tdri logo
tdri logo
11 กันยายน 2013
Read in Minutes

Views

ทีดีอาร์ไอแนะรัฐขยายฐานภาษีคนรวยอุ้มจน

bangkokbiznews20130702

ทีดีอาร์ไอเปิดผลการศึกษาการออม 20 ปีพบคนไทยออมเพิ่ม 10 เท่า แต่ยังมีปัญหาเหลื่อมล้ำ แนะรัฐบาลขยายฐานภาษีคนรวยที่ยังหลบภาษี อุ้มคนจน

นายชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลศึกษาภาพรวมเกี่ยวกับเงินออม การสะสมทุน และการถือครองทรัพย์สินของครัวเรือนไทย ในช่วง 2 ทศวรรษ (โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยในช่วง พ.ศ.2531-2552) โดยกล่าวว่า สถานะการออมของคนไทยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ในภาพรวมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นโดยสัดส่วนครัวเรือนที่มีการออมเงินหรือมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้น

จากสถิติเมื่อปี พ.ศ. 2531 พบว่าสัดส่วนครัวเรือนที่ไม่มีเงินออมอยู่ที่ร้อยละ 48 แต่ในปี พ.ศ. 2552 สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด โดยที่ครัวเรือนมีเงินออมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า จากที่ในปี 2531 ครัวเรือนไทยมีเงินออมเฉลี่ยเพียง 507 บาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ในปี 2552 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 5,145 บาท คิดเป็นอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 12 ต่อปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ ขณะที่รายจ่ายไม่ได้ขยายตัวในอัตราที่สูงเทียบเท่ากับรายได้

อย่างไรก็ดี นักวิชาการทีดีอาร์ไอได้ตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านเงินออมระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างชัดเจน จากการแบ่งประชากรไทยออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละเท่าๆ กัน โดยใช้ข้อมูลข้างต้น พบว่าในปี 2552 กลุ่มคนที่ร่ำรวยสุดมีเงินออมเฉลี่ยสูงมากถึงราวๆ 6,300 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่กลุ่มคนที่จนสุดโดยเฉลี่ยไม่มีเงินออม ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเนื่องจากไม่มีเงินออมที่สามารถใช้เป็นหลักประกันทางการเงินสำหรับตนเองและครอบครัวในยามที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้เงิน

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งจากผลสำรวจดังกล่าวชี้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านการออมดังกล่าวน่าจะเป็นผลพวงจากความไม่เท่าเทียมกันของระดับการศึกษาของคนในสังคมไทย โดยผู้ที่มีการศึกษาสูงมีรายได้ดีและสามารถจัดสรรเงินออมไปลงทุนในทางเลือกต่างๆ ได้ดีกว่าผู้ที่มีการศึกษาน้อยกว่า

ทั้งนี้ หากพิจารณาผลการศึกษา ภาวะหนี้ครัวเรือนไทย:ความเสี่ยงและนัยเชิงนโยบาย โดยยรรยง ไทยเจริญและคณะ (2547) ประกอบ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ด้านการจัดการทางการเงิน โดยผู้ที่มีความรู้ทางการเงินน้อยมักจะเป็นคนในกลุ่มรายได้ต่ำและมีการศึกษาน้อย

นอกจากนั้น เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างด้านการออมจากโครงสร้างครัวเรือน 6 ประเภท ได้แก่ 1.ครัวเรือนแบบ 1 รุ่น 2.ครัวเรือนแบบ 2 รุ่น 3. ครัวเรือนแบบ 3 รุ่น 4.ครัวเรือนแบบอยู่คนเดียว 5.ครัวเรือนแบบอยู่กับญาติหรือเพื่อน และ 6.ครัวเรือนแบบแหว่งกลาง พบว่า ครัวเรือนที่อยู่กัน 2 รุ่น หรืออยู่กับญาติมีแนวโน้นสะสมทุนได้มากกว่าครัวเรือนแบบอื่นๆ เนื่องจากครัวเรือนเหล่านี้มีสมาชิกอยู่ในวัยทำงาน จึงมีโอกาสในการสะสมทรัพย์สินทางการเงินได้ง่ายและมากกว่าครัวเรือนประเภทอื่น

แต่ในทางกลับกัน ครัวเรือนแบบแหว่งกลาง (เช่น ครัวเรือนที่ปู่-ย่า-ตา-ยายและหลานอาศัยอยู่ร่วมกัน) เป็นกลุ่มที่จนสุดและมีการออมเงินในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับครัวเรือนประเภทอื่น เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวประเภทนี้คือผู้สูงอายุเลยวัยเกษียณ(อายุ 60 ปีขึ้นไป) ซึ่งมีรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ โดยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเงินโอนในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งมีเงินออมน้อยและน่าจะมีข้อจำกัดในการวางแผนรองรับในระยะยาวเพื่อลดผลกระทบของความไม่แน่นอนในอนาคต

เช่นเดียวกับการสะสมทุนหรือการถือครองทรัพย์สินทางการเงินของครัวเรือน เป็นผลสืบเนื่องมาจากครัวเรือนที่มีการบริหารจัดการระหว่างรายได้กับรายจ่าย โดยจะนำเงินออมส่วนหนึ่งไปแปรเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ต่างๆ จากข้อมูลในปี 2552 พบว่า ครัวเรือนกลุ่มที่จนสุดร้อยละ 94 มีทรัพย์สินทางการเงินไม่เกิน 50,000 บาท

ส่วนครัวเรือนกลุ่มที่รวยสุดกว่าร้อยละ 30 ถือครองทรัพย์สินทางการเงินมากกว่า 100,000 บาท ในภาพรวมความสามารถในการสะสมทุนของครัวเรือนนอกจากจะมีความแตกต่างกันในด้านมิติของรายได้แล้ว ยังมีแนวโน้มผันแปรตามระดับการศึกษาอีกด้วย เนื่องจากสมาชิกในครัวเรือนที่มีการศึกษาสูงมักมีโอกาสในการสร้างรายได้และสามารถจัดสรรเงินไปลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินต่างๆ ได้ดีกว่าครัวเรือนที่สมาชิกมีการศึกษาน้อย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ได้เสนอแนะให้ภาครัฐเร่งยกระดับมาตรฐานการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ผู้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากคุณภาพการศึกษานับว่าเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กำหนดรายได้ของแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ดี ความรู้จากการศึกษาขั้นพื้นฐานและรูปแบบการออมแบบดั้งเดิม เช่น การฝากเงินกับธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ย เป็นต้น คงไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีพลวัตรและแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ดังนั้นในส่วนของประชาชน ควรเพิ่มความรอบรู้ทางการเงิน และมองถึงการลงทุนระยะยาว รวมทั้งควรดำเนินชีวิตโดยใช้หลักความพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการด้านการเงิน และรักษาระดับการใช้จ่ายของตนไม่ให้เกินตัว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น ภาครัฐควรพยายามขยายฐานภาษีไปสู่ผู้ที่มีรายได้สูงที่ยังไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีได้ไม่เต็มความสามารถ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลที่จะนำไปใช้จ่ายเป็นสวัสดิการได้มากขึ้นสำหรับคนยากจนและผู้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 2 กรกฎาคม 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอแนะรัฐขยายฐานภาษีคนรวยอุ้มจน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด