การยกระดับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ

ปี2013-09-24

งานวิจัยเรื่อง “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ: ผลกระทบ การประกันภัย และการชดเชยเยียวยา” โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล และคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษาผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ ระบบการประกันภัยบุคคลที่ 3 และการเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งทำให้พบปัญหาที่ทำให้การคุ้มครองผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องการชดเชยเยียวยาค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาล

ดร.สุเมธ องกิตติคุณ
ดร.สุเมธ องกิตติกุล

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการประกอบการรถโดยสารก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้พบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันภัย ผู้ประกอบการร่วมบริการ และคนขับรถหรือเจ้าของรถ จะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายเป็นส่วนใหญ่ โดยผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตแทบไม่มีส่วนรับผิดชอบความเสียหาย

จากสถิติเกี่ยวกับจำนวนผู้ประกอบการขนส่งที่มีใบอนุญาตในปี 2551 พบว่าผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าของรถโดยสาร (509 ราย) รองลงมาคือผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของรถโดยสาร 1-5 คัน (177 ราย) และผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของรถโดยสาร 6-15 คัน (73 ราย) ขณะที่ผู้ประกอบการร่วมบริการส่วนใหญ่เป็นเจ้าของรถเพียงแค่ 1 คัน (31,590 ราย จากทั้งหมด 33,580 ราย)

จากข้อมูล งานวิจัยจึงเสนอว่าการปรับปรุงระบบการให้ใบอนุญาต ตลอดจนกำหนดการร่วมรับผิดของผู้ประกอบการให้มีความชัดเจน จะเป็นแนวทางที่ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะได้ โดยเสนอว่าควรบังคับใช้กฎหมายบางมาตรา กล่าวคือ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก หมวด 4 การชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง มาตรา 56 โดยกรมการขนส่งทางบกสามารถกำหนดอัตราการชดใช้ค่าเสียหายที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ เพื่อให้ระบบการประกันภัยเกิดการเปลี่ยนแปลง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการประกันภัยภาคบังคับสำหรับรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะ และเปรียบเสมือนกลไกที่ทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความปลอดภัย และมีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การสำรวจผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ และการศึกษาการชดเชยเยียวยาและการเรียกร้องค่าเสียหาย ก็ทำให้ได้ข้อสรุปที่สำคัญ ดังนี้

  • วงเงินค่ารักษาพยาบาลตามระบบประกันภัยครอบคลุมเฉพาะการบาดเจ็บทั่วไป แต่ไม่ครอบคลุมกรณีบาดเจ็บสาหัส
  • การชดเชยค่าเสียหายจากอุบัติเหตุ กรณีบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตตามระบบประกันภัย มีวงเงินต่ำ ทำให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่ต้องทำการฟ้องร้องเพื่อให้ได้ค่าชดเชยมากขึ้น
  • การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ศาลพิจารณาให้ชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามจริง ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหา แต่ค่าชดเชยอื่นๆ เช่น การขาดรายได้ การขาดไร้อุปการะ ยังขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิพากษาแต่ละท่าน
  • การกำหนดค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายเป็นมูลค่าที่แน่นอนนั้นทำได้ยาก เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายแต่ละรายแตกต่างกัน ทำให้การเสนอแนะสูตรที่ชัดเจนเป็นไปได้ยาก
  • สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่ามูลค่าของค่าเสียหาย คือระยะเวลาในการชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งผลจากการสำรวจระบุว่าการฟ้องร้องใช้เวลามากกว่า 18 เดือน ถ้ามีการเจรจาไกล่เกลี่ย และใช้เวลาประมาณ 23 เดือน ถ้าต้องรอให้ศาลพิพากษา
  • กรณีเสียชีวิต ถ้าไม่มีการขึ้นศาล ค่าเฉลี่ยการชดเชยเยียวยาคือ 366,666 บาท ขณะที่ถ้ามีการขึ้นศาล ค่าเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 594,863 บาท ซึ่งในกรณีที่ไม่ขึ้นศาล ค่าชดเชยจะมากกว่าวงเงินชดเชยของ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถประมาณร้อยละ 80 ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการสามารถชดเชยได้เพิ่มเติมประมาณ 160,000 บาท ขณะที่ถ้าผู้เสียหายเรียกร้องเพิ่มเติม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะไม่ยอมจ่าย ทำให้ต้องเรียกร้องค่าเสียหายผ่านการฟ้องร้อง ซึ่งถ้ามีการเพิ่มวงเงินคุ้มครองของระบบประกันภัย จะทำให้ผู้เสียหายอีกจำนวนหนึ่งสามารถเรียกร้องค่าเสียหายที่อยู่ภายในวงเงินคุ้มครองของระบบประกันภัย และไม่ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จึงควรปรับเพิ่มวงเงินในระบบประกันภัยให้มีวงเงินขั้นต่ำ 500,000 บาท
  • การเพิ่มวงเงินคุ้มครองทำได้โดยการออกกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก หมวด 4 การชดเชยค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง ซึ่งผู้ประกอบการต้องหาหลักประกันในการคุ้มครองค่าเสียหายเบื้องต้น โดยอาจเป็นการทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการสร้างระบบร่วมจ่ายระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้ประกอบการ

จากข้อสรุปข้างต้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงสรุปแนวทางการปรับปรุงแก้ไขระบบประกันภัยและการประกอบการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ดังนี้

  1. เพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาล และไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด
  2. แยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพออกจากค่ารักษาพยาบาล
  3. สร้างกลไกการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่งให้ใช้เวลาสั้นลง และเพิ่มวงเงินคุ้มครองของระบบประกันภัย
  4. สร้างระบบร่วมจ่ายระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตและร่วมบริการ เพื่อสร้างระบบการร่วมรับผิด