให้เสือตื่นขึ้นมาเยอะแยะไปหมด”
สุดท้าย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่าหาก กสทช. คิดว่าข้อมูลของนักวิชาการไม่ถูกต้อง ก็สามารถชี้แจงเรื่องนี้ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสังคมมากกว่าการฟ้องร้อง ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่า การที่ กสทช. ได้รับมอบสิทธิ์ในการจัดสรรผลประโยชน์ของสาธารณะจำนวนมหาศาล สาธารณชนจึงมีสิทธิ์ตรวจสอบและถามคำถาม ซึ่ง กสทช. ก็ควรจะต้องพร้อมที่จะตอบคำถามเหล่านั้น
รศ.ดร.นวลน้อยกล่าวปิดท้ายว่า กระบวนการทำงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อ กสทช. เพราะฉะนั้น หาก กสทช. ต้องการได้รับความเชื่อถือ ก็ต้องทำทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส เนื่องจาก “หน่วยงานของรัฐไม่ใช่หน่วยงานของท่าน หน่วยงานของรัฐเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้น เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีทั้งหลายมาจากความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อท่าน”