นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในบทความในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 56 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับกฏกติกาของภาครัฐกับประสิทธิภาพของตลาด ว่า รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมตลาดให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ รวมถึงสลายการผูกขาดในธุรกิจบริการบางประเภท เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจาก ขณะนี้ภาคบริการของไทยมีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม เพราะการบริการสำคัญของประเทศ ทั้งบริการขนส่ง สื่อสาร และพลังงาน เป็นธุรกิจแบบผูกขาดที่ผู้ประกอบการมากกว่าของผู้บริโภค
“ตราบใดที่ผลประโยชน์ของธุรกิจผูกขาด และผลประโยชน์ของผู้กำหนดนโยบาย และผู้กำกับดูแลยังทับซ้อนกันอยู่ โอกาสที่จะมีการปฏิรูปตลาดบริการของไทยนั้นริบหรี่ หากขาดการกดดันจากภาคธุรกิจและภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรง”
ทั้งนี้ รัฐบาลมีผลประโยชน์ร่วมกับวิสาหกิจของรัฐที่ให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ประกอบด้วย รายได้จากสัมปทาน เบี้ยประชุมกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่ร่ำรวย การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ ที่ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะผลักดันให้มีผู้ประกอบการในตลาดมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันจะส่งผลกระทบต่อความสามารถการทำกำไรของรัฐวิสาหกิจ หรือธุรกิจที่รับสัมปทาน
ขณะเดียวกัน ภาคการเกษตรซึ่งมีผลิตภาพแรงงานที่ต่ำกว่าทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการนั้น การใช้มาตรการประกันราคาสินค้าเกษตรที่มากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพต่ำลง เนื่องจากเกษตรกรไม่จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของสินค้าหรือลดต้นทุน รวมทั้ง การกำหนดราคารับจำนำสินค้าเกษตรที่สูงกว่าราคาตลาดอย่างมาก ทำให้รัฐกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ปิดโอกาสการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการเอกชนและทำลายกลไกของการซื้อขายสินค้าเกษตรในตลาด
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายประเภทอ่อนแอและการแทรกแซงของภาครัฐในภาคการเกษตร ทำให้ภาคบริการและภาคการเกษตรของไทยไม่พัฒนาได้เท่าที่ควร เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น รวมทั้ง ประชาชนไม่สามารถพึ่งพากลไกตลาดได้ โดยรัฐบาลควรดูแลธุรกิจให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพการผลิตให้เพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์เดลินิวส์ วันที่ 13 กันยายน 2556 ในชื่อ ทีดีอาร์ไอชงรัฐกำหนดนโยบายดูแลธุรกิจบริการ